Site icon SDG Move

กว่า 200 วารสารการแพทย์ระดับโลก เรียกร้องผู้นำโลกจัดการวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพอย่างเร่งด่วน

วารสารทางการแพทย์มากกว่า 200 ฉบับ ได้เผยแพร่บทบรรณาธิการร่วมเรียกร้องการดำเนินการอย่างเร่งด่วนจากผู้นำประเทศ เพื่อการจัดการสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็น “ภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” ต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทั่วโลก มุ่งเป้าไปที่การเพิ่มความพยายามลดก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะจากประเทศร่ำรวย ในการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อหยุดยั้งการทำลายธรรมชาติและความเสี่ยงต่อหายนะด้านสุขภาพที่ไม่สามารถย้อนกลับได้

บทบรรณาธิการ ‘Call for emergency action to limit global temperature increases, restore biodiversity, and protect health‘ ได้ถูกเผยแพร่พร้อมกันเมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมาในวารสารทางการแพทย์ระดับนานาชาติ ทั้งหมด 223 ฉบับ เช่น The British Medical Journal (BMJ) , The Lancet, the New England Journal of Medicine, the East African Medical Journal, Chinese Science Bulletin, the National Medical Journal of India และ the Medical Journal of Australia เป็นครั้งแรกที่วารสารจำนวนมากรวมตัวกันเพื่อประกาศแถลงการณ์เดียวกันซึ่งสะท้อนถึงความรุนแรงของสถานการณ์ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ ดังที่เป็นประจักษ์ผ่านผลการศึกษาวิจัยที่ปรากฏมาตลอด

“สุขภาพของมนุษย์กำลังได้รับอันตรายจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกและความเสียหายของโลกธรรมชาติ ซึ่งเป็นสถานการณ์เลวร้ายที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพให้ความสนใจมากเป็นเวลาหลายทศวรรษ การค้นพบทางวิทยาศาสตร์นั้นมีความชัดเจน อุณหภูมิทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น 1.5 °C เหนือค่าเฉลี่ยก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดความเสี่ยงต่อหายนะทางด้านสุขภาพที่ไม่สามารถย้อนคืนได้ แม้ว่าโลกจะมีความเป็นกังวลและวุ่นวายอยู่กับโควิด-19 แต่เราไม่สามารถรอให้การระบาดใหญ่นี้ผ่านไปก่อนเพื่อดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างรวดเร็ว”

“ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ เราต้องทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกที่ยั่งยืนขึ้น ยุติธรรมขึ้น ยืดหยุ่นฟื้นตัวได้ขึ้น และมีสุขภาพดีขึ้น” บทบรรณาธิการกล่าว “เราในฐานะบรรณาธิการวารสารด้านสุขภาพ เรียกร้องให้รัฐบาลและผู้นำต่าง ๆ ลงมือทำ และให้ปี 2021 นี้เป็นปีที่โลกเปลี่ยนแปลงแนวทางในที่สุด “

ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบันส่งผลกระทบอย่างไม่สมส่วนต่อผู้ที่มีความเปราะบางที่สุดในสังคม ทั้งเด็กและผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนที่ยากจน และผู้ที่มีเงื่อนไขด้านสุขภาพอยู่เดิม บทบรรณาธิการนี้จึงได้เรียกร้องให้ผู้นำระดับโลกเปลี่ยนแปลงปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจที่เป็นตัวกำหนดสุขภาพ โดยสนับสนุนการออกแบบระบบขนส่ง เมือง การผลิตและการจำหน่ายอาหาร และตลาดสำหรับการลงทุนทางการเงินและระบบสุขภาพให้ดีขึ้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้จำเป็นต้องมีการลงทุนด้วยงบประมาณและบุคลากรจำนวนมากแต่ก็จะมีประโยชน์มหาศาลต่อสุขภาพประชาชนอย่างครอบคลุมเช่นกัน โดยจะสามารถลดมลพิษทางอากาศ เพิ่มการออกกำลังกายและการมีที่อยู่อาศัยและอาหารที่ดีขึ้น เพื่อลดการเจ็บป่วยและส่งเสริมการมีความเป็นอยู่ที่ดีได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ บทบรรณาธิการยังระบุให้ ประเทศที่ร่ำรวยกว่าต้องลงมือทำเพื่อจัดการวิกฤตสิ่งแวดล้อมนี้ให้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้น เพื่อช่วยเหลือประเทศรายได้น้อยและปากกลางที่ได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าอย่างไม่เป็นสัดส่วน แม้ว่าจะเป็นผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อการเกิดขึ้นของวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่มากเท่า

บทบรรณาธิการนี้ได้รับการตีพิมพ์ก่อนการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly : UNGA) ที่จะจัดขึ้นในสัปดาห์หน้าระหว่างวันที่ 14-21 กันยายน 2021 ซึ่งจะเป็นการประชุมระดับนานาชาติครั้งสุดท้ายที่จัดขึ้นก่อนการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ หรือ COP26 ที่ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสก็อตแลนด์ ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้

อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
● รายงาน IPCC ล่าสุด เตือนว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น จะทำให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้วรุนแรงที่ “ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์”
● SDG Insights | ท่ามกลางวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ระบบสุขภาพไทยต้องรับมือกับอะไรบ้าง?
SDG Updates | หายนะจาก ‘สภาพอากาศร้อนจัด’ ผลกระทบวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่คร่าชีวิตคนทั่วโลก

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และ #SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ที่มา :
Global health journals unite to demand climate action from world leaders (The Irish Examiner)
Climate crisis: Over 200 health journals urge world leaders to tackle “catastrophic harm” (BMJ)

Author

  • Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

Exit mobile version