‘การแบ่งปันความรู้’ หรือ Knowledge Sharing คือ กิจกรรมการแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งหมายถึง ข้อมูล ทักษะ หรือ ความเชี่ยวชาญ ระหว่างบุคคล เพื่อน ครอบครัว ชุมชน หรือ องค์กร โดย ‘ความรู้’ นั้นอาจอยู่ในรูปทั้ง ความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) เช่น ประสบการณ์ ความหยั่งรู้ส่วนบุคคล ความเชี่ยวชาญ และ ความรู้ภายนอก (Explicit Knowledge) เข่น ขั้นตอนที่มีความชัดเจน หรืออยู่ในรูปเอกสาร
ในภาคธุรกิจ แนวคิดเรื่องการแบ่งปันความรู้เป็นเรื่องความสำคัญ เนื่องจากช่วยให้บุคคลและธุรกิจมีความคล่องตัวและมีความสามารถในการปรับตัวได้มากขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง และช่วยทำให้แน่ใจว่าจะสามารถเติบโตและอยู่รอดได้ในระยะยาว
เช่นกันกับในบริบทของการพัฒนา การแบ่งปันความรู้ ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือเพื่อการพัฒนา เนื่องมาจากแต่ละประเทศย่อมต้องการสำรวจความรู้ แนวคิด แนวทางใหม่ ๆ ด้านการพัฒนาที่จะสามารถนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับความต้องการของตน และปรับตัวให้อยู่รอดท่ามกลางความท้าทายมากมาย ผ่านการเรียนรู้บทเรียนจากประสบการณ์ของแต่ละพื้นที่ ตามแนวคิด “การแบ่งปันความรู้” ขององค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานด้านการพัฒนา เช่น UNDP, World Bank และ OECD ได้อธิบายว่า การแบ่งปันความรู้ คือ
- การแบ่งปันรูปแบบและแนวทางแก้ไขด้านการพัฒนาที่พิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จในประเทศใดประเทศหนึ่งหรือหลายประเทศ และอาจสามารถถูกส่งต่อและปรับไปใช้ในประเทศอื่น ๆ ผ่านหุ้นส่วนความร่วมมือ
- การเข้าถึงข้อมูลที่ยากต่อการประมวลผล (hard-to-codify) โดยตรงด้านนโยบายสาธารณะเพื่อการพัฒนาซึ่งเป็นข้อมูลที่มาจากความเชี่ยวชาญของผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติงาน
- กระบวนการที่บุคคล องค์กร และทุกภาคส่วนในสังคมปรับใช้ความรู้ที่มาจากผู้อื่นเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของตน ในฐานะเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน และการสร้างผลลัพธ์
ดั้งเดิม การแบ่งปันความรู้เพื่อการพัฒนามักเป็นไปจากประเทศที่พัฒนาแล้วไปยังประเทศกำลังพัฒนา (North-South) ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์การพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คนนับล้านในประเทศกำลังพัฒนา แต่ก็ทำให้เเกิดการรับรู้เพิ่มขึ้นว่า ความรู้ในแง่ใดที่ได้ผลและไม่ได้ผลในการสร้างการเจริญเติบโตของประเทศ และความรู้เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นเกิดขึ้นมากในประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้น กระแสการไหลของความรู้ในปัจจุบันจึงเป็นไปในแบบหลายทิศทางมากขึ้น (multi-directional) ไม่เพียงแต่จากประเทศพัฒนาแล้วไปประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมทั้ง ระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน (South-South) จากประเทศกำลังพัฒนาไปประเทศพัฒนาแล้วด้วย (South-North)
ความเป็นไปได้ในการแบ่งปันความรู้ผ่านความร่วมมือระดับต่าง ๆ จะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องและตรงกับความต้องการโดยมีการขยายตัวของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เช่น อินเตอร์เน็ต เป็นเครื่องมือที่สำคัญเพื่อการเข้าถึงข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึงยังเป็นพื้นที่ที่ทำให้ผู้ปฏิบัติงานและผู้กำหนดนโยบายให้เชื่อมต่อถึงกันโดยตรง
การรับเอา (adopt) และปรับใช้ (adapt) ความรู้ให้เหมาะสมกับบริบทแต่ละพื้นที่ เป็นสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถการพัฒนาประเทศจากภายใน ซึ่งจะช่วยให้เกิดโซลูชั่นด้านการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดและยั่งยืนที่สุด
นอกจากนี้ เมื่อกล่าวถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถพูดได้ว่าการแบ่งปันความรู้ ถือเป็นรากฐานเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยสามารถอ้างอิงได้จากการให้ความสำคัญกับการกำหนดให้มีการรายงาน VNR (Voluntary National Review) หรือ รายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ ซึ่งถือเป็นกลไกหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนความรู้ด้าน SDGs ของแต่ละประเทศในระดับนานาชาติ
คำว่า การแบ่งปันความรู้ ปรากฎอยู่ใน ‘#SDG17 – (17.6) เพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างประเทศและในภูมิภาคแบบเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี และการเข้าถึงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และยกระดับการแบ่งปันความรู้ตามเงื่อนไขที่ตกลงร่วมกัน รวมถึง การพัฒนาการประสานงานระหว่างกลไกที่มีอยู่เดิมเฉพาะอย่างยิ่งในระดับของสหประชาชาติ และผ่านทางกลไกอำนวยความสะดวกด้านเทคโนโลยีของโลก’
Target 17.6 : Enhance North-South, South-South and triangular regional and international cooperation on and access to science, technology and innovation and enhance knowledge-sharing on mutually agreed terms, including through improved coordination among existing mechanisms, in particular at the United Nations level, and through a global technology facilitation mechanism.
SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs
หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ
แหล่งที่มา:
Scaling Up Knowledge sharing for Development- A Working Paper for the G-20 Development Working Group, Pillar 9 (OECD)
HLPF Side Event: Learning Lessons from COVID19, sharing knowledge for SDG implementation (UNDP)
Knowledge Sharing: Definition & Process (study.com)
Last Updated on มกราคม 3, 2022