เป็นที่ทราบดีว่านโยบายสาธารณะคือ เครื่องมือที่รัฐบาลใช้บริหารประเทศ ที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน นโยบายสาธารณะที่ดีเมื่อนําไปปฏิบัติให้เกิดผลก็จะช่วยแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการบางอย่างของประชาชนได้ แต่ถึงแม้จะมีหลายนโยบายที่น่าสนใจ หรือที่รัฐบาลพิจารณาว่าดีสำหรับทุกคน นโยบายที่ว่านั้นอาจจะไม่สัมฤทธิ์ผลตามที่คาดหวัง และบางนโยบายอาจไม่สามารถเกิดขึ้นจริงเสียด้วยซ้ำ
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? SDG Updates ฉบับนี้ พาทุกคนหาช่องว่างที่ทำให้นโยบายสาธารณะไทย (ยัง) ไปไม่ถึงความยั่งยืน โดยหยิบยกเนื้อความผ่าน 4 มุมมองของคนทำงานด้านนโยบายทั้งในภาควิชาการและภาคประชาสังคม ที่ได้แลกเปลี่ยนกันในเสวนา “ความ (ไม่) ยั่งยืน กับกระบวนการทางนโยบายสาธารณะ” โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา
นโยบายสาธารณะ กับ กระบวนการทางนโยบายสาธารณะ
นโยบายสาธารณะ (Public Policy) แนวทางที่รัฐบาล หรือสถาบัน กำหนดขึ้น อาจทำออกมาในรูปโครงการ แผนการ เพื่อเป็นหนทางชี้นำให้เกิดการปฏิบัติต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับแนวทางที่ตั้งไว้เพื่อแก้ปัญหา[1] หรือตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย คือประชาชนกลุ่มหนึ่ง/ในพื้นที่หนึ่ง ซึ่งอาจไม่ใช่คนทั้งประเทศก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าอยากให้แนวทางนั้นเกิดขึ้นและมีผลต่อกลุ่มเป้าหมายใดบ้าง โดยนโยบายสาธารณะมักจะปรากฎตามการหาเสียงเลือกตั้ง การแถลงนโยบายของรัฐบาลที่เสมือนเป็นการแจ้งให้ประชาชนทราบว่า รัฐบาลมีแนวทางจัดการกับประเด็นต่าง ๆ อย่างไร
ปัจจุบัน นโยบายสาธารณะไม่จำเป็นต้องเกิดจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดจากการผลักดันของประชาชน หรือนักวิชาการก็ได้ ถึงอย่างนั้น การจะทำให้นโยบายสาธารณะเกิดขึ้นจริงและดำเนินต่อไปด้วยความต่อเนื่อง ต้องอาศัยการสนับสนุนโดยรัฐบาลซึ่งเป็นผู้มีอำนาจ และทรัพยากรที่จะทำให้แนวทางตามนโยบายเหล่านั้นเกิดขึ้นได้ในทางปฏิบัติ
จากนโยบายซึ่งเป็นเพียงแนวทางที่เสนอขึ้นสู่การผลักดันให้เป็นรูปธรรม จะต้องผ่านกระบวนการหนึ่งที่เรียกว่า กระบวนการทางนโยบายสาธารณะ (public policy process) หากเทียบขั้นตอนของกระบวนการทางนโยบายสาธารณะให้เห็นภาพชัดขึ้นเป็นเรือที่ต้องการมุ่งไปยังเกาะแห่งหนึ่ง กระบวนการนโยบายสาธารณะคือการเริ่มทำตั้งแต่การจัดหาเชื้อเพลิง ชวนลูกเรือมาทำงาน และพาเรือแล่นผ่านพายุ โจรสลัด ไปจนกว่าจะถึงปลายทาง ซึ่งบางครั้งเรืออาจไปไม่ถึงฝั่งหรือไปถึงจุดหมายปลายทางได้ไม่ดีดั่งตั้งใจหรืออาจไม่ถูกใจผู้โดยสารทุกคนบนเรือลำนั้น นอกจากนั้นแล้ว ตามขั้นตอนของกระบวนการทางนโยบายสาธารณะยังรวมถึงการติดตามและประเมินผลแนวทางและการปฏิบัติที่ได้ลงมือทำไปแล้วด้วย
กระบวนการทำนโยบายสาธารณะจึงเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ในรายละเอียดแท้จริงแล้วไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาซึ่งอาจจะขึ้นอยู่กับบริบทเฉพาะของพื้นที่หนึ่ง และปัจจัยแวดล้อมทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ตลอดจนการสนับสนุนให้มีพื้นที่แสดงความคิดเห็น การเข้ามามีส่วนร่วมและท่าทีของผู้มีส่วนได้เสียในนโยบายและตลอดทั้งกระบวนทางนโยบายดังกล่าวด้วย จึงไม่ง่ายเลยที่นโยบายสาธารณะและกระบวนการนโยบายสาธารณะจะมีความยั่งยืน แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้
