นิเวศเกษตร (Agroecology): การเปลี่ยนแปลงจากฐานรากเพื่อสร้างภูมิต้านทานต่อ climate change และความไม่มั่นคงทางอาหาร

ตั้งแต่ความขัดแย้ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จนถึงวิกฤติการระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน เป็นปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารและความเป็นอยู่ย่ำแย่ลงกว่าเดิม อย่างไรก็ดี รายงาน The Potential of Agroecology to Build Climate-resilient Livelihoods and Food Systems ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ‘นิเวศเกษตร’ (Agroecology) ซึ่งเน้นวิถีเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมโดยสอดคล้องกับระบบนิเวศ อาจเป็นทางเลือกที่จะทำให้ระบบอาหารในโลกมีภูมิต้านทานพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น (Resilience) และเป็นปัจจัยช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากฐานราก (transformation) สำหรับ SDGs ด้วย

นิเวศเกษตร คืออะไร? แม้จะมีนิยามความหมายที่หลากหลาย แต่โดยสรุปหมายถึงเกษตรกรรมยั่งยืน โดยเป็นการทำงานร่วมกับระบบนิเวศทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นการเสริมพลังและสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นการส่งเสริมการผลิตอาหาร ความมั่นคงทางอาหาร และโภชนาการ ไปพร้อมกับฟื้นฟูระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นฐานของการทำเกษตรกรรมยั่งยืน ในกระบวนการนิเวศเกษตรยังรวมถึงการหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี/ยาฆ่าแมลง/ปุ๋ยเคมี เพื่อให้เป็นกระบวนการผลิตอาหารที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังทำให้พื้นที่เพาะปลูกมีเสถียรภาพ กล่าวคือ นิเวศเกษตรจะสามารถช่วยจัดการปัญหาทางเกษตรกรรมที่มีสาเหตุมาจาก อาทิ การตัดไม้ทำลายป่า การขาดแคลนน้ำ ความเสื่อมโทรมของดิน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นได้

ภาพ 10 องค์ประกอบของนิเวศเกษตรที่เชื่อมโยงกัน เข้าถึงรายละเอียด ที่นี่
ภาพวงจรความสัมพันธ์ของเกษตรกรรม-อาหาร-สิ่งแวดล้อม-การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เข้าถึงรายละเอียด ที่นี่

ในขณะเดียวกันนั้น ยังเป็นการเสริมพลังอำนาจด้านองค์ความรู้ของผู้ผลิต ให้สามารถอนุรักษ์ไว้ซึ่งองค์ความรู้พื้นบ้านและการสร้างภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งตามรายงานของ FAO ยังมองว่า นิเวศเกษตรถือเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้สำหรับยุทธศาสตร์การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ความมั่นคงทางอาหาร โภชนาการ เกษตรกรรมที่ยั่งยืน
-(2.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดำเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่มีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มความสามารถในการผลิต ซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศ เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะอากาศรุนแรง ภัยแล้ง อุทกภัย และภัยพิบัติอื่น ๆ และจะช่วยพัฒนาที่ดินและคุณภาพดินอย่างต่อเนื่อง ภายในปี 2573
#SDG13 การจัดการ/รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
-(13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
-(13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
-(15.1) อนุรักษ์ การฟื้นฟู และใช้ระบบนิเวศบนบกและน้ำจืดในแผ่นดิน รวมทั้งบริการทางระบบนิเวศที่ยั่งยืน
-(15.2) บริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม
-(15.3) ฟื้นฟูแผ่นดินและดินที่เสื่อมโทรม
-(15.5) หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

แหล่งที่มา:
What is agroecology – and how can it help us fight climate change? (World Economic Forum)
The 10 Elements of Agroecology: enabling transitions towards sustainable agriculture and food systems through visual narratives (tandfonline)

Last Updated on สิงหาคม 30, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น