ในอนาคต สายอาชีพและงานเป็นล้านจะอยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (green economy) โดยการสร้างงานถือเป็นส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนสำคัญคือการเตรียมทักษะแรงงานให้พร้อม ซึ่งในปัจจุบันนี้ ตามข้อมูลของ Davos Labs Youth Recovery Plan 2021 โดยสภาเศรษฐกิจโลก ระบุว่า ครึ่งหนี่งของคนวัยหนุ่มสาวอาจรู้สึกว่ายังไม่มีทักษะที่ ‘ถูกต้องเหมาะสม’ กับสายงานดังกล่าวในอนาคตระยะ 5-10 ปีนี้ หรือแม้กระทั่งคนทำงานแล้วที่ 40% ต้องการปรับทักษะภายใน 6 เดือนหรือเร็วกว่านั้น
สิ่งที่ทำได้คือ บริษัทสามารถลงทุนไปกับการปรับและเพิ่มทักษะของแรงงาน/บุคลากร ซึ่งทักษะสำหรับงานในอนาคตที่ภาคเอกชนอ้างอิงถึงหลัก ๆ มักจะเป็นทักษะด้านเทคโนโลยีและข้อมูล เช่น การมีความรู้ด้าน Big Data ปัญญาประดิษฐ์ และ Cloud computing เป็นต้น อย่างไรก็ดี คู่มือเส้นทางสู่อาชีพสีเขียวและทักษะที่ต้องเตรียมพร้อม จัดทำโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme – UNEP) ได้สรุป 6 ทักษะสำคัญสำหรับงานสีเขียว (ที่นอกเหนือจากทักษะด้านเทคโนโลยี) ดังนี้
- ทักษะด้านวิทยาศาสตร์ – เพราะเศรษฐกิจในอนาคตจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงาน/บุคลากรที่มีภูมิหลังทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม นักชีววิทยา นักอุทกวิทยา และนักชีวเคมี เนื่องจากว่าบุคลากรในวงการนี้จะเข้ามาทำหน้าที่ติดตาม จัดการ และปกป้องทรัพยากรทางสิ่งแวดล้อม อาทิ ที่ดิน และแหล่งน้ำ
- ทักษะการวางแผนและสถาปัตยกรรม – ตอบโจทย์เรื่องโครงสร้างพื้นฐานและอาคารที่จะต้องมีโครงสร้างและคุณสมบัติที่สามารถใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับกฎระเบียบทางสิ่งแวดล้อม
- ทักษะด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมสีเขียว – เพื่อออกแบบและรักษาพลังงานสะอาด อาทิ แผงโซลาเซลล์ กังหันลม ยานพาหนะที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว
- ทักษะด้านเกษตรกรรม – เรื่องอาหารยังคงสำคัญไม่เปลี่ยนแปลง แต่จะต้องเป็นการทำการเกษตรและแหล่งอาหารที่ยั่งยืน โดยสามารถใช้ข้อมูลเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำเกษตรได้
- ทักษะความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice) – แน่นอนว่าสายอาชีพที่คำนึงถึงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ต้องการแรงงาน/บุคลาการที่สามารถทำงานอย่างเข้าใจจุดร่วมและความเชื่อมโยงระหว่างสิทธิมนุษยชนและสิทธิสิ่งแวดล้อม โดยตระหนักรู้ถึงประเด็นทางสังคม กฎหมาย และประวัติศาสตร์ เพื่อไม่ให้มนุษย์ทำผิดซ้ำรอยเดิมที่อาจจะเป็นการผลิตซ้ำความไม่ยุติธรรมทางเชื้อชาติ สังคม หรือส่งผลลบต่อสุขภาวะทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
- ทักษะการคิดและมองอย่างเป็นระบบ – ในภาพรวม งานสีเขียวต้องการแรงงาน/บุคลาการที่สามารถออกแบบ ดำเนินการ และติดตามระบบที่หลากหลาย เช่นการประเมินระบบต่าง ๆ กับตัวชี้วัดประเมินผลการดำเนินการ โดยสามารถหาวิธีการที่จะปรับปรุงการดำเนินการทั้งหมดได้ ทักษะที่ควรมีคือทักษะในเศรษฐศาสตร์มหภาคเพื่อที่จะสามารถสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้ในโครงการระยะยาว
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับการสร้างงานสีเขียวที่:
SDGs จะช่วยภาคเอกชน หรือภาคเอกชนจะผลักดัน SDGs ได้อย่างไร? อย่างน้อยเริ่มจากตระหนักว่า “ไม่มีงานเหลือให้ทำ ในโลกที่ตายไปแล้ว”
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม
-(4.4) เพิ่มจำนวนเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะที่จำเป็น รวมถึงทักษะทางเทคนิคและอาชีพ สำหรับการจ้างงาน การมีงานที่ดี และการเป็นผู้ประกอบการ ภายในปี 2573
-(4.7) สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมไปถึงการศึกษาสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน ภายใน ปี 2573
#SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่มีคุณค่า
-(8.4) พัฒนาความมีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิต และพยายามที่จะตัดความเชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม (decoupling)
-(8.5) ในด้านการส่งเสริมการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่สมควรสำหรับทุกคน
-(8.6) ลดสัดส่วนของเยาวชนที่ไม่มีงานทำ ที่ไม่มีการศึกษา และที่ไม่ได้รับการฝึกอบรม ภายในปี 2563
ทั้งนี้ โดย 6 ทักษะดังกล่าวยังสอดคล้องกับแนวคิดตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ #SDG6 อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ #SDG7 ส่งเสริมพลังงานสะอาด #SDG11 โครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน #SDG12 การจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ #SDG13 รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ #SDG15 อนุรักษ์ ปกป้อง ฟื้นฟูระบบนิเวศ
แหล่งที่มา:
These are the skills young people will need for the green jobs of the future (World Economic Forum)
Last Updated on กันยายน 10, 2021