กระบวนการนโยบายสาธารณะที่ยั่งยืนควรเป็นอย่างไร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชล บุนนาค ผู้อำนวยการ SDG Move ได้เสนอมุมมองดังกล่าวเอาไว้ในตอนหนึ่งของการเสวนา พิจารณาความยั่งยืนของนโยบายสาธารณะด้วยกรอบหลักการของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยมองว่ากระบวนการนโยบายสาธารณะของไทยในปัจจุบันจะตอบเป้าหมาย SDGs “ได้เพียงเล็กน้อย” เท่านั้น เนื่องจากเหตุผล 5 ข้อ ดังนี้
1. ขาดการมองการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวกับ SDGs อย่างเป็นระบบ
2. ขาดการวางแผนและดำเนินการอย่างบูรณาการ กล่าวคือ ขาดเครื่องมือและศักยภาพในการวางแผนและขับเคลื่อนแบบบูรณาการข้ามประเด็น ขาดความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดการผลกระทบความยั่งยืนที่ประเทศหนึ่งไปสร้างในอีกประเทศหนึ่ง และขาดความจริงใจในการจัดการกับผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นจากนโยบาย
3. ขาดการมีส่วนร่วมโดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น กล่าวคือ ขาดการมีส่วนร่วมและ ‘ความเป็นเจ้าของ’ (Ownership) จากภาคส่วนต่าง ๆ และไม่มีกลไกเอื้อให้เกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนจริง สำหรับภาคส่วนนอกภาครัฐ และท้องถิ่น
4. ขาดระบบข้อมูล การติดตามตัวชี้วัดที่มีประสิทธิภาพ ทันการณ์ และมีส่วนร่วมในการติดตามของภาคประชาสังคม
5. ขาดการบูรณาการหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนรวมถึงพิจารณาผลกระทบต่อ SDGs ที่สืบเนื่อง/เกี่ยวข้องจากนโยบายอื่น
ในทางกลับกัน เมื่อมองจากข้อที่ขาดหายไปจากการทำนโยบายให้มีความยั่งยืนข้างต้น จึงตั้งข้อสังเกตได้ว่านโยบายสาธารณะที่มีความยั่งยืน จำเป็นต้องขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ วางแผนดำเนินการอย่างบูรณาการภายใต้การมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและชุมชนตลอดทั้งกระบวนการทางนโยบาย โดยมิใช่เพียงการรับฟังความเห็นแต่เพียงเท่านั้น นอกจากนี้ ยังต้องมีข้อมูลสำหรับการติดตามประเมินผลอย่างทันการณ์ มีประสิทธิภาพ และเปิดกว้างให้ภาคประชาสังคมเข้ามีส่วนร่วมได้
อะไรทำให้กระบวนการนโยบายสาธารณะไม่ยั่งยืน
มุมมองจาก ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรฒน์ กรรมการกำกับกิจการพลังงานและผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (GSEI) มองว่า ปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้กระบวนการนโยบายสาธารณะไม่ยั่งยืนเกิดจาก 4 ปัจจัยทางกลไก กฎระเบียบ และเครื่องมือ ดังนี้
1. โมเดลคณะกรรมการ
ซึ่งเป็นโมเดลกระบวนการทางนโยบายสาธารณะภาครัฐ อันประกอบด้วยผู้แทนจากเกือบทุกภาคส่วน แต่อาจมีข้อจำกัดด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และการที่กรรมการเหล่านี้ไม่สามารถตัดสินใจเชิงนโยบายและการนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง
ยกตัวอย่างเช่น คณะกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบไปด้วยนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ และผู้แทนจากนอกภาครัฐ ได้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิที่ฝ่ายการเมืองได้คัดเลือก และผู้แทนจากภาคเอกชน อย่างไรก็ดี แม้ภาคเอกชนจะเข้ามามีส่วนร่วม แต่ก็ยังอยู่ในวงที่จำกัด ด้วยเหตุที่ต้องมีสถานะที่กฎหมายรองรับ อาทิ สภาหอการค้า และสภาอุตสาหกรรม ซึ่งมักจะเป็นผู้แทนหลักจากภาคเอกชน มีคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) เข้ามามีส่วนร่วมในบางช่วงบางตอน อย่างไรก็ดี องค์ประกอบเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ายังมีข้อจำกัดด้านการเข้ามามีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม และการที่กรรมการเหล่านี้ไม่สามารถที่จะตัดสินใจเชิงนโยบายและนำไปสู่การปฏิบัติได้
