ภารกิจหนึ่งขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization – WTO) คือการอำนวยให้การค้าเป็นไปได้อย่างราบรื่นและเป็นประโยชน์ต่อทุกคน โดยหลัก ๆ มาจากการลดกำแพง/อุปสรรคทางการค้าลงหากสามารถลดลงได้ หรือยังคงกำหนดกฎระเบียบการคงไว้ซึ่งกำแพงทางการค้าบางประการรวมถึงนโยบายทางการค้าอื่น โดยทั้งสองข้อนี้มักจะเป็นผลลัพธ์ของการเจรจาในแต่ละรอบระหว่างรัฐมนตรีประเทศต่าง ๆ ซึ่งเป็นสมาชิกของ WTO
การประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก (WTO’s Fourth Ministerial Conference) หรือ การเจรจาการค้าพหุภาคี ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 9-14 พฤศจิกายน ค.ศ. 2001 ณ เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ เป็นการเจรจาการค้ารอบแรกภายหลังจาก WTO ถูกจัดตั้งขึ้น และได้ชื่อว่าเป็นการเจรจาการค้าพหุภาคี ‘การพัฒนารอบโดฮา’ (Doha Round) หรือเป็นที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘วาระการพัฒนารอบโดฮา’ (Doha Development Agenda) เนื่องจากในการประชุมครั้งนี้ได้กำหนดให้ ‘การพัฒนา’ เป็นใจกลาง/จุดประสงค์สำคัญ โดยเน้นประเด็นการค้าสำหรับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการและผลประโยชน์ของประเทศเหล่านี้ได้ ตลอดจนจัดการกับปัญหาที่กำลังเผชิญในการปฏิบัติตามพันธกรณีข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (implementation issues) ทั้งนี้ มีกำหนดให้การเจรจารอบนี้เสร็จสิ้นภายใน 3 ปีคือภายในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2005
“… We shall continue to make positive efforts designed to ensure that developing countries, and especially the least-developed among them, secure a share in the growth of world trade commensurate with the needs of their economic development. In this context, enhanced market access, balanced rules, and well targeted, sustainably financed technical assistance and capacity-building programmes have important roles to play.”
การพัฒนารอบโดฮามีการเจรจาการค้าในหัวข้อต่าง ๆ ร่วม 20 หัวข้อ ในลักษณะ ‘single undertaking’ หมายถึง การเจรจาจะเป็นการจับมัดรวมหัวข้อทั้ง 20 หัวข้อนี้ให้แต่ละประเทศพิจารณาลงนาม โดยจะไม่สามารถแบ่งแยกหัวข้อเหล่านั้นออกจากแพ็กเกจได้ ไม่มีความคิดเห็นของแต่ละหัวข้อให้ได้เลือก ไม่สามารถให้ความตกลงแบบแยกส่วนกันได้ กล่าวคือ การเจรจาจะไม่มีการบรรลุความตกลงได้เลย จนกว่าจะเห็นพ้องตรงกันทุกหัวข้อ (Nothing is agreed until everything is agreed)
ส่วนประเด็นการค้าที่มีการเจรจากัน 20 หัวข้อนั้น ตัวอย่าง 8 หัวข้อสำคัญ มีดังนี้
- การเปิดตลาดสินค้าเกษตร – เช่น ให้เข้าถึงตลาดได้มากขึ้น ขจัดการอุดหนุนการส่งออก รวมถึงจัดการกับข้อกังวลที่ไม่ได้เกี่ยวกับการค้า อาทิ ความมั่นคงทางอาหาร และการพัฒนาชนบท เป็นต้น
- การเปิดเสรีการค้าบริการ – เช่น ปรับปรุงการเข้าถึงตลาด รัฐบาลสามารถกำหนดว่าต้องการเปิดภาคส่วนใดให้บริษัทต่างชาติเข้าถึงได้ และเปิดได้ถึงขั้นใด อาทิ ระเบียบข้อบังคับ และการอนุญาติให้ต่างชาติเข้าเป็นเจ้าของ เป็นต้น
- ความสามารถที่จะเข้าถึงตลาดสินค้านอกภาคเกษตร / การเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรม (Non-Agriculture Market Access – NAMA) – เช่น ลดและขจัดภาษี และอุปสรรคที่มิใช่ภาษี เป็นต้น
- สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า
- การค้าและสิ่งแวดล้อม
- การปรับปรุงกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก – เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด การอุดหนุนและมาตรการตอบโต้การอุดหนุน เป็นต้น
- กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และ
- ปัญหาการปฏิบัติตามพันธกรณีของความตกลงพหุภาคีรอบอุรุกวัย
แม้ว่าการเจรจารอบโดฮาอาจจะประสบกับอุปสรรคอยู่หลายประการ เนื่องจากเป้าหมายและผลประโยชน์ที่แตกต่างกันของบรรดาประเทศต่าง ๆ อาทิ เกี่ยวกับการเจรจาการค้าสินค้าเกษตร สินค้าบริการ สินค้านอกภาคการเกษตร หรือการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมจากข้อตกลงทางการค้าในอดีต อย่างไรก็ดี สํานักเจรจาการค้าพหุภาคี กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (ค.ศ. 2012) วิเคราะห์ถึงประโยชน์ของการเจรจารอบโดฮาต่อประเทศกำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทยเอาไว้โดยสังเขปว่า
- การเปิดตลาดสินค้าเกษตรและการยกเลิกภาษีที่สูงเกินไป จะเอื้อให้เกิดการส่งออกสินค้าและสินค้าเกษตรจากประเทศกําลังพัฒนาไปยังประเทศที่พัฒนาแล้วมากขึ้น
- การเปิดเสรีการค้าบริการ จะเอื้อให้เกิดการแข่งขันและปรับปรุงคุณภาพซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภค
- การปรับปรุงกฎระเบียบไม่ว่าจะเป็นมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน จะช่วยให้การแข่งขันทางการค้าเป็นธรรมมากขึ้น
- การปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการนําเข้าและส่งออกสินค้า และลดขั้นตอนทางศุลกากร จะเอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจนำเข้าและส่งออก
โดยสรุป การเจรจาเหล่านี้ก็เพื่อลดการบิดเบือนทางการค้า แต่ให้เกิด ‘ความสมดุล’ ของผลประโยชน์ระหว่างประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้วที่จะได้จากการค้านั่นเอง
คำว่า วาระการพัฒนารอบโดฮา ปรากฎอยู่ใน ‘#SDG17 – (17.10) ส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคีที่เป็นสากล มีกติกา เปิดกว้าง ไม่เลือกปฏิบัติ และเสมอภาค ภายใต้องค์การการค้าโลก โดยรวมถึงผ่านการสิ้นสุดการเจรจาภายใต้วาระการพัฒนารอบโดฮา’
Target 17.10: Promote a universal, rules-based, open, non-discriminatory and equitable multilateral trading system under the World Trade Organization, including through the conclusion of negotiations under its Doha Development Agenda
นอกจากนี้ ยังปรากฏอยู่ / สัมพันธ์กับเป้าประสงค์อื่น ๆ ของ SDGs ด้วย ไม่ว่าจะเป็น
- #SDG2 (2.b) ว่าด้วยเรื่องการแก้ไขและป้องกันการกีดกันและการบิดเบือนทางการค้าในตลาดเกษตรโลก
- #SDG3 (3.b) ส่งเสริมให้มีการเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ตามปฏิญญาโดฮาความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าและการสาธาณสุข (Doha Declaration on the TRIPS Agreement and Public Health)
- #SDG17 (17.11) เพิ่มส่วนแบ่งการส่งออกของประเทศกำลังพัฒนาในการส่งออกทั่วโลกให้สูงขึ้น
- #SDG17 (17.12) การเข้าถึงตลาดปลอดภาษีและปลอดการจำกัดปริมาณในระยะยาวสำหรับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยให้สอดคล้องกับการตัดสินใจขององค์การการค้าโลก มีความโปร่งใส และมีการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงตลาด
SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs
หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ
แหล่งที่มา:
Ministerial Conferences (WTO)
The Doha Round (WTO)
Doha Round: what are they negotiating? (WTO)
ความเป็นมาการเจรจาการค้ารอบโดฮา (สํานักเจรจาการค้าพหุภาคี กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ)
หนังสือภูมิทัศน์เศรษฐกิจการเมืองโลก: วิกฤตกับการท้าทายในศตวรรษที่ 21 (ศ.ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ)