แต่เดิมประเด็นอัตราการตายในเด็กก่อนจะถึงวัยแรกรุ่นมีอยู่โดยทั่วไปในระดับสูงถึงครึ่งหนึ่งของประชากรเด็กทั้งหมดโดยไม่เลือกสถานที่/ประเทศ โดยที่ปัจจัยช่วยปูทางสนับสนุนให้เด็กมีโอกาสรอดชีวิตและอยู่ได้โดยมีชีวิตที่มีสุขภาวะดี มาจากหลายปัจจัยและจะต้องเป็นไปอย่างที่ถูกที่ควร กล่าวคือ สภาพแวดล้อมที่ดีมีส่วนร่วมกำหนดการรอดชีวิตของเด็ก ขณะเดียวกัน อัตราการตายของเด็กก็เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่สะท้อนสภาพความเป็นอยู่อย่างแท้จริงของสังคมนั้น
ผลจากการปรับปรุงด้านพยาบาลผดุงครรภ์ โภชนาการที่ดี การบริการสุขภาพ การเข้าถึงวัคซีน สุขาภิบาลที่ดี ที่อยู่อาศัย และการศึกษาโดยเฉพาะสำหรับมารดา ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้อัตราการตายของเด็กลดน้อยลงอย่างคงที่
จุดที่น่าสนใจอยู่ที่ มีข้อมูลที่สรุปให้เห็นว่าความเสี่ยงของเด็กก่อนอายุ 5 ขวบต่อการตายก่อนวัยอันควรแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศที่พวกเขาเกิดมา โดยเด็กในประเทศซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ยากจนที่สุด มีความเสี่ยง 1 ต่อ 10 ที่จะตายก่อนวัยอันควรหรือภายในช่วง 5 ปีแรก แต่หากเป็นเด็กที่เกิดในประเทศที่ร่ำรวย อัตราการรอดชีวิตจะมีสูงถึง 99.8% ภาพอัตราการตายของเด็กอายุก่อน 5 ปีนี้ สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำของโลกที่มีพัฒนาการดีขึ้น แต่ความก้าวหน้าด้านการพัฒนายังไม่เสมอหน้ากัน ดังภาพ
นอกจากภาพสะท้อนของการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศร่ำรวยและยากจนดังกล่าว ในภาพรวม Our World in Data ซึ่งรวบรวมข้อมูลมาตั้งแต่ ค.ศ. 1800 ชี้ให้เห็นว่าอัตราการตายในเด็กลดลงในทุกภูมิภาคและลดลงในทุกประเทศทั่วโลก โดยในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานี้ถือเป็นช่วงที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและพัฒนารุดหน้าไปในทางที่ดี เช่นเดียวกัน ประเทศที่ร่ำรวยอย่างประเทศไอซ์แลนด์เอง ก็เพิ่งจะบรรลุอัตราการตายของเด็กในระดับที่ต่ำได้สำเร็จเมื่อไม่นานมานี้เมื่อปี 2559
ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันจะมีเด็กที่ตายก่อนวัยอันควรจำนวน 5.4 ล้านคนในทุก ๆ ปี หรือคิดเป็นการตาย 10 คนในทุก ๆ 2 นาที แต่ความพยายามและพัฒนาการเพื่อบรรลุอัตราการตายก่อนวันอันควรของเด็กนั้นเป็นไปได้ เช่นในอดีตที่สะท้อนให้เห็น และอนาคตที่จะสามารถดีขึ้นได้
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้องที่
– SDG Updates | ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ – เมื่อโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง กำหนดสถานะสุขภาพและอายุขัยของคุณไว้แล้วตั้งแต่ยังไม่เกิด
– จะยุติความยากจนอย่างไรภายในปี 2573 เมื่อเกิดใน ‘รัฐที่เปราะบาง’ ก็มีโอกาสยากจนขั้นรุนแรงแล้ว 50%
– การขาดแคลน ‘พยาบาลผดุงครรภ์’ ทำให้สูญเสียชีวิตมารดาและทารกแรกเกิด
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.2) ยุติการตายที่ป้องกันได้ของทารกแรกเกิดและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยทุกประเทศมุ่งลดอัตราการตายของทารกลงให้ต่ำถึง 12 ต่อการเกิด 1 พันคน และลดอัตราการตายในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ลงให้ต่ำถึง 25 ต่อการเกิด 1 พันคน ภายในปี 2573
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำภายในและระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ เกี่ยวข้องโดยตรงกับปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (social determinants of health) หรือเป้าหมาย SDG เป้าหมายอื่นที่ส่งผลให้อัตราการตายในเด็กลดลงได้ อาทิ #SDG2 โภชนาการที่ดี #SDG6 สุขาภิบาลที่ดี #SDG11 ที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย เป็นต้น