เพื่อที่จะ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ตามคำสัญญาที่ให้ไว้ในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 แต่ละประเทศจำเป็นจะต้องมีข้อมูลที่นับรวมทุกคน (inclusive) ดังนั้น ข้อมูลที่มีการจำแนกแยกย่อยจึงมีความสำคัญเพื่อทำความเข้าใจว่ากลุ่มประชากรใดมักถูกทิ้งไว้เบื้องหลังและเพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายมีข้อมูลที่ละเอียดและเฉพาะเจาะจงตรงจุดมากพอเพื่อการตัดสินใจออกแบบนโยบายที่มีประสิทธิผล ตรงจุด และครอบคลุมมากขึ้ต
‘ข้อมูลที่มีการจำแนก’ หรือ Disaggregated data หมายถึง การจำแนกแยกย่อยข้อมูลที่รวบรวมเป็นหน่วยที่เล็กลง และอยู่ในหลาย ๆ มิติ เพื่ออธิบายแนวโน้มหรือรูปแบบของข้อมูลที่อาจไม่ปรากฏในการรวบรวบข้อมูลแบบเป็นกลุ่มเดียว (agggregated data) นั่นจะช่วยทำให้เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงละเอียดและแม่นยำมากขึ้น โดยข้อมูลจะถูกจัดกลุ่มตามมิติต่าง ๆ เช่น อายุ เพศ กลุ่มรายได้ พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ การศึกษา ชาติพันธุ์ สถานะความทุพพลภาพ สถานะการย้ายถิ่น และมิติอื่นๆ ทางสังคมเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ที่จะทำให้เห็นความสัมพันธ์แบบข้ามมิติของประเด็นการพัฒนาต่าง ๆ ชัดเจนขึ้น
“ตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนควรถูกจำแนกตามมิติความเกี่ยวข้อง โดยจำแนกตามรายได้ เพศ อายุ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สถานะการย้ายถิ่น ความทุพพลภาพ และตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ หรือคุณลักษณะอื่น ๆ ตามหลักการพื้นฐานของสถิติทางการ”
มติการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ 68/261
ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาไปถึงคนที่อยู่ท้ายแถว ทั้งคนยากจน ผู้หญิง เด็ก คนชรา ชนพื้นเมือง ผู้อพยพ คนพิการ และกลุ่มคนที่มีความเปราะบางอื่น ๆ ตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั้งยืน (SDG Indicatos) จึงจำแนกโดยละเอียดเพื่อให้ครอบคลุมและเห็นสถานะที่เป็นจริงมากที่สุด แต่ข้อมูลทางสถิติที่มีในปัจจุบันมักถูกรวบรวมเป็นค่าเฉลี่ยระดับชาติซึ่งอาจทำให้ไม่เห็นความไม่สอดคล้องกันของข้อมูลที่ซ่อนไว้ในระดับภูมิภาค ชุมชน และระดับครัวเรือน อย่างไรก็ตาม การเก็บข้อมูลที่นับรวมทุกคนนี้ต้องการกลยุทธ์การจำแนกข้อมูลที่ซับซ้อนมากขึ้นซึ่งเป็นความท้าทายสำหรับระบบสถิติระดับชาติในหลาย ๆ ประเทศ
The Global Partnership for Sustainable Development Data กำหนดหลักการของการมีข้อมูลที่ครอบคลุม (inclusive) ดังต่อไปนี้
- ต้องรวมประชากรทั้งหมดให้อยู่ในข้อมูล
- ควรจำแนกข้อมูลทั้งหมดทุกเมื่อทำได้ เพื่อให้สามารถอธิบายประชากรทั้งหมดได้อย่างแม่นยำ
- ดึงข้อมูลมาจากแหล่งข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมด
- ผู้รับผิดชอบในการรวบรวมข้อมูลและทำข้อมูลสถิติต้องตรวจสอบได้ (accountable)
- ต้องมีการพัฒนาความสามารถของมนุษย์และทางเทคนิคในการรวบรวม วิเคราะห์ และใช้ข้อมูลที่มีการจำแนก ผ่านแหล่งเงินทุนที่มากเพียงพอและยั่งยืน
ปัจจุบัน หลายประเทศขาดข้อมูลพื้นฐาน เช่น ทะเบียนราษฎร์ที่ครอบคลุมและระบบสถิติที่มีคุณภาพ รัฐบาลจึงไม่สามารถที่จะแน่ใจได้ว่าทุกคนจะถูกนับรวมเข้ามาในการกำหนดนโยบายการพัฒนาต่าง ๆ หากไม่มีข้อมูลของพวกเขาแต่แรก ข้อมูลที่มีคุณภาพมากขึ้นจึงเป็นพื้นฐานเพื่อให้รัฐบาลจัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิผลมากขึ้นสำหรับทุกคน และตอบสนองต่อความท้าทายต่าง ๆ ได้อย่างชาญฉลาดกว่าเดิม
คำว่า ‘ข้อมูลที่มีการจำแแนก’ ปรากฏอยู่ใน ‘#SDG17 – (17.18) ยกระดับการสนับสนุนด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ให้เพิ่มการมีอยู่ของข้อมูลที่มีคุณภาพ ทันเวลา และเชื่อถือได้ ที่จำแนกในเรื่องรายได้ เพศ อายุ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สถานะการอพยพ ความบกพร่องทางร่างกาย ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และคุณลักษณะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามบริบทของประเทศ ภายในปี 2563’
Target 17.18 : By 2020, enhance capacity-building support to developing countries, including for least developed countries and small island developing States, to increase significantly the availability of high-quality, timely and reliable data disaggregated by income, gender,
age, race, ethnicity, migratory status, disability, geographic location and other characteristics relevant in national contexts
SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs
หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ
แหล่งที่มา:
PRACTICAL GUIDEBOOK ON DATA DISAGGREGATION FOR THE SUSTAINABLE DEVELOPMENT GOALS (ADB)
WHY DATA DISAGGREGATION IS KEY DURING A PANDEMIC? (PAHO)
DATA DISAGGREGATION AND THE GLOBAL INDICATOR FRAMEWORK (UN Stats)