การศึกษา The call of the emperor penguin: Legal responses to species threatened by climate change ระบุว่าหากภาวะโลกรวน (global warming) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ยังคงมีแนวโน้มเป็นอย่างในทุกวันนี้ โดยที่แนวนโยบายภาครัฐยังไม่มีการระบุถึงการลงมือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก น้ำแข็งในแอนตาร์กติกาจะลดลงในอัตราที่กระทบต่อจำนวนอาณานิคมเพนกวินจักรพรรดิ (Emperor penguin) ซึ่งอยู่อาศัยในบริเวณนั้น ลดลงจนถึงขั้นสูญพันธุ์ภายในปี 2100 และอาจไม่มีทางที่จะฟื้นประชากรเพนกวินจักรพรรดิกลับมาได้
และเมื่อภาวะโลกรวนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นศัตรูต่อการอยู่รอดของอาณานิคมเพนกวินจักรพรรดิ สิ่งที่โลกต้องทำคือการปกป้องสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์และลงมือจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงปารีส
ข้อมูลจากทีมผู้ศึกษาที่ได้สำรวจและเก็บข้อมูลความเป็นอยู่ของเพนกวินจักรพรรดิบริเวณPointe Géologie ใน Terre Adélie ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1960 เพียงพอที่จะชี้ว่าแหล่งที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นทั้งแหล่งผสมพันธุ์และหลบภัยจากศัตรู ตลอดจนแหล่งอาหาร กล่าวคือบริเวณธารน้ำแข็งที่ติดกับผืนดิน (sea ice) และแผ่นน้ำแข็งที่ลอยอยู่แต่ไม่ได้ติดกับผืนดิน (pack ice) ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเป็นผลมาจากกิจกรรมของมนุษย์
หลักฐานปรากฎให้เห็นชัดเมื่อช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1970 เมื่อธารน้ำแข็งละลายและจำนวนเพนกวินจักรพรรดิเพศผู้มีจำนวนลดลง ได้ส่งผลต่อการผสมพันธุ์และจำนวนประชากรเพนกวินที่ไม่มีทางกลับมาเป็นแบบเดิม เป็นสัญญาณที่เกิดชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ
การศึกษาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันได้เรียกร้องให้มีการปกป้องสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์มาเสมอ และจะต้องทำการศึกษาภัยคุกคามที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตต่อไป ทีมผู้ศึกษาชี้ว่าพระราชบัญญัติสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species Act) ของสหรัฐฯ ที่ให้การคุ้มครองสิ่งมีชีวิตและแหล่งที่อยู่อาศัยซึ่งตกอยู่ในความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น แม้จะไม่สามารถให้ความคุ้มครองครอบคลุมสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ซึ่งไม่ได้อยู่ในอาณาบริเวณ/เขตแดนของสหรัฐฯ ที่กฎหมายให้การคุ้มครอง กล่าวคือ สหรัฐฯ ไม่สามารถปกป้องเพนกวินจักรพรรดิได้โดยตรง ถึงกระนั้น ก็สามารถใช้กฎหมายให้การคุ้มครองสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ที่มีอยู่อย่างแข็งขัน โดยเพิ่มแรงกดดันต่อภาคส่วน/หน่วยงานที่มีส่วนปล่อยก๊าซสู่ชั้นบรรยากาศทำให้โลกร้อน ให้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะมีต่อสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ตามรายการที่ระบุไว้ภายใต้กฎหมาย
เพราะแม้ในกรณีของเพนกวินจักรพรรดิจะสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้บ้าง แต่เพนกวินจักรพรรดิจะไม่สามารถวิวัฒนาการให้อยู่รอดจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปได้ โดยอาจจะถึงคราวสูญพันธุ์ภายในปี 2100 ดังนั้น รัฐต่าง ๆ จะต้องลงมือจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงปารีสให้สำเร็จ
แม้นว่าตามข้อมูลการประเมินของ Climate Action Tracker ในปัจจุบัน แนวนโยบายของรัฐเป็นไปได้ว่ามากถึง 97% จะทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส ก็ตาม
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
climate change: 1 ใน 3 ปัจจัย ‘ตัวเร่ง’ หลักที่จะทำให้โลกสูญเสียลิงยักษ์แอฟริกาครั้งใหญ่ ภายใน 30 ปีนี้
SDG Updates | Climate Change ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ – สิ่งที่รัฐต้องตระหนักจากรายงาน IPCC ล่าสุด
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG13 การรับมือและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
-(13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
-(13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
-(15.5) ปฏิบัติการที่จำเป็นและเร่งด่วนเพื่อลดการเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และภายในปี 2563 จะปกป้องและป้องกันการสูญพันธ์ของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม