เอกสาร ‘COP 26: Delivering the Paris Agreement: A five-point plan for solidarity, fairness and prosperity’ เสนอข้อเรียกร้องของประเทศที่อยู่ในกลุ่มพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) ให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการชดเชยทางการเงินที่มากขึ้นเพื่อรับมือต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ต้องเผชิญ โดยเอกสารนี้เผยแพร่ในเดือนกรกฎาคม 2564 ก่อนการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 26 ในช่วงปลายปีนี้
บทความนี้กล่าวถึงความต้องการของประเทศต่างๆ ที่ถูกคุกคามอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จัดทำโดย Power Shift Africa และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเจรจาประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ เช่น Africa Group ประเทศภาคีเวทีประชุม Climate Vulnerable Forum รัฐบาลกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และประเทศเกาะขนาดเล็กที่เป็นสมาชิก Alliance of Small Island States (AOSIS) โดยแผนข้อเสนอ 5 ประเด็นนี้ “เขียนขึ้นและถูกรับรองจากผู้นำรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของประเทศต่าง ๆ และกลุ่มเจรจาของ UN ซึ่งรวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศทั่วโลก” ตามข้อมูลของ Climate Action Network International
แผน 5 ประเด็นสำคัญที่รัฐบาลต้องปฏิบัติตามที่ตกลงไว้ข้อตกลงปารีส โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากรัฐบาลประเทศที่ “มีความมั่งคั่งมาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างไม่ลดละ” ได้แก่
- การลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Mitigation) – ทุกประเทศต้องตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทะเยอทะยานมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงปารีส และออกนโยบายที่สนับสนุนการดำเนินการนั้น โดยประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องพิจารณาการดำเนินการระดับชาติบนฐานสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างยุติธรรม
- การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) – เสริมสร้างบทบัญญัติเพื่อช่วยให้ประเทศที่มีความเปราะบางที่สุดในการปรับตัว เช่น การสร้างกระบวนการที่ชัดเจนเพื่อกำหนด Global Goal on Adaptation (GGA) และต้องจัดสรรการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) อย่างน้อย 50% เพื่อพัฒนาความสามารถในการปรับตัว
- ความสูญเสีย (Loss) และความเสียหาย (Damage) วางกลไกการดำเนินการระหว่างประเทศวอร์ซอ (Warsaw Implementation Mechanism) ภายใต้การกำกับดูแลร่วมระหว่างอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและข้อตกลงปารีส และแต่งตั้งผู้แทนพิเศษว่าด้วยความสูญเสียและความเสียหายในการประชุม COP 26 เพื่อเพิ่มเจตจำนงทางการเมือง
- การเงิน – ดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงปารีสและข้อตกลงโคเปนเฮเกนในการจัดหาเงินทุนอย่างน้อย 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีภายในปี 2563 จนถึงปี 2567 โดยต้องมีแผนการที่เป็นรูปธรรม โดยเงินครึ่งหนึ่งจัดสรรที่ไปที่การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพิ่มการให้เงินช่วยเหลือมากกว่าการให้กู้ยืม นอกจากนี้ ยังมีมติเรียกร้องให้ภาคีสร้างสภาพคล่องทางการเงินเพิ่มเติมให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ในช่วงการระบาดของโควิด-19
- การนำไปปฏิบัติ – กำหนดกฎเกณฑ์ด้านความโปร่งใส การซื้อขายคาร์บอน และกรอบเวลาสำหรับการเร่งการดำเนินการ รวมถึงตกลงกรอบเวลาห้าปีร่วมกันสำหรับการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก (NDCs) ของทุกประเทศ
นอกจากนี้ เอกสารแสดงจุดยืนนี้ยังกล่าวถึง การประชุม COP 26 ว่าเป็นช่วงเวลาของ “ทั้งความจำเป็นสูงสุดและโอกาสสูงสุด” ในการประชุมครั้งนี้ รัฐบาลหลายประเทศที่ลงนามในข้อตกลงปารีสเมื่อปี 2558 “ถึงกำหนดเวลาที่จะปฏิบัติตามคำสัญญาที่ให้ไว้” และชี้ให้เห็นว่า การประชุม COP 26 จะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้หากไม่สามารถตอบสนองความต้องการเร่งด่วนของประเทศที่มีความเปราะบางและถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
- (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
- (13.a) ดำเนินการให้เกิดผลตามพันธกรณีที่ผูกมัดต่อประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีเป้าหมายร่วมกันระดมทุนจากทุกแหล่งให้ได้จำนวน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ภายในปี 2563 เพื่อจะแก้ปัญหาความจำเป็นของประเทศกำลังพัฒนาในบริบทของการดำเนินการด้านการบรรเทาที่ชัดเจนและมีความโปร่งใสในการดำเนินงานและทำให้กองทุน Green Climate Fund ดำเนินการอย่างเต็มที่โดยเร็วที่สุดผ่านการให้ทุน
- (13.b) ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน และชุมชนท้องถิ่นและชายขอบ
ที่มา : Developing Country Blocs Issue Position Paper ahead of COP 26 (IISD SDG Knowledge Hub)
Last Updated on กันยายน 1, 2021