รายงาน Debt Relief for a Green & Inclusive Recovery: Securing Private Sector Participation and Policy Space for Sustainable Development จัดทำโดย Global Development Policy Center Boston University, Heinrich Böll Foundation และ Centre for Sustainable Finance SOAS University of London นำเสนอพิมพ์เขียวการดำเนินการผ่อนปรนการชำระหนี้/การบรรเทาหนี้ในระดับโลก เพื่อปลดพันธการวิกฤติหนี้ของประเทศซีกโลกใต้หรือประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้สามารถพัฒนาและฟื้นฟูประเทศจากวิกฤติสาธารณสุขได้อย่างยั่งยืน กระตุ้นเศรษฐกิจที่ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลง เตรียมพร้อมเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจสู่คาร์บอนต่ำ (low-carbon economy) และเน้นการลงทุนในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้เดินหน้าตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้
เพราะประเด็นวิกฤติการชำระหนี้ที่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่กำลังเผชิญเป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากระบบเศรษฐกิจโลก การเงิน และการคลัง ที่ต้องใช้การตอบสนองเชิงระบบโลกและชุมชนระหว่างประเทศเข้ามาร่วมกันแก้ไขหรือจัดโครงสร้างหนี้เสียใหม่ สนับสนุนประเทศที่ประสบกับวิกฤติหนี้และภาคเอกชน/เจ้าหนี้ภาคเอกชน (private creditors) เข้ามามีส่วนร่วมในการผ่อนปรนการชำระหนี้นี้
โดยนอกจากจะกล่าวถึงบทบาทของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก ซึ่งร่วมกันประกาศว่าจะพัฒนาระเบียบที่จะเชื่อมประเด็นการผ่อนปรนการชำระหนี้กับการพัฒนาที่ครอบคลุม มีภูมิต้านทาน และยั่งยืนแล้ว รายงานยังมีข้อเสนอที่จะช่วยปรับกรอบ G20 Common Framework for Debt Treatments สรุปโดยสังเขป ดังนี้
- ให้ทุกประเทศเข้าถึงการผ่อนปรนการชำระหนี้ได้ – G20 ต้องตระหนักว่ายังคงมีประเทศที่ไม่มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์แพ็กเกจการผ่อนปรนชำระหนี้ของ G20 อยู่ เพื่อที่จะแก้ไขวิกฤติ G20 จะต้องส่งเสริมให้ประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางทั้งหมดซึ่งมีหนี้ที่ ‘ไม่ยั่งยืน’ (unsustainable – ไม่สามารถชำระหนี้ตามข้อกำหนดได้) เข้ามามีส่วนร่วมในการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่
- IMF และธนาคารโลก ต้องจัดทำบทวิเคราะห์ความยั่งยืนของหนี้ (Debt Sustainability Analysis – DSA) ที่ครอบคลุมทุกประเทศและประเด็นความเสี่ยง/ความเปราะบางต่อสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการขยายการลงทุนที่สร้างภูมิต้านทานต่อสภาพภูมิอากาศ – เพราะความเสี่ยงที่กระทบต่อทั้งกายภาพและในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ส่งผลต่อการเงินสาธารณะและดุลการชำระเงิน รายงานเล่มนี้เสนอว่า เพื่อให้สามารถบูรณาการลงทุนที่จำเป็นในการสร้างภูมิต้านทานและบรรลุ SDGs IMF สามารถเริ่มต้นจากการใช้เอกสารการประเมินข้อกำหนดของการใช้จ่ายรายประเทศเฉพาะ (country-specific spending requirements) ที่พนักงานได้จัดทำไว้แล้ว ใน 5 ประเด็นการพัฒนาซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ SDGs ได้แก่ การศึกษา สุขภาพ ถนน ไฟฟ้า น้ำและสุขาภิบาล ทั้งนี้ DSA ยังเป็นบทวิเคราะห์ที่ใช้ประเมินว่าประเทศนั้น ๆ จำเป็นต้องปรับโครงสร้างหนี้หรือไม่ หรือต้องผ่อนปรนการชำระหนี้ในระดับใด
- สร้างกลไก/เครื่องมือรับประกันการเพิ่มแรงจูงให้เจ้าหนี้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ – ดังรูปประกอบด้านล่างนี้
- รัฐบาลที่เข้ามามีส่วนร่วมในการผ่อนปรนการชำระหนี้ จะต้องพัฒนายุทธศาสตร์ของประเทศด้านการฟื้นฟูอย่างครอบคลุมและยั่งยืนที่มีการระบุเป้าหมายและการลงมือทำอย่างชัดเจน ให้เป็นตัวนำทางการฟื้นฟูจากวิกฤติ พร้อมกันนั้นจะต้องปฏิรูปแผนและนโยบายการใช้จ่ายที่สอดคล้องกับ SDGs และข้อตกลงปารีส – โดยอาจทำร่วมกับการปรับปรุงด้านความยั่งยืนของหนี้ (debt sustainability) จัดการหนี้ให้โปร่งใส ส่งเสริมขีดความสามารถในการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ รับแนวปฏิบัติการยืมที่ยั่งยืน เสริมความสามารถในการระดมทรัพยากรภายในประเทศ รวมถึงสามารถนำเงินชำระคืนที่ปรับโครงสร้างใหม่แล้วบางส่วน โยกไปยังกองทุนเพื่อการฟื้นฟูอย่างครอบคลุมและยั่งยืนของประเทศที่มีอยู่ได้ (National Fund for Green and Inclusive Recovery) โดยที่รัฐบาลสามารถตัดสินใจใช้งบประมาณดังกล่าวไปกับการฟื้นฟูและการลงทุนที่ส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านที่ตนสนใจได้
รายงานข้อเสนอเล่มนี้นอกจากจะออกแบบมาเพื่อช่วยจัดการปัญหาความท้าทายซึ่งหน้าของประเทศที่มีปัญหาการชำระหนี้แล้ว ทางผู้จัดทำยังมองว่า สามารถใช้เป็นพื้นฐานของโครงสร้างหนี้ระดับโลกใหม่ ที่ยุติธรรม โปร่งใส่ และมีประสิทธิผลได้ด้วย
Debt Sustainability Analysis (DSA) โดย IMF และธนาคารโลก เป็นกรอบสำหรับประเทศที่มีรายได้ต่ำประกอบการตัดสินใจยืมเงิน/สร้างหนี้ที่ประเมินแล้วว่าสมดุลกับความสามารถที่จะจ่ายคืนในปัจจุบันและอนาคตได้ตามที่กำหนด รวมทั้งเป็นหลักประกันให้ประเทศที่ได้รับการผ่อนปรนการชำระหนี้ต้องดำเนินการไปตามเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืน และให้เจ้าหนี้สามารถประเมินความเสี่ยงได้ เมื่อทำได้เช่นนั้นจะเรียกว่าเป็น ‘sustainable debt’
อ่านเพิ่มเติมเรื่อง Debt sustainability ที่นี่
อ่านประเด็นเกี่ยวกับการเงินที่เกี่ยวข้อง
SDG Vocab | 29 – Financial Services – บริการทางการเงิน
SDG Updates | กลไกทางการเงินกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม นวัตกรรม
-(9.a) อำนวยความสะดวกการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนและทนทานในประเทศกำลังพัฒนาผ่านทางการยกระดับการสนับสนุนทางการเงิน เทคโนโลยี และด้านวิชาการ ให้แก่ประเทศในแอฟริกา ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศและระหว่างประเทศ
-(10.5) พัฒนากฎระเบียบและการติดตามตรวจสอบตลาดเงินและสถาบันการเงินของโลก และเสริมความแข็งแกร่งในการดำเนินการกฎระเบียบดังกล่าว
#SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน
-(17.1) ส่งเสริมการระดมทรัพยากรภายในประเทศ โดยรวมถึงผ่านทางการสนับสนุนระหว่างประเทศไปยังประเทศกำลังพัฒนา
-(17.4) ช่วยประเทศกำลังพัฒนาในการบรรลุความยั่งยืนของหนี้ระยะยาว โดยใช้นโยบายที่ประสานงานกันที่มุ่งส่งเสริมการจัดหาเงินทุนโดยการก่อหนี้ การบรรเทาหนี้ และการปรับโครงสร้างหนี้ตามความเหมาะสม และแก้ปัญหาหนี้ต่างประเทศของประเทศที่ยากจนและมีหนี้สินในระดับสูงเพื่อลดการประสบปัญหาหนี้
แหล่งที่มา:
Debt Relief for a Green & Inclusive Recovery: Securing Private Sector Participation and Policy Space for Sustainable Development (Global Development Policy Center, Boston University)
4 Steps of Debt Relief for a Green and Inclusive Recovery (Global Development Policy Center, Boston University)
Last Updated on มกราคม 12, 2022