Site icon SDG Move

SDG Vocab | 58 – Policy Coherence – ความสอดคล้องเชิงนโยบาย

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD) นิยามความสอดคล้องเชิงนโยบายเอาไว้ว่าเป็นการส่งเสริมเชิงระบบให้หน่วยงานและส่วนงานภาครัฐต่าง ๆ (ตลอดจนภาคส่วนอื่นของสังคม) มีการดำเนินการตามนโยบายที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน โดยเป็นไปอย่างเสริมพลังกัน (synergy) และไม่ขัดแย้งกันเอง เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ตั้งไว้ร่วมกันหรือบรรลุเป้าหมายที่ยึดถือร่วมกัน

เพราะหน่วยงานและส่วนงานภาครัฐต่างมีภารกิจ ความรับผิดชอบ หรือกิจกรรมที่หลากหลายกว้างขวาง และในบางครั้งอาจมีผลประโยชน์ที่ต่างกัน หรือผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการหนึ่งอาจส่งผลกระทบเชิงลบ (negative effects / spillovers) สร้างความตึงเครียด หรือความขัดแย้งระหว่างหน่วยงาน/ส่วนงานอื่นภายในภาครัฐด้วยกัน (ตลอดจนภาคส่วนอื่นของสังคม) ส่วนในระดับระหว่างประเทศก็อาจจะเป็นในเชิงของนโยบายการค้า หรือนโยบายการให้ความช่วยเหลือของรัฐผู้ให้ ที่อาจจะสนับสนุน/เป็นประโยชน์ต่อแต่ละประเทศหรือความเป็นอยู่ของชุมชนในประเทศหนึ่งได้อย่างไม่เสมอหน้ากัน กระทบกระทั่งกัน สร้างอุปสรรค หรือเป็นอันตรายมากกว่าผลดี

จะเห็นว่านโยบายมีส่วนที่ต้องตัดสินใจเรื่อง ‘trade-offs’ อยู่ว่าจะเลือกทางเลือกใดให้ประสานผลประโยชน์ของแต่ละประเด็นและส่วนงานได้สอดคล้องกัน ‘ความสอดคล้องเชิงนโยบาย’ จึงความสำคัญ เพราะเป็นความพยายามหาวิธีไขปัญหาเชิงระบบ เพื่อจัดการกับปัญหาที่ซับซ้อน ซ้อนทับ และเชื่อมโยงกันที่แต่เดิมแต่ละหน่วยงาน/ส่วนงานอาจทำในส่วนของใครของมัน แยกส่วนมิติสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการ/การปกครองออกจากกัน ให้มาขบคิดพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและตัดสินใจ ‘ร่วมกัน’ เพื่อจัดการประเด็นนั้นในคราวเดียว ป้องกันไม่ให้ผลลัพธ์จากการดำเนินการขัดแย้งหรือกีดขวางกันเอง เป็นไปอย่างส่งเสริมกัน เป็นไปโดยที่ได้รับการสนับสนุนและเป็นประโยชน์ต่อส่วนมาก และเป็นไปโดยสอดคล้องกับกฎหมาย/ข้อตกลงระหว่างประเทศด้วย

หลักการความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาจากทางฝากของ OECD และ European Union Policy Coherence for Development มีที่เรียกว่า Policy Coherence for Development (PCD) ขณะเดียวกัน คำเฉพาะที่ใช้เรียกความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 เรียกว่า Policy Coherence for Sustainable Development (PCSD) ซึ่งเป็นการสะท้อนประเด็นเชิงระบบ เสริมวิธีการดำเนินการ (Means of Implementation) หรือเป้าหมาย #SDG17 ว่าด้วยเรื่องหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เข้มแข็งเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายอื่น ๆ ของ SDGs ที่ย้ำความสอดคล้องเชิงนโยบายในภาพระดับโลก ว่าไม่ว่าจะเป็นนโยบายใด ภายในประเทศหรือระหว่างประเทศ ต่างส่งผลลัพธ์ของการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกแห่งหนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

คีย์เวิร์ดเป้าหมายสำคัญของความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อยู่ที่

ภาพกรอบการวิเคราะห์ความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย OECD เข้าถึงรายละเอียด ที่นี่
ภาพ 4 มิติของความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย ECDPM เข้าถึงรายละเอียด ที่นี่

โดยจะต้องมีความร่วมมือให้มากขึ้นระหว่างหน่วยที่มีอำนาจในการตัดสินใจเชิงนโยบายในประเด็นต่าง ๆ อาทิ ภาคเกษตรกรรม ภาคการประมง ภาคสาธารณสุข และการจะเสริมพลังกันได้จะต้องใช้เครื่องมือที่ผสมผสานและหลากหลายมากกว่าการใช้เครื่องมือทางนโยบายเครื่องมือเดียว มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถภาครัฐ ขณะเดียวกับที่ตระหนักว่าการได้มาซึ่งความสอดคล้องเชิงนโยบายยังเป็นเรื่องของ ‘การเมือง’ ด้วย กล่าวคือ เป็นกระบวนการที่ถกเถียงและหารือถึงมาตรการว่าอะไรน่าจะดีกว่าอะไร ควรทำอะไรมากกว่า เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า หรือส่งผลกระทบเชิงลบน้อยกว่า เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ยากยิ่งที่สุดของการถ่าย SDGs สู่การปฏิบัติด้วย

คำว่า ความสอดคล้องเชิงนโยบาย ปรากฎอยู่ใน ‘#SDG17 – (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’

Target 17.14: Enhance policy coherence for sustainable development

● อ่านเพิ่มเติมความสำคัญของ ‘ความสอดคล้องเชิงนโยบาย’ ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่:
Why is policy coherence essential for achieving the 2030 Agenda? (UNSSC)


SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs

หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ

แหล่งที่มา:
Policy Coherence for Sustainable Development in the SDG Framework (OECD)
Policy coherence (ecdpm)
Policy coherence (globalnaps.org)

Author

  • Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

Exit mobile version