นโยบายใหม่ให้มีลูกได้ 3 คนของจีนเผชิญแรงต้าน เมื่อการมีลูกมีราคาแพงและผู้หญิงยังประสบกับความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ

ในปี 2562 อัตราการเกิดในจีนมีระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 70 ปีตั้งแต่ที่มีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อมาในปี 2563 เด็กเกิดใหม่ลดต่ำลงอีก 18% หมายความประเทศซึ่งมีประชากรมากที่สุดในโลกที่ 1.4 พันล้านคน กำลังเผชิญกับปัญหาการเกิดน้อยลงที่น้อยกว่า 2 คนต่อ 1 ครรภ์มารดา เรียกได้ว่าจีน รวมถึงญี่ปุ่น และเกาหลี ต่างก็เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่เผชิญกับวิกฤติด้านจำนวนประชากร

แม้เดิมที่จีนจะจัดการปัญหาประชากรล้นเกินและความยากแค้นด้วยนโยบายลูกคนเดียว (one-child policy) มาในวันนี้ที่สภาพเศรษฐกิจเติบโตมาก เต็มไปด้วยประชากรผู้สูงวัยแต่ขาดแคลนแรงงาน จีนจึงปรับตัวด้วยการสนับสนุนให้ครัวเรือนมีลูกกันมากขึ้น โดยภายหลังปี 2559 จวบจนการผลักดันนโยบายสู่กฎหมายใหม่เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนสนับสนุนให้สามารถมีลูกได้ถึง 3 คนต่อครอบครัว

ถึงกระนั้น ปัญหาจำนวนประชากรที่ลดลงมากของจีนอาจไม่ถูกแก้ไขไปโดยง่าย เมื่อเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมไม่เอื้ออำนวยให้ผู้หญิงมีความพร้อมหรือตัดสินใจที่จะมีลูก ไม่ว่าจะ 1 คน หรือ 3 คนก็ตาม

กล่าวคือ สภาพเศรษฐกิจปัจจุบันของจีนมาพร้อมกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น คนเมืองอาจเผชิญกับปัญหาค่าจ้างที่ไม่เพิ่มขึ้น โอกาสงานที่น้อยลง ชั่วโมงการทำงานที่หนักหน่วง การมีลูกจึง ‘มีราคาแพง’ ในสังคมจีน ทั้งยังมีประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศในที่ทำงาน บทบาทและความรับผิดชอบของพ่อ – แม่ที่บ้านที่ไม่เท่าเทียมกันด้วย โดยผู้หญิงมักจะถูกคาดหวังให้เป็นแม่บ้านและดูแลลูก นอกจากนี้ จีนยังไม่มีกฎหมายระดับชาติที่อนุญาตให้ผู้เป็นพ่อลางานเพื่อเลี้ยงดูลูกด้วย (paternity leave) ในแง่นี้จึงทำให้ภาระความรับผิดชอบเรื่องลูกตกอยู่ที่ผู้หญิง หรือผู้หญิงจะต้องหาวิธีสร้างสมดุลระหว่างบทบาทคนทำงานและบทบาทความเป็นแม่

ประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงและห่วงกังวลในสังคมจีน เพราะเกรงว่าจะทำให้สถานการณ์/เงื่อนไขที่มีต่อผู้หญิงที่ทำงานหาเลี้ยงตัวเองย่ำแย่ลง โดยข้อมูลจากรายงาน Human Rights Watch (HRW) เมื่อต้นปีที่ผ่านมาสนับสนุนว่า ในบางบริษัท พนักงานผู้หญิงถูกสั่งให้รอจนกว่าจะถึงเวลาที่จะสามารถลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ (maternity leave) หรือหากตั้งครรภ์ก่อนที่ช่วงเวลากำหนดอนุญาตให้ตั้งครรภ์ ก็อาจจะถูกไล่ออกหรือถูกลงโทษได้

แม้พรรคคอมมิวนิสต์จะตระหนักและพยายามจัดการปัญหาข้างต้นด้วยการยืนกรานที่จะปกป้องสิทธิผู้หญิงในการทำงาน รวมถึงการจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกหรือพื้นที่สำหรับการดูแลลูกในที่ทำงาน ไปจนถึงการสนับสนุนด้วยมาตรการทางการเงิน ภาษี ประกัน การศึกษา ที่อยู่อาศัย และงาน เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับครอบครัวที่วางแผนจะมีลูก แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานที่ชี้ชัดถึงพัฒนาการบังคับใช้ความตั้งใจดังกล่าว

หากจีนจะแก้ปัญหาวิกฤติประชากรศาสตร์นี้ อาจจะต้องทำมากกว่าการสนับสนุนให้มีลูกผ่านทางกฎหมาย แต่จะต้องรวมถึงสภาพแวดล้อมในสังคมที่ปกป้องสิทธิผู้หญิงและเอื้อให้สามารถมีลูกได้โดยไม่เป็นภาระทั้งทางการเงินหรือทางหน้าที่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
China NPC: Three-child policy formally passed into law (BBC)

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.7) สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงบริการ ข้อมูล การให้การศึกษาเกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า รวมถึงการวางแผนครอบครัว และวางแผนเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ในยุทธศาสตร์และแผนงานระดับชาติ ภายในปี 2573
#SDG5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศและเสริมพลังอำนาจแก่ผู้หญิง
-(5.4) ยอมรับและให้คุณค่าต่อการดูแลและการทำงานบ้านแบบไม่ได้รับค่าจ้าง โดยจัดเตรียมบริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานและนโยบายการคุ้มครองทางสังคม และสนับสนุนความรับผิดชอบร่วมกันภายในครัวเรือนและครอบครัว ตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ
-(5.5) สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ และมีโอกาสเท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในทางการเมือง เศรษฐกิจ และภาคสาธารณะ
-(5.6) สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงสุขนามัยทางเพศ อนามัยการเจริญพันธุ์ และสิทธิการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า ตามที่ตกลงในแผนปฏิบัติการของการประชุมนานาชาติว่าด้วยประชากรและการพัฒนา และแผนปฏิบัติการปักกิ่งและเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมทบทวนเหล่านั้น
-(5.c) เลือกใช้และส่งเสริมนโยบายที่ดีและกฎระเบียบที่บังคับใช้ได้ เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการให้อำนาจแก่ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคนในทุกระดับ
#SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่มีคุณค่า
-(8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน โดยเฉพาะแรงงานหญิง

ทั้งนี้ รวมถึงประเด็นบริการขั้นพื้นฐานที่มีราคาหาซื้อได้ด้วย (affordable)

แหล่งที่มา:
China Wants More Babies But There’s A Problem (The ASEAN Post)

Last Updated on กันยายน 7, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น