การประเมินความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk Report) โดย Germanwatch พบว่าประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 9 ของประเทศที่มีความเสี่ยงว่าจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูง นอกจากนี้ยังมีการศึกษาจัดทำ Health and climate change country profile พบว่า หากมีการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก และเราไม่มีการป้องกันหรือปรับตัวใด ๆ เลย ภายในปี พ.ศ. 2613 (ค.ศ. 2070) มีแนวโน้มที่คนไทยราว 2,451,300 ราย จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ขณะเดียวกัน หากมีการวางแผนปรับตัวอย่างจริงจังจะทำให้ประชากรที่จะได้รับผลกระทบลดลงเหลือเพียง 1,400 ราย
SDG insights ฉบับนี้พูดคุยกับ ดร.เบญจวรรณ ธวัชสุภา นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย ว่าท่ามกลางวิฤติสภาพภูมิอากาศแบบนี้ ระบบสุขภาพไทยวางแผนรับมือเอาไว้อย่างไรบ้าง
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับสุขภาวะ
เพราะร่างกายที่แข็งแรงใช่ว่าจะหมายถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกด้าน เราจึงอยากตั้งคำถามที่กว้างกว่านั้นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลต่อ ‘สุขภาวะ’ ซึ่งหมายถึง การมีร่างกายแข็งแรง จิตใจเบิกบานแจ่มใส จิตวิญญาณที่มั่นคง และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีอย่างไรบ้าง?
ดร.เบญจวรรณอยากชวนทุกคนทำความเข้าใจก่อนว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เห็นผลทันที แต่ค่อย ๆ เปลี่ยนอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร จึงทำให้เราไม่เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นชัดเจนเสียทีเดียว
แผนภาพจากทาง CTC นี้แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ว่าจะเป็น
1. การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศรุนแรง
2. น้ำทะเลที่หนุนสูง
3. การเพิ่มของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ
4. การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ
ปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่มีผลกระทบไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมต่อสุขภาพ โดยสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ไปเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศในสิ่งแวดล้อม เช่น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของแมลง การเพิ่มขึ้นของสารก่อภูมิแพ้ และแหล่งน้ำได้รับผลกระทบ เป็นต้น สุดท้ายแล้วจากผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้นั้นส่งผลต่อสุขภาพของคน ทั้งโรคที่เกิดจากระบบทางเดินหายใจ โรคที่ติดต่อโดยแมลง โรคที่เกี่ยวกับอาหารและน้ำเป็นสื่อ รวมถึงการอพยพในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติรุนแรง ซึ่งก็จะมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตตามมาด้วย
โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีการคาดการณ์ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนทั่วโลก ซึ่งจะทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ปีละ 250,000 ราย ในระหว่างปีพ.ศ. 2573 – 2593 (ค.ศ. 2030 – 2050) การเสียชีวิตเหล่านี้เกิดจากหลายสาเหตุ อาทิ ภาวะทุพโภชนาการ โรคมาลาเรีย โรคอาหารและน้ำเป็นสื่อ และสภาพอากาศร้อนจัด โดยคาดว่าในปี พ.ศ. 2573 ค่ารักษาพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับสาเหตุเหล่านี้จะสูง ถึงปีละ 2 – 4 พันล้านดอลลาร์ คาดว่าในปี พ.ศ. 2593 ประชากรทั่วโลกที่ประสบอุทกภัย จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นปีละ10-25 ล้านคน และในปีเดียวกัน ประชากรที่ย้ายถิ่นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีจำนวนถึง 25 ล้าน ถึง 1 พันล้านคน
Q: ภาวะทุพโภชนาการเกิดจากการเปลี่ยนแผลงสภาพภูมิอากาศได้ด้วยหรือ ?