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับโมเดลคณะกรรมการที่สำคัญมาจาก ตำแหน่งกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเป็นผู้ให้ความคิดเห็นต่อคณะกรรมการนั้น อาจมีการสลับหมุนเวียนหรือโยกย้ายภายในหน่วยงานนั้น ๆ ทำให้ความคิดเห็นจากผู้แทนคนเดิมกับผู้แทนคนใหม่ที่แต่งตั้งอาจไม่สอดคล้องกัน หรือความคิดเห็นที่เคยให้ร่วมกันไว้กับที่ประชุมคณะกรรมการนั้นถูกโต้แย้งจากหนังสือของหน่วยงานเมื่อได้รับหนังสือจากสำนักเลขารัฐมนตรีเพื่อขอความคิดเห็นจากหน่วยงาน ทำให้นโยบายที่เป็นผลผลิตจากโมเดลคณะกรรมการอยู่ในรูปของการประนีประนอมด้านความคิดเห็นต่อนโยบายจากทั้งในหน่วยงานด้วยกันเองและหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ การจะผลักดันและพัฒนานโยบายให้ก้าวไปข้างหน้ากลับถูกจำกัดด้วยโมเดลคณะกรรมการของภาครัฐเอง
2. เครื่องมือในการตัดสินใจทางนโยบาย
ยกตัวอย่างในกรณีของสิ่งแวดล้อม จะอาศัยเครื่องมือสำคัญ คือ
- การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment – EIA) ยังมีข้อจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะกลไกในการติดตามการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนดไว้
- การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental. Assessment – SEA) แม้จะมีการระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ว่าต้องมีสถานะทางกฎหมายรองรับเรื่อง SEA แต่ปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการในทางปฏิบัติ
- ตัวชี้วัด (indicators) โดยเฉพาะตัวชี้วัดระดับสากล อาทิ WJP Index และ SDGs ซึ่งมักถูกนำมาใช้เพื่อวัดผลภายหลังจากตัดสินใจทางนโยบายและดำเนินการไปแล้ว แต่กลับไม่ได้นำรายละเอียดของตัวชี้วัดเหล่านั้นมาประกอบในขั้นตอนการตัดสินใจทางนโยบายตั้งแต่ต้น
3. ระเบียบ กฎ และกติกาเกี่ยวกับกระบวนการมีส่วนร่วม
แม้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีจะมีที่ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมถึงการสำรวจความคิดเห็น การปรึกษาหารือ การร่วมวางแผน การร่วมตัดสินใจ การร่วมดำเนินการ หรือการร่วมตรวจสอบ นอกจากนี้ ร่างพระราชบัญญัติการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะยังถูกปฏิเสธ เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามองว่าหลักการดังกล่าวถูกกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติอื่น ๆ แล้วเท่ากับวันนี้ บางประเด็นที่เกี่ยวกับกระบวนการมีส่วนร่วมนั้น ยังไม่มีกฎหมายรองรับ
4. ขาดความรู้และการพัฒนา
การออกแบบกลไกเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายสาธารณะของภาครัฐ แทบทุกกฎหมายจะดำเนินการโดยโมเดลคณะกรรมการตามที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่ยังขาดความรู้ และงานวิจัยที่จะนำมาพัฒนา “Innovation Model” สำหรับภาครัฐในการวางองค์ประกอบของการกำหนดนโยบายสาธารณะ
ด้าน ดร.กฤษดา บุญชัย สถาบันชุมชนเพื่อท้องถิ่นพัฒนา ให้ความเห็นโดยชวนตั้งคำถามกับ “ความ (ไม่) ยั่งยืน” โดยเสนอให้เห็นผลกระทบจากการพัฒนาที่ไม่สมดุล จากการยึดรัฐบาลเป็นศูนย์กลางหรืออุตสาหกรรมนิยมเป็นศูนย์กลาง ทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้นมาใหม่คือ
