รายงานวิจัยผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่าประเทศไทยมีคนจนเพิ่มขึ้นเกือบ 8 แสนคนในปี 2563 และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เสนอแนวทางแก้ไขและมาตรการเยียวยาสำหรับภาครัฐเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ โดยรายงานนี้อยู่ภายใต้ “โครงการศึกษาผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19: กลไกการรับมือและมาตรการช่วยเหลือ” โดยการสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
ดร. สมชัย จิตสุชน จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการวิจัย ได้กล่าวว่า การศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบของโควิด-19 ต่อความยากจน โดยเน้นที่กลุ่มที่มีความเปราะบาง เช่น ผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ คนไร้บ้าน และแรงงานข้ามชาติ พบว่า อัตราการว่างงานในไตรมาสที่สองของปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 1.97% หรือประมาณ 700,000 คน จาก 1.03% หรือประมาณ 400,000 คนในไตรมาสแรก
ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ว่างที่เพิ่มขึ้นไม่สูงมากนักจากไตรมาสที่สอง เนื่องมาจากนายจ้างเลือกใช้วิธีพักงานหรือลดเวลาทำงานของแรงงานลงแทน ดังนั้นในทางเทคนิคแล้วจึงยังไม่นับว่าเป็นผู้ว่างงาน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้นิยามว่า ผู้เสมือนว่างงาน (quasi-unemployment) คือ ผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมง/วัน เมื่อคำนวณจากเกณฑ์ดังกล่าว พบว่า ในไตรมาส 2 ปี 2563 มีจำนวนผู้เสมือนว่างงานอยู่สูงถึง 5.4 ล้านคน และเมื่อพิจารณาชั่วโมงการทำงานเฉลี่ย พบว่า ลดลงจาก 41 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในไตรมาสแรกของปีที่แล้วเหลือ 39 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในไตรมาสที่สอง ซึ่งเป็นการลดลงต่ำกว่าระดับปกติ
โดยธนาคารโลกคาดการณ์ว่าคนจนในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้น 7.8 แสนคน ในปี 2563 เป็นผลมาจากรายได้ที่ลดลงเรื่อย ๆ ทำให้คนเข้าสู่ความยากจนมากขึ้น
ผลจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สาม ตั้งแต่เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาทำให้สถานการณ์ความยากจนรุนแรงขึ้นอีก มีจำนวนคนยากจนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะมาจากกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือแรงงานอายุ 40 ปีขึ้นไปที่ไม่มีทักษะทางเทคโนโลยี และมีความสามารถในการปรับตัวต่อความต้องการแรงงานของตลาดและลักษณะการทำงานแบบ “ปกติใหม่” (new normal) ได้น้อยที่สุด
ทั้งนี้ยังพบอีกว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่องได้สั่นคลอนความมั่นคงทางการเงินของครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและปานกลาง และทำให้มีหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นอีก
ดร. สมชัย เสนอว่ารัฐบาลควรเร่งติดตามและประเมินผลกระทบทางทางสังคมของวิกฤตสาธารณสุขที่มีประชาชนกลุ่มเปราะบางเพิ่มขึ้น และมีมาตรการหรือแนวทางเพื่อช่วยเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งนี้มาตรการช่วยเหลือควรมีความหลากหลาย ยืดหยุ่น ตรงจุด และตอบรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และควรให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กลุ่มคนนี้เร็วกว่าประชาชนทั่วไป
ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
- (1.2) ภายในปี 2573 ลดสัดส่วน ชาย หญิง และเด็ก ในทุกช่วงวัย ที่อยู่ภายใต้ความยากจนในทุกมิติ ตามนิยามของแต่ละประเทศ ให้ลดลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง
- (1.5) ภายในปี 2573 สร้างภูมิต้านทานให้แก่คนยากจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางและลดการเผชิญหน้าและความเสี่ยงต่อเหตุการณ์รุนแรง/ภัยพิบัติอันเนื่องมาจากภูมิอากาศ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
- (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
#SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
ที่มา :
Covid causes plunge into poverty (Bangkok Post)
ผลกระทบจากโควิด-19 คนจนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทะลุ 7.8 แสนคน (Manager Online)