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะไปทำลายแหล่งผลิตอาหาร นั่นคือ พื้นที่ทำการเกษตร ซึ่งอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจะทำให้พื้นที่ดังกล่าวไม่เอื้อต่อการเพาะปลูก มีผลให้ผลผลิตที่เป็นอาหารน้อยลง จึงเกิดผลกระทบต่อสุขภาพจากการรับประทานอาหารที่ไม่มีคุณภาพ
Q: ณ ตอนนี้ถือว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แล้วไปส่งผลต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์แล้วหรือยัง ?
ดังที่บอกไว้ตอนต้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เปลี่ยนในทันทีการจะบอกว่าได้รับผลกระทบหรือยังต้องศึกษาผ่านข้อมูลที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่าง ๆ เพื่อเปรียบเทียบกันก็จะพบว่า “เราได้รับผลกระทบแล้ว” สำหรับผลกระทบทางสุขภาพ การเจ็บป่วยและโรคที่ได้รับการศึกษาจนมั่นใจแล้วว่าเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีเพิ่มขึ้น ดังนี้
- การเจ็บป่วยจากสภาพอากาศที่รุนแรง พบว่า 10 ปีที่ผ่านมา ปัญหาภัยพิบัติ อาทิ น้ำท่วมและภัยแล้ง มีความรุนแรงมากขึ้น มีพื้นที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น มีมูลค่าความเสียมากขึ้น และผลกระทบต่อสุขภาพมีทั้งทางตรง เช่น การเจ็บป่วย บาดเจ็บ เสียชีวิต และทางอ้อม เช่น ความเครียด เป็นต้น
- โรคติดต่อที่มีแมลงเป็นพาหะ พบว่าโรคไข้เลือดออกในช่วง ปี พ.ศ. 2560 – 2562 มีการเจ็บป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นโดยพบอัตราตายสูงสุดในกลุ่มเด็ก 5 – 14 ปี
- โรคติดต่อที่มีน้ำเป็นสื่อ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ บิด เป็นต้น โดยช่วงน้ำท่วม มีโอกาสเกิดแพร่ระบาดของโรคอุจจาระร่วงได้มาก เนื่องจากขาดน้ำสะอาด และเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนมากับน้ำท่วม
- การเจ็บป่วยจากความร้อน พบว่า ปี พ.ศ. 2559 มีอัตราป่วย Heat stroke สูงสุดที่ 4.5 ต่อแสนประชากร กลุ่มอาชีพที่พบอัตราป่วยมากที่สุด คือ เกษตรกร รับจ้าง ทหารเกณฑ์ และในปี พ.ศ.2560 – 2561 อัตราการตายด้วยโรคจากความร้อนสูงขึ้นจาก 0.04 เป็น 0.27 ต่อแสนประชากร และ
- โรคระบบทางเดินหายใจ พบว่า ปี พ.ศ. 2561 – 2562 อัตราการป่วยและอัตราการตายด้วยโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มสูงขึ้น โดยอัตราการตายสูงสุดในปี พ.ศ. 2562 ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี
ทั้ง 5 โรคที่กล่าวมานี้เป็นโรคที่เราได้ผ่านการทบทวนและวิเคราะห์มาแล้วว่ามันมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยที่มีข้อมูลหลักฐานรองรับ เราจึงนำ 5 โรคนี้มาใช้ในการดำเนินงานแผนการปรับตัวของประเทศไทย ซึ่งจะได้กล่าวถึงในตอนท้าย
ภาพต่อมา แสดง ‘ความเชื่อมโยงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบทางสุขภาพด้วย Impact Chain’ (ห่วงโซ่ผลกระทบ) ทำให้เห็นว่าภัยที่กล่าวไว้ในภาพแรกส่งผลกระทบต่อสุขภาพตามภาพที่สองอย่างไรบ้าง โดยทางกรมอนามัยได้ร่วมกับ GIZ Thailand พัฒนา Impact Chain นี้ขึ้นมาเพื่ออธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อสุขภาพในประเด็นใด ซึ่งไม่ได้มองแค่เรื่องโรค แต่ยังรวมไปถึงการมองผลกระทบที่เกิดกับสถานพยาบาลที่เสียหายหรือถูกทำลาย สุขภาพกาย สุขภาพสังคม และสุขภาพจิต ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้นด้วย