- ตั้งคำถามต่อการพัฒนาเศรษฐกิจว่า ทำไมต้องแยกออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ สังคม และการเมือง กล่าวคือ การกำหนดให้กรอบทางเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง มีกลไก เครือข่าย และมีปริมณฑลที่สนับสนุนกรอบดังกล่าวให้เติบโตแยกส่วนจากกรอบอื่น ๆ และกลับมากำกับหรือจัดระเบียบสังคมและด้านอื่น ๆ
- ตั้งถามต่อระบบการพัฒนาแบบแผนเดี่ยว ที่กำกับอำนาจโดยศูนย์กลางทางเศรษฐกิจเมืองแบบครอบงำ โดยคำว่าศูนย์กลางในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นศูนย์กลางโดยรัฐบาลอย่างเดียว แต่ยังหมายรวมถึงศูนย์กลางทางธุรกิจ เป็นต้น ที่มีระบอบและอำนาจที่สามารถริเริ่มออกแบบการพัฒนาได้
- ตั้งคำถามต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ก้าวข้ามขีดจำกัดของธรรมชาติ (Limits to Growth) กล่าวคือ การที่การเติบโตทางเศรษฐกิจกระทบต่อขีดจำกัดทางธรรมชาติ อาทิ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และความผันผวนของระบบนิเวศ
คำถามและแนวคิดทั้ง 3 ข้อที่ยกมานี้ปรากฎขึ้นมาเรื่อย ๆ ประกอบสร้างและให้ความหมาย ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’
การพัฒนาที่ยั่งยืนกับนโยบายสาธารณะปรากฏชัดเจนจากการประชุมสุดยอดโลก ในปี 2535 ที่เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน ในขณะเดียวกันนั้น องค์การการค้าโลก (WTO) กำลังจะก่อตั้งขึ้น และมีความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement) สำหรับประเทศไทยเอง ปรากฏการพัฒนาที่ยั่งยืนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 7 ปี 2535 ถึงปัจจุบัน โดยกลุ่มเครือข่ายกลไกที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและนโยบายสาธารณะ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ต่างเอาคำว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” มาต่อท้าย เพื่อสร้าง Branding และจุดเชื่อมเข้ากับนโยบายสาธารณะ ผลก็คือ เรามีนโยบายสาธารณะที่อ้างอิงการพัฒนาที่ยั่งยืนมากมาย แต่ไม่ได้ผลิตซ้ำความหมายจากรากเดิม แต่ใช้ขยายแนวคิด อำนาจ และพื้นที่สาธารณะของตน โดยที่ทิศทางการพัฒนาไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมเลย
มุมมองของอาจารย์กฤษดา จึงชวนตั้งข้อสังเกตถึงการใช้ความยั่งยืนเป็นภาพลักษณ์หรือ Branding มากกว่าจะนำเข้าไปสู่กระบวนการเชิงนโยบายจริง ๆ
สุดท้ายมุมมองด้านปัญหาความสมดุลทางความรู้ โดยอาจารย์ปกรณ์ เลิศเสถียรชัย สถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ก็เป็นประเด็นหลักที่ส่งผลต่อกระบวนการทางนโยบายสาธารณะ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยบทบาทของความรู้ใน 3 ประการ ดังนี้
● ประการแรก การคิดข้ามศาสตร์หรือสหวิทยาการ ยกตัวอย่างเช่น การสนับสนุนให้ระบบวิจัยเป็นการคิดข้ามศาสตร์สาขาวิชามากกว่าการอิงเฉพาะศาสตร์เดียว อาทิ การคิดข้ามสังคมศาสตร์-วิทยาศาสตร์
นอกจากระบบวิจัยแล้ว รวมถึงการทำโครงการขนาดใหญ่ ที่ต้องทำงานร่วมกันหลายสาขาวิชา อาทิ การทำงานร่วมกันของสายสังคมศาสตร์-สายวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางสังคมโดยที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องประเด็นนี้ในต่างประเทศมีการศึกษากัน ที่เรียกว่า “Last Technical System” เทคโนโลยีที่เข้าไปอยู่ในระบบสังคมนั้น จะขับเคลื่อนไปได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องมีมนุษย์เข้ามาควบคุม
● ประการที่สอง จินตนาการและความหวัง คือ การหาวิธีเปิดจินตนาการทางสังคมให้กว้างขึ้น ให้การเรียนรู้และการพัฒนาเห็นถึงโครงสร้างใหญ่หรือความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น โดยต้องมองให้พ้นจากปรากฏการณ์ที่อยู่ตรงหน้า
