สัปดาห์น้ำโลก (World Water Week) ระหว่างวันที่ 23 – 27 สิงหาคมที่ผ่านมาได้เสร็จสิ้นลง พร้อมกันนั้น UN-Water Integrated Monitoring Initiative for SDG6 (IMI-SDG6) ได้เผยแพร่ซีรีส์เล่มรายงานความคืบหน้าของ 7 ตัวชี้วัดด้านน้ำสะอาด สุขาภิบาล แสะสุขอนามัยที่ดีตาม #SDG6 อาทิ คุณภาพน้ำ การบำบัดน้ำเสีย การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวม (IWRM) ซึ่งรวบรวมข้อมูลมาจากแต่ละประเทศ ชี้ว่าสถานการณ์น้ำของโลกในภาพรวมตอนนี้ไม่เป็นไปตามแผนและจะต้องเร่งดำเนินการ ในบางพื้นที่อาจจะต้องเร่งมือให้มากกว่าเดิมถึง 4 เท่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายใน 9 ปีนี้ (พ.ศ. 2573)
รายละเอียดภาพรวม สรุปสังเขปโดย IISD SDG Knowledge Hub ระบุว่า
- ประชากรโลก 2 พันล้านคนยังใช้ชีวิตอยู่โดยที่ไม่มีน้ำดื่มสะอาดที่มีการบริหารจัดการอย่างปลอดภัย
- ประชากรโลก 3.6 พันล้านคนยังใช้ชีวิตอยู่โดยไม่มีสุขาภิบาลที่มีการบริหารจัดการอย่างปลอดภัย
- ประชากรโลก 2.3 พันล้านคนยังขาดอุปกรณ์/สิ่งอำนวยความสะดวก สบู่และน้ำสำหรับการล้างมือที่บ้าน
- น้ำเสียส่วนใหญ่ในโลกหวนกลับคืนสู่ธรรมชาติโดยที่ไม่ผ่านการบำบัด
- 1 ใน 5 ของลุ่มแม่น้ำในโลกเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาทิ จากน้ำท่วมและ ภาวะแห้งแล้งที่เกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น
- โลกสูญเสียระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ 80% ของทั้งหมดไปแล้ว
- มีเพียงครึ่งหนึ่งของประเทศทั้งหมดในโลกที่พัฒนากฎหมาย สถาบัน และงบประมาณที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและเท่าเทียมให้รุดหน้า
- การสนับสนุนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก
- มีเพียง 24 ประเทศเท่านั้นที่ความร่วมมือด้านน้ำครอบคลุมถึงทรัพยากรน้ำระหว่างประเทศ
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาสเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความแปรปรวนในวัฏจักรของน้ำ (water cycle variability) และเป็นตัวเร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในทุกภูมิภาคของโลก ส่งผลต่อการพลัดถิ่นของประชาชนนับล้าน
- เกือบ 10% ของประชากรโลกอยู่ในพื้นที่ที่มีความเครียดน้ำ (water stress) ในระดับสูง
นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญคือยังมีความท้าทายเรื่อง ‘ช่องว่างของข้อมูลด้านน้ำ’ อยู่มาก อย่างข้อมูลด้านน้ำของหน่วยงาน UN ที่ประจำในพื้นที่ประเทศต่าง ๆ โดยเฉลี่ยแล้วในปี 2563 มีข้อมูลครบตามตัวชี้วัดเพียง 8.2 จาก 12 ตัวชี้วัดเท่านั้น หรือในแง่ของการรายงานก็ดี ขณะที่ประเทศที่ร่ำรวยที่สุด 24 ประเทศรายงานข้อมูลคุณภาพน้ำเกือบ 60,000 ข้อมูล ประเทศที่ยากจนที่สุด 20 ประเทศรายงานข้อมูลคุณภาพน้ำเพียง 1,000 ข้อมูลเท่านั้น
UN ได้เน้นย้ำและเรียกร้องให้ทุกรัฐบาลหันมาเร่งพัฒนาการเก็บข้อมูลทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน 5 ตัวเร่งการดำเนินการด้านน้ำตามกรอบ SDG 6 Global Acceleration Framework (2020) เพื่อที่จะนำไปสู่การวิเคราะห์ทราบความท้าทายและโอกาส การปรับปรุงการตัดสินใจทางนโยบาย และการกำหนดลำดับความสำคัญในการปฏิบัติการ บนฐานของข้อมูลที่มีคุณภาพ