ในส่วนที่เราศึกษาตัวเลขของภัยต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้สุขภาพเป็นอย่างไรนั้น เราได้รับการสนับสนุนจาก WHO ในการจัดทำ Health and climate change country profile โดยจากภาพความสัมพันธ์ที่เกิดจากภัยน้ำท่วม แสดงให้เห็นแนวโน้มในปี พ.ศ. 2613 หากมีการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก จะทำให้มีประชากรของประเทศไทยจำนวน 2,451,300 ราย ที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหากเราไม่มีการปรับตัวใด ๆ เลย ในขณะที่หากเรามีการปรับตัวให้อยู่กับสิ่งแวดล้อมนั้นได้ และเรียนรู้ที่จะป้องกันตนเองได้ เราจะสามารถลดผลกระทบนั้นได้ ทำให้ประชากรที่จะได้รับผลกระทบลดลงเหลือเพียง 1,400 ราย
และจากภาพความสัมพันธ์ภัยที่เกิดจากความร้อน แสดงให้เห็นว่า ถ้าระดับอุณหภูมิในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น จะมีจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากความร้อนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งคาดว่าในปี พ.ศ. 2623 จะมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากความร้อน อีกประมาณ 14,000 ราย
Q: ความเข้าใจเหล่านี้มันถูกสื่อสารหรือทำให้ประชาชนรับรู้หรือไม่ ว่าจริง ๆ แล้วประชาชนเองก็เสี่ยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ไม่น้อย
ดร.เบญจวรรณกล่าวว่าสำหรับการดำเนินการตอนนี้กรมอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรากำลังพยายามอยู่และได้เตรียมการรับมือในภาคนโยบายและความพร้อม (Capacity) โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 คือ การลดก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) ซึ่งเป็นต้นตอของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ทำได้ยาก เพราะต้องมีการเข้าไปลงทุนถึงแหล่งต้นกำเนิดหรือต้องปรับเปลี่ยนอะไรค่อนข้างมาก จึงจำต้องมี ส่วนที่ 2 คือ การปรับตัวต่อการปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) เพื่อที่จะลดความสูญเสียและความเสียหายพร้อมสร้างโอกาสการพัฒนาให้ดีขึ้น โดยการปรับตัวนี้เป็นทิศทางการทำงานของภาคสาธารณสุขที่จะต้องทำให้ประชาชนและทุกภาคส่วนเข้าใจว่าผลกระทบต่อสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับตั
Q: ในแง่การปรับตัว เราต้องปรับตัวในแง่ไหนบ้าง “การปรับตัว” มีในแง่ไหนบ้าง?
ถ้าเราพูดถึงการปรับตัวสามารถปรับตัวได้ตั้งแต่ระดับบุคคล ระดับชุมชน ไปจนถึงระดับหน่วยงานองค์กร ในระดับบุคคล เราสามารถปรับตัวได้โดยการปรับพฤติกรรมของตัวเราเอง โดยดูว่ามีอะไรที่จะเป็นอันตรายหรือส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจมาจากการจัดทำคำแนะนำหรือการให้ความรู้ในเรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนหรือการให้ความรู้ผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ
ในระดับประเทศเรามีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ สำนักงานนโยบายและแผนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งจะเป็นหน่วยงานที่คอยเชื่อมโยงภาคส่วนต่าง ๆ ให้มาทำงานเรื่องของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็น 1 ใน 6 ภาคส่วนสำคัญ จะมีการจัดทำแผนการปรับตัวระดับชาติ ภายใต้แผนนั้นพูดแต่ละภาคส่วนว่าจะมีวิธีการดำเนินการปรับตัวอย่างไร ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมทำ MOU กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยจะมีการให้ความรู้แก่ชุมชนว่าสามารถปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ และมีการให้ความรู้แก่หน่วยงานซึ่งเป็นสถานให้บริการทางด้านสาธารณสุขว่าจะมีการรับมืออย่างไรเมื่อเกิดภัยแล้ง ภัยร้อน น้ำท่วม เป็นต้น
Q: ถ้าหากว่ากลุ่มที่มีความเสี่ยงคือคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ปรับตัวยากเช่น ต้องทำงานกลางแจ้ง เราจะมีกลไกอะไรบ้างที่จะทำให้เขาเสี่ยงน้อยลง ?