● ประการที่สาม อารมณ์ความรู้สึกร่วม คือ การมองให้พ้นไปจากภววิสัยและอัตวิสัย แต่มองให้เป็นเรื่องของส่วนรวมด้วย
จากมุมมองของคนทำงานด้านนโยบายทั้ง 4 ท่านดังที่หยิบยกมานี้ จะเห็นได้ว่าการจัดทำและกระบวนการทางนโยบายสาธารณะให้มีความยั่งยืนในทุกระดับ โดยยังประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมายและบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่มุ่งหวังนั้น มีรายละเอียดที่ซับซ้อนและต้องอาศัยปัจจัยหลายประการประกอบกันทั้งในการวางรากฐานและการเกื้อหนุน โดยมีทั้งระบบ กลไก กฎระเบียบ เครื่องมือ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ไปจนถึงระดับความรู้ของปัจเจกบุคคลและสังคม และเมื่อใช้กรอบเหล่านี้ย้อนกลับมามองนโยบายสาธารณะของไทยอีกครั้ง อาจจะช่วยตอบคำถามได้ชัดขึ้นว่า ทำไมนโยบายสาธารณะไทย (ยัง) ไปไม่ถึงความยั่งยืนเสียที
พิมนารา อินต๊ะประเสริฐ – เรียบเรียง
ถิรพร สิงห์ลอ – พิสูจน์อักษร
อ่าน SDG Vocab ที่เกี่ยวข้องที่:
SDG Vocab | 51 – Rule of Law – หลักนิติธรรม
SDG Vocab | 52 – Effective Institutions – สถาบันที่มีประสิทธิผล
SDG Vocab | 58 – policy coherence – ความสอดคล้องเชิงนโยบาย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
SDG Updates | Six Transformations to Achieve the Sustainable Development Goals – แนวคิดการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานเพื่อบรรลุ SDGs ให้ทันเวลา
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG16 สังคมที่สงบสุข ยุติธรรม มีส่วนร่วม ครอบคลุม สถาบันมีประสิทธิผล โปร่งใส
-(16.3) ส่งเสริมนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมแก่ทุกคน
-(16.6) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดรับชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ
-(16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
-(16.10) สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ
#SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน
-(17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
-(17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม โดยสร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
-(17.18) ยกระดับการสนับสนุนด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ให้เพิ่มการมีอยู่ของข้อมูลที่มีคุณภาพ ทันเวลาและเชื่อถือได้ ที่จำแนกในเรื่องรายได้ เพศ อายุ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สถานะการอพยพ ความบกพร่องทางร่างกาย ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และคุณลักษณะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามบริบทของประเทศ ภายในปี 2563
-(17.19) ต่อยอดจากข้อริเริ่มที่มีอยู่แล้วในการพัฒนาการตรวจวัดความก้าวหน้าของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และสนับสนุนการสร้างขีดความสามารถด้านสถิติในประเทศกำลังพัฒนา ภายในปี 2573
ทั้งนี้ ประเด็นนโยบายสาธารณะที่ยั่งยืนยังสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับการบรรลุเป้าหมายตามการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมาย โดยเฉพาะตามหลักการการพัฒนาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังด้วย (inclusive development)
[1] https://so03.tci-thaijo.org/index.php/JMND/article/download/251146/168500/
Last Updated on กันยายน 7, 2021