บทความ To end extreme poverty, we must also end blindness เผยแพร่ในเว็บไซต์สภาเศรษฐกิจโลก เผยว่าเกือบ 90% ของผู้พิการทางสายตาทั่วโลกอยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อย ที่ความพิการทางสายตา/ตาบอดกับความยากจนเป็นเหตุและผลของกันและกันเป็นวงจร กล่าวคือ สาเหตุหลักของความพิการทางสายตาในประเทศที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง 50% มาจาก ‘ต้อกระจก’ ซึ่งไม่ได้รักษายากหรือมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูง ทว่าผู้ที่ประสบภาวะดังกล่าวในประเทศเหล่านี้จำนวนมากกลับไม่สามารถเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพตาเพื่อรักษาโรคต้อกระจกได้ เพราะภูมิหลังทางเศรษฐกิจสังคมของตนอาจเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ไม่สามารถจ่ายได้
ในทางกลับกัน การที่เข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกจะช่วยส่งเสริมผลิตภาพทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นถึง 1,500% ของต้นทุนการผ่าตัดตั้งแต่ในปีแรกหลังจากที่การผ่าตัดเรียบร้อย เป็นวงจรที่ประชาชนที่มี ‘สายตาที่ดี’ กลับมาช่วยลดความยากจนลง ไม่เพียงแต่ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจเท่านั้น การรักษาดวงตา/การลดความพิการทางสายตาในประเทศที่มีรายได้น้อย ยังสนับสนุนให้สามารถเข้าถึง/มีการศึกษาเพิ่มขึ้น มีความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น ลดอัตราการเสียชีวิตในเด็ก และเพิ่มความรู้สึกเคารพรักตัวเองด้วย เป็นต้น
หากเปรียบเทียบสาเหตุความพิการทางสายตาของประเทศที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางกับประเทศตะวันตกซึ่งมีรายได้สูง จะพบว่า ‘ต้อกระจก’ เป็นสาเหตุของความพิการทางสายตาในประเทศตะวันตกเพียง 5% เท่านั้น
ดังนั้น จึงควรมาสำรวจวิธีการแก้ไขปัญหาวงจรของความยากจนกับความพิการทางสายตา โดยมีงานวิจัยที่ระบุว่า เงินทุนอาจจะไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาเพียงประการเดียว แต่จะต้องไปให้ถึง ‘ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ’ (social determinants of health) ที่โยงใยกันอยู่ด้วย
โดยปัญหาอาจจะเริ่มมาจากการที่ประชาชนในประเทศเหล่านี้มองว่าความพิการทางสายตาเป็นเรื่อง ‘ปกติ’ ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องปกติ หรือขาดการตระหนักรู้ว่าการรักษาดวงตาเป็นทางเลือกที่ทำได้ ดังนั้น จึงอาจสนับสนุนให้สามารถเข้าถึงการบริการสุขภาพในระดับท้องถิ่นที่มีราคาหาซื้อได้ (affordable) ได้มากขึ้น และพัฒนาความรู้ความเข้าใจเรื่องการรักษา
ที่สำคัญ ผู้ให้บริการจะต้องระบุชี้ตำแหน่งของคนไข้ในพื้นที่ชนบทหรือพื้นที่ที่ห่างไกล เข้าถึง และโน้มน้าวให้รับการรักษาได้ฟรี เป็นกิจกรรม/โครงการ ‘outreach’ หาประชาชน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล มักจะอยู่ในความยากจนและไม่สามารถเดินทางมาเพื่อรับการรักษาและจ่ายค่ารักษาได้ ซึ่งทำให้เห็นความท้าทายอีกประการว่าด้วยเรื่องของค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าโฆษณาที่อาจทำให้ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น
นอกจากนั้น ปัจจัยทางวัฒนธรรมและสังคมก็นับเป็นหนึ่งอุปสรรคได้เช่นกัน หากเป็นกำแพงที่ส่งผลต่อการยินยอมเข้ารับการรักษา ขณะที่บางงานวิจัยชี้ว่าในบางพื้นที่ ปัญหาความพิการทางสายตาหรืออาการตาบอดนั้นลดลง ซึ่งเป็นไปได้ว่าเป็นผลมาจากการเข้าถึงน้ำสะอาดและความเข้าใจเรื่องสุขอนามัยที่ดีมากขึ้น โดยที่การรักษาปัญหาดวงตาอาจไม่จำเป็น
ไม่ว่าวิธีการแก้ปัญหาในแต่ละพื้นที่จะเป็นอย่างไร การศึกษาเหล่านี้ได้ช่วยชี้ให้เห็นว่าปัญหาความพิการทางสายตาในประเทศที่มีรายได้น้อยนั้นมีความซับซ้อน ที่สถิติเพียงลำพังหรือการหยิบยกการศึกษาใดมาอธิบายอาจจะไม่ครอบคลุมทั้งหมด แต่สิ่งที่มีเหมือนกันคือการนำทางว่าจะต้องจัดการกับปัญหาความยากจนและความยากจนขั้นรุนแรง เพื่อที่จะยุติปัญหาความพิการทางสายตา/อาการตาบอดได้
โดยจะต้องสำรวจปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพร่วมกับปัจจัยทางวัฒนธรรม ที่นอกเหนือไปจากการพิจารณาเรื่องค่ารักษาพยาบาลหรือแหล่งเงินทุนในการแก้ปัญหา
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.1) ขจัดความยากจนทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันวัดจากคนที่มีค่าใช้จ่ายดำรงชีพรายวันต่ำกว่า 1.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ภายในปี 2573
– (1.a) สร้างหลักประกันว่าจะมีการระดมทรัพยากรอย่างมีนัยสำคัญจากแหล่งที่หลากหลาย รวมไปถึงการยกระดับความร่วมมือเพื่อการพัฒนา เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และเพื่อการดำเนินงานตามแผนงานและนโยบายเพื่อยุติความยากจนในทุกมิติ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสามผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรคและส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
– (3.8) ส่งเสริมการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิผล มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้
#SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่มีคุณค่า
– (8.3) ส่งเสริมนโยบายที่มุ่งการพัฒนาที่สนับสนุนกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพ การสร้างงานที่สมควร ความเป็นผู้ประกอบการ ความสร้างสรรค์และนวัตกรรม และส่งเสริมการเกิดและการเติบโตของวิสาหกิจรายย่อยขนาดเล็ก และขนาดกลาง ซึ่งรวมถึงผ่านทางการเข้าถึงบริการทางการเงิน
แหล่งที่มา:
To end extreme poverty, we must also end blindness (World Economic Forum)
Last Updated on กันยายน 1, 2021