อันดับแรกต้องทำให้เขารู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงแล้วจำเป็นต้องปรับตัว ยกตัวอย่างที่ผ่านมาทางกรมอนามัย ภายใต้การสนับสนุนของ WHO ได้จัดทำเกณฑ์เฝ้าระวังและเตือนภัยสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะมีการแบ่งเกณฑ์ออกเป็น 5 สี ตามระดับการเฝ้าระวังและแต่ละระดับควรป้องกันตนเองอย่างไร ซึ่งได้จัดทำเป็นคำแนะนำเพื่อการสื่อสารออกไป ตามรูปภาพด้านล่างนี้
เมื่อได้เกณฑ์มาแล้วเรามีการนำร่องในพื้นที่จริง โดยคัดเลือกจากการพิจารณาว่าเป็นพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงสุดหรือไม่ มีผู้ป่วยจำนวนมากหรือไม่ และความพร้อมของพื้นที่ในชุมชนในเรื่องการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็ง ซึ่งจะทำให้กลไกเหล่านี้เกิดขึ้นได้ง่าย ที่ผ่านมาเราได้ทดลองนำร่องใน 2 ชุมชน คือ ชุมชนป่าซาง จังหวัดลำพูน และชุมชนเมืองเพีย จังหวัดขอนแก่น มีการนำเกณฑ์นี้ไปอธิบายให้กับชุมชนได้มีความรู้และความเข้าใจถึงผลกระทบของสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้มีการชวนคิดว่าชุมชนจะมีการป้องกันผลกระทบเหล่านี้อย่างไร รวมถึงมีการหาแนวทางการปรับตัวที่เหมาะสมกับชุมชนโดยสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนจนทำให้ได้แผน สำหรับชุมชน ว่าในช่วงหน้าร้อนเจ้าหน้าที่จะเข้ามาให้คำแนะนำกับชุมชน เจ้าหน้าที่อาสาสมัครชุมชนออกเยี่ยมบ้าน เจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยาในพื้นที่ให้ข้อมูลว่าแต่ละวันมีอุณหภูมิเท่าไร และเราเองในฐานะส่วนกลางก็สนับสนุนองค์ความรู้ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำสื่อความรู้ สื่อเตือนภัย และคำแนะนำสำหรับกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ
พูดอย่างเป็นรูปธรรมคือ เราจะให้เจ้าหน้าที่จากอนามัยชุมชนที่ทำหน้าที่เป็น Key Player คอยตรวจสอบว่าแต่ละวันข้อมูลที่กรมอุตุนิยมวิทยาส่งมาอยู่ในเกณฑ์สีอะไร (เขียว ถึง แดง) แล้วจึงให้คำแนะนำตามสีนั้นเพื่อที่จะให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัคร (อสม.) ในพื้นที่สามารถเอาไปใช้ในการสื่อสารเตือนภัยที่เหมาะสมได้โดยจะมีการใช้ช่องทาง Line ในการสื่อสารและบางครั้งก็จะมีการทำงานร่วมกันกับวิทยุเสียงตามสายหรือเครือข่ายวิทยุชุมชนในพื้นที่ในการออกข่าวประกาศหรือให้คำแนะนำดังกล่าว
นอกจากนี้เราได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกรมแพทย์ทหารบก ซึ่งดูแลกลุ่มทหารเกณฑ์ ให้สามารถฝึกทหารเกณฑ์ในช่วงที่อากาศร้อนจัดได้อย่างปลอดภัย ในแต่ละวันมีอุณหภูมิเท่าไหร่ สามารถฝึกได้ในเวลากี่โมงถึงกี่โมง และให้คำแนะนำกับทหารเกณฑ์ที่เข้ามาใหม่ว่าควรจะมีการปรับตัวอย่างไรในการฝึกกลางแจ้ง เช่น ควรจะดื่มน้ำให้เยอะขึ้น อันนี้ก็เป็นงานที่ได้ทำกับกลุ่มเสี่ยงซึ่งเป็นทหารเกณฑ์ ส่วนกลุ่มเสี่ยงอื่นที่ทำงานกลางแจ้งก็ได้แก่กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า กลุ่มตำรวจจราจร เราก็ได้มีการให้คำแนะนำผ่านการจัดกิจกรรมรณรงค์ ออกข่าว และผ่านสื่อต่าง ๆ
Q: ในระดับนโยบาย ในฐานะที่ติดตามเรื่องนี้อยู่อย่างจริงจัง ดร. เบญจวรรณ คิดว่าประเทศเรามีความพร้อมหรือไม่กับการรับมือในประเด็นนี้ ?
“ต้องเรียกว่ามีโอกาส” เนื่องจากว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถูกบรรจุอยู่ใน Global Agenda ทุกประเทศล้วนพูดถึงเรื่องนี้ WHO นำประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสุขภาพมาเป็นประเด็นปัญหาหลักที่ควรให้ความสำคัญ สำหรับระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยได้ร่วมลงนามในปฏิญญา “Male’ Declaration on Building Health Systems Resilience to Climate Change’’ ทำให้เราได้รับการสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นแนวทางจากต่างประเทศ การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับต่างประเทศ