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้องที่
– คนจะยังขาด น้ำสะอาด สุขาภิบาล และสุขอนามัย ในอนาคต หากยังละเลยในปัญหาและทำงานช้าเช่นปัจจุบัน
– การขับถ่ายลงสู่แหล่งน้ำในเมืองเป็นแหล่งเพราะเชื้อโรคติดต่อที่ประเทศยากจนและที่มีรายได้ปานกลางต้องเร่งแก้ไข
– โลกให้ความสนใจกับระบบนิเวศน้ำจืดบนแผ่นดินน้อยเกินไป เพราะมีแม่น้ำตามธรรมชาติเพียง 17% เท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครอง
– จะลดความขัดแย้งด้านการใช้แม่น้ำระหว่างประเทศลงได้ ด้วยเครื่องมือวิเคราะห์ฉากทัศน์ปัญหาและการใช้ทรัพยากรน้ำร่วมกัน
– ‘ภัยพิบัติจากน้ำ’ สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงมาทุกยุคสมัย และจะเกิดถี่ขึ้น – รุนแรงขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG6 น้ำสะอาด สุขาภิบาล แสะสุขอนามัยที่ดี
-(6.1) บรรลุเป้าหมายการให้ทุกคนเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยและมีราคาที่สามารถซื้อหาได้ภายในปี 2573
-(6.2) บรรลุเป้าหมายการให้ทุกคนเข้าถึงสุขอนามัยที่พอเพียงและเป็นธรรม และยุติการขับถ่ายในที่โล่ง ภายในปี 2573
-(6.3) ยกระดับคุณภาพน้ำ โดยลดมลพิษ ขจัดการทิ้งขยะและลดการปล่อยสารเคมีและวัสดุอันตราย ลดสัดส่วนน้ำเสียที่ไม่ผ่านกระบวนการลงครึ่งหนึ่ง และเพิ่มการนำกลับมาใช้ใหม่ทั่วโลก ภายในปี 2573
-(6.4) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในทุกภาคส่วน สร้างหลักประกันว่าจะมีการใช้น้ำและจัดหาน้ำที่ยั่งยืน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ภายในปี 2573
-(6.5) ดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวมในทุกระดับ รวมถึงผ่านทางความร่วมมือระหว่างเขตแดนตามความเหมาะสม ภายในปี 2573
-(6.6) ปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำ รวมถึงภูเขา ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ แม่น้ำ ชั้นหินอุ้มน้ำ และทะเลสาบ ภายในปี 2563
-(6.a) ขยายความร่วมมือระหว่างประเทศและการสนับสนุนการเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาในกิจกรรมและแผนงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำและสุขอนามัย
-(6.b) สนับสนุนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนาการจัดการน้ำและสุขอนามัย
#SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน
-(17.18) ยกระดับการสนับสนุนด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ให้เพิ่มการมีอยู่ของข้อมูลที่มีคุณภาพ ทันเวลา และเชื่อถือได้ ที่จำแนกในเรื่องรายได้ เพศ อายุ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สถานะการอพยพ ความบกพร่องทาง ร่างกาย ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และคุณลักษณะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตามบริบทของประเทศ ภายในปี 2563
แหล่งที่มา:
In Need of Speed: Data can Accelerate Progress Towards Water and Sanitation for All (IISD)
SDG 6 progress update: the world is off-track (UN Water)