Site icon SDG Move

นำเสนอภาพผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีสุขภาพดีบนสื่อให้มากขึ้น สามารถช่วยลดการตีตราที่สังคมมีต่อผู้ติดเชื้อได้

รายงานผลการศึกษา ‘2021 State of HIV Stigma Study‘ ระบุว่า หากสื่อเสนอภาพผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างคนสุขภาพแข็งแรงมากขึ้น จะสามารถช่วยลดอคติและการตีตราที่สังคมมีต่อผู้ติดเชื้อลงได้ นอกจากนี้ ยังต้องการกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ถึงความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้วในปัจจุบัน ที่สามารถช่วยให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมไม่เป็นผู้เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไวรัสให้ผู้อื่นได้จริง

เข้าถึง 2021 State of HIV Stigma Study

การศึกษานี้จัดทำโดย GLAAD องค์กรรณรงค์และตรวจสอบสื่อสาธารณะในสหรัฐอเมริกาเพื่อต่อต้านการนำเสนอภาพลักษณ์ที่สร้างความเสื่อมเสีย ใส่ร้ายชุมชน LGBT และผู้ติดเชื้อเอชไอวี มีเป้าหมายให้เกิดการยอมรับการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเท่าเทียม ได้ทำการสำรวจออนไลน์ประชาชนวัยผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ ช่วงระหว่างวันที่ 14-29 มกราคม 2021 โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 2,517 คน พบว่า 56% ของผู้ตอบแบบสอบถามจำได้ว่าเคยได้เห็นการนำเสนอเรื่องราวของผู้ติดเชื้อเอชไอวีในเชิงบวกบนสื่อในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

ข้อค้นพบยังทำให้เห็นอีกว่า หลังงจากการพบการติดเชื้อเอชไอวีครั้งแรกในสหรัฐฯ เมื่อ 40 ปีที่แล้ว แต่ความไม่รู้ไม่เข้าใจ (ignorance) ของประชาชนเกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ผู้ตอบแบบสอบถาม 2 ใน 3 ทราบว่ามียาที่ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ แต่มีเพียง 2 ใน 5 เท่านั้นที่รู้ว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาอย่างเหมาะสมไม่สามารถแพร่เชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ได้แล้ว

แม้ว่าปัจจุบันการยอมรับการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีดีขึ้นกว่าในอดีต แต่มีผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่งมีความกังวลใจหากต้องได้รับการรักษาหรือบริการจากบุคลากรทางการแพทย์ที่มีเชื้อเอชไอวี และมี 44% ตอบว่า ไม่สบายใจถ้าต้องตัดผมหรือทำผมกับช่างทำผมที่มีเชื้อเอชไอวี และ 35% มีความกลัวการติดเชื้อหากต้องเรียนในห้องเรียนกับอาจารย์ที่ติดเชื้อเอชไอวี

นอกจากการศึกษาฉบับนี้ GLADD ยังได้เผยแพร่รายงานสำรวจ ‘Where Are We on TV 2020-2021‘ ที่วิเคราะห์ความหลากหลายของตัวละครในรายการทีวีช่วงไพรม์ไทม์ของสหรัฐฯ พบว่า ตัวละครที่เป็นผู้ติดเชื้อไอวีลดลงอย่างมาก ซึ่งมีสาเหตุจากการตีตราการติดเชื้อเอชไอวี

รายงานระบุว่า “ผลวิจัยแสดงให้เห็นว่ามีโอกาสที่จะลดการตีตราได้โดยการนำเสนอภาพผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่กำลังใช้ชีวิตและเติบโตก้าวหน้า” และต้องมีตัวแทนผู้ติดเชื้อเอชไอวีเพื่อบอกเล่าเรื่องราวจากทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ และทุกอัตลักษณ์ทางเพศ เพื่อเสริมพลังให้แก่ผู้ป่วยติดเชื้อทุกคนอย่างครอบบคลุม

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่นๆ ภายในปี 2573
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
- (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่ (ในที่นี้หมายรวมถึงเพศอื่น ๆ ด้วย)
- (5.6) สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์และสิทธิด้านการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า ตามที่ตกลงในแผนปฏิบัติการของการประชุมนานาชาติว่าด้วยประชากรและการพัฒนา และปฏิญญาปักกิ่งและเอกสารทบทวนผลลัพธ์จากการประชุมเหล่านั้น
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำภายในและระหว่างประเทศ
- (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้

ที่มา : How the media could help end stigma around HIV (World Economic Forum)

Author

  • Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

Exit mobile version