ในประเทศไทยเอง เราได้ทำ MOU ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้เราสามารถเชื่อมโยงกับภาคส่วนอื่นได้ในการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น เมื่อพูดถึงการปรับตัวทางการเกษตร เราก็จะให้คำแนะนำว่านอกจากการปลูกพืชที่ทนต่อภัยแล้งแล้ว ควรคำนึงสุขภาพของเกษตรกรด้วย ทำให้การทำงานข้ามส่วนในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความเป็นไปได้มากขึ้น นอกจากนี้ในระดับนานาชาติ เราได้ร่วมกับทาง GIZ ซึ่งเป็นองค์กรในประเทศเยอรมัน ก่อนหน้านี้เราได้พยายามจัดทำแผนการปรับตัวในภาคสาธารณสุข แต่กระบวนการในการยกร่างนั้นค่อนข้างนาน เราจึงได้นำร่างฯ มาดำเนินโครงการสนับสนุนการจัดทำแผนการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมิติการจัดการความเสี่ยง (Risk NAP Project) บูรณาการร่วมกับ GIZ โดยได้จัดทำทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่
- หลักสูตรการฝึกอบรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสาธารณสุข เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสาธารณสุข
- แนวทางการประเมินความเสี่ยงสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- แนวทางการติดตามและประเมินผลแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านสาธารณสุข พ.ศ. 2561 – 2571
- แนวทางการบูรณาการการจัดการความเสี่ยงสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับแผนงานด้านสาธารณสุข ที่ผ่านมาเราได้มีการอบรมไปแล้วหลายหลักสูตร และเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมมีทั้งเจ้าหน้าที่ในระดับส่วนกลาง ระดับเขตบริการสุขภาพ และระดับจังหวัด
ที่สำคัญขณะนี้เราได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านสาธารณสุข หรือ Health National Adaptation Plan (HNAP) เสร็จสิ้นและเผยแพร่แล้วเรียบร้อย สามารถนำไปเป็นกรอบในการจัดทำโครงการหรือแผนปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับแผนฯ ได้ ซึ่ง HNAP ประกอบไปด้วยยุทธศาสตร์สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่
- H: Health Literacy การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและทักษะของประชาชนในการปรับตัวและจัดการตนเองต่อภัยสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- N: Networking for capacity building การบูรณาการศักยภาพทุกภาคส่วน ร่วมขับเคลื่อนการสาธารณสุขจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเข้มแข็ง
- A: Advocacy for commitment การเสริมสร้างความพร้อมของประเทศด้านการสาธารณสุขจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รองรับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของประเทศ
- P: Public health preparedness การพัฒนาระบบการสาธารณสุขของประเทศรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีมาตรฐานสากล ซึ่งแผนนี้เราได้จัดทำล้อกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนแม่บทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับชาติด้วย เพราะฉะนั้นแนวทาง ตัวชี้วัด และเป้าหมายจะมีความสอดคล้องกัน
Q: เรียกได้ว่าในเรื่องของเชิงนโยบายและแผนงานก็มีความพร้อมมากแล้ว ถ้ามองในเรื่องข้อจำกัดหรือช่องว่างมีอะไรที่ต้องรีบจัดการก่อนบ้าง ?
สำหรับปัจจัยที่ยังเป็นช่องว่าง (Gaps) สำคัญที่จะต้องเร่งแก้ไขเพื่อให้แผนการปรับตัวบรรลุตามเป้าหมาย แบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ
- การบูรณาการในหลายภาคส่วน เพราะการทำงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องทำงานร่วมกันหลายภาคส่วนอย่างจริงจัง
- การสร้างการรับรู้กับภาคประชาชน เพราะบางครั้งเราทำอะไรหลายอย่าง แต่ยังไม่ไปถึงภาคประชาชนอย่างเต็มที่ และ
- การพัฒนาด้านงานวิจัย ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ต้องรองรับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นต้องมีการพัฒนาด้านงานวิจัยเพื่อรองรับการพัฒนานโยบายหรือนวัตกรรมที่จำเป็นในอนาคตด้วย
นอกจากนี้ ยังต้องเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับทิศทางการศึกษาวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสุขภาพในอนาคต ในส่วนประเด็นโจทย์วิจัยที่ถูกจัดอยู่ในลำดับสำคัญ (Priority) ของภาคสาธารณสุขที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้แก่ (1) ด้านผลกระทบต่อสุขภาพที่สำคัญ โรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ (2) ด้านปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม/เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข (3) ด้านนวัตกรรมสาธารณสุขที่รองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (4) ด้านกฎหมายสาธารณสุข/มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง/Modern Hazard
เนื่องจากประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นค่อนข้างกว้างไม่สามารถแก้ไขหรือดำเนินการได้จากภาคสาธารณสุขเพียงลำพัง
Q: ในมุมมองของท่านคิดว่าการมี SDGs เข้ามาช่วยรับมือกับความท้าทายในแง่ใดบ้าง ?
ยกตัวอย่างงานด้านสาธารณสุขเรามอง SDG3 Good Health and Well being การมีสุขภาพดีเป็นตัวตั้ง ประกอบกับ SDG13 Climate Change ในการดำเนินงานอย่างเร่งด่วนเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเมื่อนำสองเป้าหมายนี้มาทำงานร่วมกัน ทำให้การทำงานด้านอื่นเห็นว่าเรามีเป้าหมายเดียวกันหรือ SDGs เกี่ยวข้องกัน งานด้านนั้นก็จะเข้ามาช่วยเหลือกันและร่วมมือกันในการทำงาน ทำให้ภาคส่วนอื่นได้เห็นภาพการทำงานของเราและเป็นการบอกด้วยว่าเรามาช่วยกันบรรลุเป้าหมายนี้ด้วยกัน
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะในภาพรวม และโดยเฉพาะ
-(3.d) ส่งเสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG13 การรับมือและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
-(13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
-(13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า
พิมนารา อินต๊ะประเสริฐ – สัมภาษณ์และเรียบเรียง
ถิรพร สิงห์ลอ – พิสูจน์อักษร