การอยู่อาศัยในบ้านที่มีเสียงดังรบกวน แสงสว่างไม่เพียงพอ และมีปัญหาสภาพบ้านอื่น ๆ ทำให้พลเมืองออสเตรเลียเกิดภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า และรู้สึกโดดเดี่ยวมากกว่าในช่วงล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่จำเป็นต้องอยู่บ้านตตลอดเวลา
งานวิจัยตีพิมพ์ใน International Journal of Housing Policy โดยนักวิจัยจาก University of Sydney ประเทศออสเตรเลีย วิเคราะห์ผลสำรวจจากประชาชนกว่า 2,000 คน ในช่วงตั้งแต่กลางปีถึงปลายปี 2020 ถึงผลกระทบของสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นจากสภาพที่อยู่อาศัย โดยการสำรวจนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาผลกระทบของโควิด-19 ต่อคนในประเทศ
ผู้ตอบแบบสำรวจที่ให้ข้อมูลว่าถูกรบกวนด้วยเสียงดังในช่วงล็อกดาวน์ เช่น เสียงเครื่องจักรจากพื้นที่ก่อเสียง เสียงเด็กร้องจากบ้านข้างเคียง เป็นต้น มีแนวโน้มที่จะมีอาการวิตกกังวลมากกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านที่ไม่มีเสียงรบกวน 18% และมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะซึมเศร้าถึง 30% โดยการมีข้อบกพร่องของสภาพที่อาศัย เช่น การเกิดเชื้อรา ความชื้นสูง หรือผนังที่แตกร้าว เป็นปัจจัยทำนายการเกิดภาวะซึมเศร้าที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถามที่อาศัยอยู่ในบ้านที่มีแสงธรรมชาติเพียงพอมีแนวโน้มเกิดความรู้สึกซึมเศร้าน้อยกว่า
นอกจากปัจจัยทางกายภาพของตัวบ้านและสิ่งแวดล้อมใกล้เคียง การสำรวจยังค้นพบอีกปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าและความรู้สึกโดดเดี่ยว ได้แก่ การรับรู้ความสามารถในการจ่ายได้เพื่อที่อยู่อาศัย(the perception of home affordability) โดยยิ่งผู้ตอบแบบสอบถามคิดว่าที่อยู่อาศัยของตนอยู่ในราคาที่สามารถจ่ายได้ ก็จะยิ่งมีโอกาสน้อยกว่าที่จะเผชิญกับความรู้สึกโดดเดี่ยวหรือภาวะซึมเศร้าในช่วงล็อกดาวน์
ผลวิจัยโดยสรุป ระบุว่า ผู้เช่าและผู้มีรายได้น้อยมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยในช่วงล็อกดาวน์มากกว่า
การศึกษาฉบับนี้ได้ข้อเสนอแนะให้กำหนดการประเมินผลกระทบของแสงธรรมชาติและเสียงรบกวนจากภายนอก เข้าไปในกฎหมายอาคารหรือคู่มือในการออกแบบบ้านราคาประหยัด เช่น อาคารเคหะให้เช่า (social housing) และยังแนะนำให้มีการพัฒนาการสร้างความรู้สึกการเป็นคนย่านเดียวกัน (a sense of neighbourhood) ของผู้อยู่อาศัย ซึ่งเชื่อมโยงกับการมีสุขภาพจิตที่ดีในช่วงการล็อคดาวน์ด้วย
ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสามผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
- (11.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงที่อยู่อาศัยและการบริการพื้นฐานที่พอเพียงปลอดภัยและในราคาที่สามารถจ่ายได้ และยกระดับชุมชนแออัดภายในปี 2573
ที่มา : Poor housing has direct impact on mental health during COVID lockdowns, study finds (ABC News)