รายงานจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังมีประชากรมากกว่า 4 พันล้านคนทั่วโลกที่ไม่ได้รับการคุ้มครองด้านสวัสดิการทางสังคมใด ๆ ในชีวิตเลย ถึงแม้ว่าการใช้จ่ายภาครัฐทั่วโลกเพื่อช่วยเหลือประชาชนจากวิกฤตโควิด-19 จะเพิ่มขึ้นถึง 30% ก็ตาม
รายงาน ‘The World Social Protection Report 2020-22: Social protection at the crossroads – in pursuit of a better future‘ เสนอข้อมูลสถานการณ์ภาพรวมล่าสุดการพัฒนาระบบการคุ้มครองทางสังคม (social protection) ในประเทศทั่วโลก พบว่าวิกฤตโควิด-19 นำไปสู่การพัฒนาการคุ้มครองทางสังคมเป็นเม็ดเงินที่สูงขึ้นทั่วโลก โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว แต่ก็ยังทำให้มีประชากรแค่เพียง 47% ของประชากรทั่วโลกเท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครองทางสังคมที่มีประสิทธิภาพอย่างน้อยหนึ่งรายการ ในขณะที่อีก 4.1 พันล้านคน (53%) ไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบการคุ้มครองทางสังคมจากประเทศของตน
การคุ้มครองทางสังคม หมายรวมถึง การเข้าถึงการรักษาพยาบาลและความมั่นคงของรายได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถึงวัยชรา เกิดการว่างงาน การเจ็บป่วย ความทุพพลภาพ การบาดเจ็บจากการทำงาน การคลอดบุตรหรือการสูญเสียรายได้หลัก ตลอดจนการดูแลครอบครัวที่มีบุตร
ในระดับโลก มีเด็กเพียง 1 ใน 4 คนเท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครองทางสังคมที่มีประสิทธิภาพ และมีมารดาที่มีทารกแรกเกิดไม่ถึงครึ่ง (45%) ที่ได้รับผลประโยชน์เป็นเงินสดเพื่อการสงเคราะห์บุตร ในขณะที่ 1 ใน 3 ของผู้ที่ความทุพพลภาพขั้นรุนแรงเท่านั้นที่จะได้รับเงินช่วยเหลือด้านทุพพลภาพ
ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์เมื่อเกิดการว่างงานอยู่ที่เพียง 18.6% ของผู้ว่างงานทั่วโลกที่ได้รับการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพ และในขณะที่ 77.5% ของผู้ที่มีอายุเลยวัยเกษียณได้รับเงินบำนาญชราภาพเพียงบางรูปแบบ โดยความเหลื่อมล้ำของการได้รับการคุ้มครองทางสังคมยังปรากฏใ้ห้เห็นเด่นชัดทั้งในระดับภูมิภาค ระดับพื้นที่เมืองและชนบท และระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย
เมื่อพิจารณาถึงความเท่าเทียมกันในการได้รับการคุ้มครองทางสังคม รายงานจาก ILO พบว่า ประเทศในยุโรปและเอเชียกลางมีอัตราการครอบคลุมสูงสุด โดยประชาชน 84% สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ได้อย่างน้อยหนึ่งอย่าง รองลงมาคือทวีปอเมริกาที่มีอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก โดยอยู่ที่ 64.3% ตามมาด้วยเอเชียและแปซิฟิก (44%) ประเทศรัฐอาหรับ (40%) และต่ำที่สุดในแอฟริกา (17.4%)
นอกจากนี้ ยังทำให้เห็นความแตกต่างในการใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อการคุ้มครองทางสังคมในแต่ละกลุ่มประเทศ โดยประเทศที่มีรายได้สูงใช้จ่ายงบประมาณ 16.4% ของ GDP เพื่อพัฒนาสวัสดิการพื้นฐานต่าง ๆ ในขณะที่ประเทศรายได้ต่ำใช้งบประมาณเพียงแค่ 1.1%
รายงาน ILO เสนอว่า เพื่อรับประกันว่าประชาชนทุกคนจะได้รับการคุ้มครองทางสังคมขั้นพื้นฐานเป็นอย่างต่ำ รัฐบาลจะต้องลงทุนเป็นเงินเพิ่มอีก 77.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในประเทศรายได้น้อย 362.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับล่าง และอีก 750.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับบน
เข้าถึงรายงาน The World Social Protection Report 2020-22: Social protection at the crossroads – in pursuit of a better future
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ #SDG1 ยุติความยากจน - (1.3) ดําเนินการให้เป็นผลตามระบบและมาตรการคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสมของแต่ละประเทศ และให้ครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี พ.ศ. 2573 #SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ - (8.b) พัฒนาและดำเนินงานยุทธศาสตร์โลกสำหรับการจ้างงานเยาวชนและดำเนินงานตามข้อตกลงเรื่องงานของโลกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ภายในปี 2563 #SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำภายในและระหว่างประเทศ - (10.4) นำนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคมมาใช้ และให้บรรลุความเสมอภาคยิ่งขึ้นอย่างก้าวหน้า
ที่มา :
4.1 billion lack social safety net, warns UN labour agency (UN News)
More than 4 billion people still lack any social protection, ILO report finds (ILO)