7 ข้อเสนอเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เพื่อแบ่งงานดูแลที่ไม่ได้รับค่าจ้างอย่างเท่าเทียมมากขึ้นระหว่างหญิงชาย

ข้อมูลจากรายงาน ‘State of the World’s Fathers‘ ประจำปี 2021 แสดงให้เห็นว่า ผู้ชายมีส่วนร่วมในงานดูแลมากขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่โลกยังต้องใช้เวลาอีกนานเพื่อให้บรรลุความเท่าเทียมทางเพศในงานดูแลที่ไม่ได้รับค่าจ้าง

Unpaid Care Work คือ งานดูแลที่ไม่ได้รับค่าจ้าง หมายถึง งานดูแลและบริการที่ไม่ได้รับค่าจ้างทั้งหมดที่ทำเพื่อสมาชิกในครัวเรือน (domestic care) ทั้งการดูแลสมาชิกโดยตรง เช่น การดูแลเด็กหรือผู้สูงอายุ และการดูแลโดยอ้อม เช่น การทำอาหาร การทำความสะอาดบ้าน การไปตักน้ำหรือเก็บฟืนมาสำรองไว้ใช้ในครัวเรือน รวมถึงงานอาสาบริการชุมชนที่ทำโดยไม่รับเงิน โดยกิจกรรมเหล่านี้ถือเป็น ‘งาน’ เพราะเราสามารถจ้างบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คนในบ้านมาเป็นผู้ดูแลได้

รายงานฉบับนี้จัดทำโดย MenCare แคมเปญระดับโลกที่นำโดย Promundo-US และ Sonke Gender Justice เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ชายในฐานะผู้ดูแล พบว่า ด้วยอัตราความก้าวหน้าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จำเป็นต้องใช้เวลาอีก 92 ปี เพื่อให้การแบ่งงานดูแลที่ไม่ได้รับค่าจ้างเป็นไปอย่างเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง เพราะในขณะนี้ ผู้หญิงทั่วโลกใช้เวลาเพื่องานดูแลต่าง ๆ มากกว่าผู้ชายถึงสามเท่า

ข้อมูลจากสำรวจใน 47 ประเทศ พบว่า แม้ว่าการล็อกดาวน์จากการระบาดของโควิด-19 จะทำให้ผู้ชายได้มีส่วนร่วมในการทำงานดูแลมากขึ้น แต่ผู้หญิงก็ต้องทำงานดูแลเพิ่มขึ้นเช่นกัน นอกจากนั้น ทั้งชายและหญิงในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาตอนใต้ระบุว่า พวกเขาได้รับความช่วยเหลือในการทำงานดูแลที่ไม่ได้ค่าจ้างจากลูกสาวมากกว่าจากลูกชาย

รายงาน State of the World’s Fathers เสนอ 7 วิธีการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อลดอุปรรคในการแบ่งภาระงานดูแลที่ไม่ได้รับค่าจ้างระหว่างหญิงชายให้เท่าเทียมกันมากขึ้น ได้แก่

  1. มีนโยบายระดับชาติด้านงานดูแลและการรณรงค์เพื่อสร้างการตระหนัก ยอมรับ ลด และแบ่งภาระงานดูแลอย่างเท่าเทียมกันระหว่างผู้ชายและผู้หญิง
  2. มีนโยบายระดับชาติสำหรับการลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตร การปกป้องตำแหน่งงาน และได้รับค่าจ้างเต็มจำนวนอย่างเท่าเทียมกันให้ผู้ปกครองทั้งสองฝ่าย
  3. ออกแบบและขยายโปรแกรมการคุ้มครองทางสังคมเพื่อแบ่งงานดูแลระหว่างผู้หญิงและผู้ชายอย่างเท่าเทียมกัน โดยให้ความสำคัญกับความต้องการและสิทธิของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง
  4. ปฏิรูปสถาบันภาคสุขภาพเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพ่อตั้งแต่ช่วงก่อนคลอดไปจนถึงตอนเกิดและวัยเด็ก และการมีส่วนร่วมของผู้ชายในฐานะผู้ดูแลบุตร
  5. ส่งเสริมให้ผู้ชายเรียนรู้จริยธรรมด้านงานดูแล ทั้งในโรงเรียน สื่อ และสถาบันสำคัญอื่น ๆ ที่มีส่วนสริมสร้างบรรทัดฐานทางสังคมในหน้าที่งานดูของผู้ชาย
  6. เปลี่ยนสภาพแวดล้อม วัฒนธรรม และนโยบายในที่ทำงานเพื่อสนับสนุนการให้การดูแลบุคลากร และกำหนดให้การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นกฎหมายระดับประเทศ
  7. ให้ผู้นำทางการเมืองฝ่ายชายเป็นผู้รับผิดชอบการสนับสนุนนโยบายด้านการดูแล และสนับสนุนความเสมอภาคของผู้หญิงในการเป็นผู้นำทางการเมือง

นอกจากนี้ รายงานยังนำเสนอ ตัวอย่างของการดำเนินการที่เริ่มต้นขึ้นแล้ว เช่น การปรับปรุงกฎหมายแรงงานของแอฟริกาใต้ล่าสุด เพื่อให้สามารถลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้อย่างเท่าเทียมกัน และการฝึกอบรมและการรณรงค์สร้างความตระหนักเกี่ยวกับบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมที่เป็นอันตรายในการเลี้ยงดูบุตร ความรุนแรงระหว่างเพศ และความรุนแรงต่อเด็กในแทนซาเนีย โดยให้สื่อมวลชน สถาบันทางศาสนา และเซเลบริตี้ในการผลักดันข้อความสู่วงกว้าง เป็นต้น

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศ
- (5.4) ยอมรับและให้คุณค่าต่องานดูแลและการทำงานบ้านแบบไม่ได้รับค่าจ้าง โดยจัดเตรียมบริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานและนโยบายการคุ้มครองทางสังคมให้ และสนับสนุนความรับผิดชอบร่วมกันภายในครัวเรือนและครอบครัวตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
- (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายค่าจ้างที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
- (8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย

ที่มา : Unpaid care work still falls on women: seven steps that could shift the balance (The Conversation)

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น