การศึกษาในสิงคโปร์และญี่ปุ่น พบว่า ผู้สูงอายุที่รู้สึกโดดเดี่ยวมีแนวโน้มจะมีอายุสั้นกว่าผู้สูงอายุวัยเดียวกัน และมีแนวโน้มใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างกระฉับกระเฉง สุขภาพดี ทำกิจวัตรในชีวิตประจำวันได้อย่างไม่ติดขัดน้อยลงไปด้วย
ทีมนักวิจัยจาก Duke-NUS Medical School จากสิงคโปร์ และ Nihon University จากญี่ปุ่น ได้ทำการศึกษาผลกระทบของความเหงาในวัยชราที่มีต่อชีวิตและอายุขัยทางสุขภาพอย่างเป็นหมวดหมู่เป็นครั้งแรก โดยทำการสำรวจพลเมืองสิงคโปร์สูงวัยกว่า 3,000 คน
ผลการศึกษาพบว่า คนอายุ 60 ปี ที่มองว่าตนเองรู้สึกเหงาเป็นบางครั้งหรือเป็นส่วนใหญ่ คาดว่าจะมีชีวิตอยู่อีกโดยเฉลี่ย 3-5 ปี เมื่อเทียบกับคนวัยเดียวกันที่คิดว่าตนเองไม่เคยรู้สึกเหงา เช่นเดียวกับกลุ่มที่มีอายุมากกว่า โดยคนอายุ 70-80 ปี ที่รู้สึกโดดเดี่ยว คาดว่าจะมีชีวิตอยู่สั้นลง 3-4 ปี และ 2-3 ปี ตามลำดับ เมื่อเทียบกับผู้สูงอายุวัยเดียวกันที่ไม่รู้สึกโดยเดี่ยว
นักวิจัยยังพบอีกว่า การรับรู้ถึงความโดดเดี่ยวมีผลกระทบอายุขัยทางสุขภาพสองประเภท คือ การมีอายุที่เหลืออยู่ในสถานะสุขภาพที่ดีด้วยตนเอง เข่นเดียวกับ ปีที่เหลือของชีวิตโดยไม่ถูกจำกัด “กิจกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน” เช่น การอาบน้ำและแต่งตัว การลุกจากเตียงหรือเก้าอี้ และการเตรียมอาหาร
ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปี ที่รู้สึกโดดเดี่ยวเป็นบางครั้งหรือเป็นส่วนใหญ่ จะสามารถใช้ชีวิตที่เหลือโดยไม่มีข้อจำกัดด้านสุขภาพในการทำกิจกรรมการใช้ชีวิตประจำวันได้อีกโดยเฉลี่ยน้อยกว่า 3-5 ปี เมื่อผู้สูงอายุที่ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ในกลุ่มผู้สูงอายุวัย 70 ปี จะมีอายุขัยเฉลี่ยที่มีสุขภาพดีลดลงอีก 2-4 ปี และ 1-3 ปี ในกลุ่มผู้สูงอายุวัย 80 ปี
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2016 นักวิจัยของ Centre for Aging Research and Education (CARE) ได้ทำการศึกษาวิจัยที่เรียกว่า Transitions in Health, Employment, Social Engagement, and Intergenerational Transfers in Singapore (THE SIGNS) เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี การมีกิจกรรม และผลิตภาพในผู้สูงอายุชาวสิงคโปร์
งานวิจัยในขณะนั้นได้เก็บข้อมูลจากพลเมืองสูงวัยในสิงคโปร์มากกว่า 2,000 คน พบว่า ประชากรในการศึกษาหนึ่งในสาม (34%) รู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยว โดยสัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นตามอายุ ในผู้ที่มีอายุ 60-69 ปี คิดเป็น 32% และในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป คิดเป็น 40%
เมื่อพิจารณาในรายละเอียด พบว่า ผู้สูงอายุเพศชาย (37%) รู้สึกโดดเดี่ยวมากกว่าเพศหญิง (31%) สัดส่วนของผู้สูงวัยที่โดดเดี่ยวในสิงคโปร์ต่ำที่สุด (33%) ในกลุ่มที่ไม่ได้รับการศึกษาในระบบ และสูงที่สุด (38%) ในกลุ่มผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่าระดับอุดมศึกษา สัดส่วนผู้สูงอายุที่รู้สึกโดดเดี่ยวนี้เพิ่มขึ้นเกือบ 10% ในหมู่ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว (43%) เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้อยู่คนเดียว (33%)
สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างรวดเร็ว และมีวัฒนธรรมทางสังคมแบบ “คติรวมหมู่” (collectivistic) คือ มีความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงระหว่างระหว่างคนในสังคมเป็นศูนย์กลาง ตรงข้ามกับ “ปัจจกนิยม” (individualsim) ที่มีเป้าหมายและความต้องการของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ การศึกษาก่อนหน้านี้ พบว่า ระดับของความโดดเดี่ยวสูงกว่าในสังคมแบบคติรวมหมู่ ซึ่งสามารถบ่งชี้ได้ว่า ผลกระทบด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีที่เกิดจากความโดดเดี่ยวจะเกิดขึ้นมากกว่าในสังคมสิงคโปร์ ด้วยเหตุนี้ ความเหงาในหมู่ผู้สูงอายุจึงกลายเป็นปัญหาทางสังคมและสาธารณสุขที่ต้องจับตามอง
ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573