Site icon SDG Move

จดหมายถึงประธานที่ประชุม UN COP26 ร้องให้ปรับงบจัดการกับ climate change ที่ตระหนักถึงเพศ และอนามัยเจริญพันธุ์

องค์กรไม่แสวงผลกำไรกว่า 60 แห่ง ส่งจดหมายต่อ Alok Sharma รัฐมนตรีของรัฐประจำสำนักนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร (Minister of State at the Cabinet Office) ซึ่งเป็นประธานที่ประชุม UN COP 26 ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ เรียกร้องให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรเปลี่ยนกฎเกณฑ์ความเหมาะสมของการใช้จ่ายงบประมาณ 11 พันล้านปอนด์สำหรับกองทุนระหว่างประเทศเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี ให้นับรวมถึงโครงการที่ขจัดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ รวมถึงการศึกษาของเด็กหญิง กล่าวคือ ให้ปรับงบประมาณที่รวมประเด็นการวางแผนครอบครัวและการคุมกำเนิดด้วย

โดยเฉพาะที่ประชาชนคนด่านหน้าในประเทศกำลังพัฒนาเป็นกลุ่มที่เผชิญและได้รับผลกระทบจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศมากที่สุด การเข้าถึงบริการสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์นั้น ก็เพื่อให้สามารถวางแผนและตัดสินใจได้ว่าจะมีลูกหรือไม่ หรือจะมีลูกเมื่อไร ในวิกฤติสภาพภูมิอากาศเช่นนี้ที่จะต้องเน้นสร้างขีดความสามารถของคนให้พร้อมจัดการและรับมือ

ทั้งนี้ การปรับงบประมาณดังกล่าวยังจะเป็นการส่งสัญญาณให้ประเทศต่าง ๆ ตระหนักถึงความสำคัญและสัมพันธ์ระหว่างเพศ/การวางแผนครอบครัว/อนามัยเจริญพันธุ์ กับ การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย


ปัจจุบันงบประมาณหลายพันล้านถูกปันส่วนไปกับงบประมาณเพื่อจัดการกับสภาพภูมิอากาศ การปรับตัวและการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมกันนี้เราได้ยินเสียงที่ดังและชัดเจนจากชุมชน ผู้หญิง และผู้คนที่เรา (NGOs) ทำงานร่วมด้วยได้รับผลกระทบจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการจริง ๆ คือการเข้าถึงบริการสุขภาพด้านอนามัยเจริญพันธุ์ เพื่อให้พวกเขาสามารถตัดสินใจได้ว่าจะมีลูกหรือไม่ หรือจะมีลูกเมื่อไร… และในยามนี้เราต้องการแนวทางที่สร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่จะบูรณาการการพัฒนาเข้ากับโครงการเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ

รายงานจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Programme – UNEP) ต้นปีที่ผ่านมาได้กล่าวถึงประเด็นการลงทุนใน ‘การวางแผนครอบครัวโดยมีชุมชนเป็นฐาน’ (community-based family planning) โดยมองว่าเป็นปัจจัยที่ช่วยจัดการกับประเด็นสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และวิกฤติด้านมลพิษต่าง ๆ ขณะเดียวกัน ยังเป็นการสนับสนุนให้ผู้หญิงก้าวขึ้นมามีบทบาทในการปรับตัวของชุมชนด้วย นอกจากนี้ ศาสตราจารย์จาก London School of Hygiene & Tropical Medicine ได้แสดงความเห็นว่า สิ่งที่เราต้องการสำหรับการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน คือความสามารถที่จะควบคุมอนามัยเจริญพันธุ์ของตนเอง โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้วย่อมจะเข้าใจความสำคัญของการเข้าถึงบริการสุขภาพอันหมายรวมถึงอนามัยเจริญพันธุ์ได้มากกว่าผู้ที่อาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบ

ยกตัวอย่างเช่นกรณีการศึกษาในอูกันดา การที่ผู้หญิงมีการศึกษาและสามารถเข้าถึงบริการสนับสนุนในการวางแผนครอบครัว จะช่วยให้มีลูกน้อยลง และลูกที่มีมีสุขภาพที่แข็งแรง มีความเข้าใจและการศึกษาที่ดี ซึ่งจะเป็นผลดีในแง่ที่จำนวนประชากรจะไม่ไปเพิ่มแรงกดดันต่อที่ดิน ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม และการที่สามารถวางแผน/ควบคุม/ตัดสินใจเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ได้ ทำให้มีแรงที่จะทุ่มเทในการจัดการกับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และสร้างภูมิต้านทานที่จะรับมือ

ทั้งนี้ ด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนา (Foreign, Commonwealth, and Development Office) ก็ได้เน้นย้ำถึงในความนี้เช่นกัน โดยยืนยันว่าทางรัฐบาลสหราชอาณาจักรจะทำให้มั่นใจว่างบประมาณสำหรับการจัดการด้านสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศนั้น จะตอบสนองต่อประเด็นทางเพศ ซึ่งรวมถึงการวางแผนครอบครัวและการศึกษาของเด็กหญิง โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักรจะใช้เวที COP 26 ในฐานะที่เป็นประธาน เรียกร้องให้ประเทศอื่น ๆ เห็นความสำคัญและความสัมพันธ์ระหว่างประเด็นเพศ/การวางแผนครอบครัว/อนามัยเจริญพันธุ์ กับการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย

● อ่านบทความที่เกี่ยวข้องที่:
การตระหนักถึงปัญหา Climate Change และอนาคตที่ไม่แน่นอน ทำให้คนหนุ่มสาวอาจตัดสินใจเลือกที่จะไม่มีลูกมากขึ้น

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.7) สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงบริการ ข้อมูล การให้การศึกษาเกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า รวมถึงการวางแผนครอบครัว และวางแผนเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ในยุทธศาสตร์และแผนงานระดับชาติ ภายในปี 2573
#SDG5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศ
-(5.6) สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงสุขนามัยทางเพศ อนามัยการเจริญพันธุ์ และสิทธิการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า
#SDG13 การจัดการ/รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
-(13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
-(13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า
-(13.b) ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน และชุมชนท้องถิ่นและชายขอบ

แหล่งที่มา:
‘Use your £11bn climate fund to pay for family planning,’ UK told (the guardian)

Author

  • Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

Exit mobile version