อนามัยเจริญพันธุ์ของผู้ชายทั่วโลกประสบกับปัญหาภาวะมีบุตรยาก (infertility) มาเป็นระยะเวลานานตั้งแต่ห้วงคริสต์ทศวรรษ 1990 การศึกษาในปี 1992 และการศึกษาในปี 2017 ต่างยืนยันว่า ปริมาณและความเข้มข้นของสเปิร์ม ซึ่งเป็นวิธีการประเมินภาวะมีบุตรยากของผู้ชายนั้น ลดลงประมาณ 50-60% การศึกษาในปี 2019 พบว่า ลักษณะการเคลื่อนตัวของสเปิร์มลดลงประมาณ 10% ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา ส่วนในกรณีของสหรัฐฯ ภาวะการมีบุตรยากพบได้ในคู่รักเกือบ 1 ใน 8 คู่
นักวิจัยและแพทย์พยายามศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการมีลูกยาก โดยพบว่ามีปัจจัยที่หลากหลายตั้งแต่โรคอ้วน ความไม่สมดุลของฮอร์โมน และโรคทางพันธุกรรม แต่ปัจจัยที่น่าห่วงกังวลมากขึ้น และเป็นไปได้ว่าอาจส่งผลให้ผู้ชายผลิตสเปิร์มได้น้อยลง หรือสเปิร์มที่ผลิตได้แข็งแรงน้อยลง มาจากการสัมผัสกับสารพิษต่อสิ่งแวดล้อม (environmental toxic exposure)
การศึกษา Impact of environmental toxin exposure on male fertility potential เน้นประเด็นศึกษาความเป็นไปได้ข้างต้น โดยโฟกัสที่ ‘สารรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ’ (Endocrine-Disrupting Chemicals: EDCs) ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาภาวะมีบุตรยาก ส่งผลต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพอารมณ์ ตัวอย่างเช่น
- ยาฆ่าแมลงและยาฆ่าวัชพืช ที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่ออนามัยเจริญพันธุ์ (fertility)
- โลหะหนัก อาทิ แคดเมียม ตะกั่ว สารหนู ซึ่งอาจพบได้ในอาหาร น้ำ และเครื่องสำอางนั้น เป็นอันตรายต่อสุขภาพของสเปิร์ม
- เช่นเดียวกับ แก็ซมีพิษ และวัสดุสังเคราะห์อื่น ๆ
- สารทาเลต (Phthalate) หรือพลาสติไซเซอร์ (plasticizers) ที่ให้ความเหนียวและยืดหยุ่น และมักใช้ในอุตสาหกรรมผลิตผลิตภัณฑ์/อุปกรณ์พลาสติกต่าง ๆ ซึ่งการสัมผัสกับพลาสติไซเซอร์สัมพันธ์กับการได้รับผลกระทบเชิงลบต่อฮอร์โมนเทสโทสเตอร์โรนในเพศชาย และสุขภาพของสเปิร์ม
นอกจากสารพิษต่อสิ่งแวดล้อมที่มาจากตัวอย่างสารเคมีข้างต้น มลพิษทางอากาศในเมือง อาทิ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ ต่างก็มีผลต่อคุณภาพของสเปิร์มด้วยเช่นกัน และการสัมผัสกับรังสีจากคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ ยังส่งผลต่อปริมาณสเปิร์มที่ลดน้อยลง หรือทำให้สเปิร์มผิดปกติ/เสียรูปด้วย
Ryan P. Smith รองศาสตราจารย์ด้านโรคท่อปัสสาวะ มหาวิทยาลัย Virginia นำเสนอตัวอย่างสถานการณ์ด้านสารเคมีและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมสารเคมีในสหรัฐฯ เอาไว้ว่า ปัจจุบัน มีสารเคมีกว่า 80,000 ชนิดที่จดทะเบียนในประเทศ และในทุก ๆ ปี จะมีสารเคมีใหม่เกือบ 2,000 ชนิดที่มีการประกาศใหม่ อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์มองว่าการทดสอบความปลอดภัยของสารเคมีที่มีต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมนั้นยังไม่ดีพอ โดยการพัฒนาและผลิตสารเคมีใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ในแง่หนึ่งก็เป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการตรวจสอบความปลอดภัยและประเมินผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ในระยะยาว อีกทั้งสารเคมีจะถูกยกเลิกหรือนำออกจากตลาดการซื้อขายและใช้งานก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าเป็นอันตรายจริง และนั่นก็ต้องอาศัยเวลาในการพิสูจน์ความเสียหายเป็นระยะเวลาร่วมทศวรรษอยู่ดี ซึ่งในด้านกฎหมายของสหรัฐฯ ได้ยึดหลักการความบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ว่ามีความผิด และยังเป็นกฎหมายควบคุมสารเคมีที่มีความรอบด้านและการควบคุมที่น้อยกว่ากฎหมายในลักษณะเดียวกันของสหภาพยุโรปด้วย
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้องที่:
พลาสติกในของใช้ในบ้านอาจรบกวนระบบต่อมไร้ท่อและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเรา
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.7) การเข้าถึงบริการ ข้อมูล การให้การศึกษาเกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า รวมถึงการวางแผนครอบครัว และวางแผนเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ในยุทธศาสตร์และแผนงานระดับชาติ ภายในปี 2573
-(3.9) ลดจำนวนการตายและการป่วยจากสารเคมีอันตราย และจากการปนเปื้อนและมลพิษทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองที่ยั่งยืน
-(11.6) ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากร โดยรวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อคุณภาพอากาศและการจัดการของเสียของเทศบาลและอื่น ๆ ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
-(12.4) บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดในวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้น ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อที่จะลดผลกระทบทางลบที่จะมีต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ภายในปี 2563