Site icon SDG Move

การตายของหญิงมีครรภ์ลดลงได้ โดยใช้ Google Maps ช่วยวิเคราะห์เหตุความล่าช้าของการเดินทางเข้ารับบริการสุขภาพ

หญิงมีครรภ์ทั่วโลกราว 295,000 รายในแต่ละปี เสียชีวิตจากเหตุเกี่ยวกับครรภ์และการกำเนิดบุตร โดยสาเหตุความเสี่ยงต่อชีวิตส่วนใหญ่มาจาก ‘ความล่าช้า’ ในการเข้าถึงบริการสุขภาพสูติกรรมฉุกเฉิน (emergency obstetric care – การทำคลอดและช่วยชีวิตหญิงมีครรภ์) 3 ประการ ได้แก่

  1. ความล่าช้าในการตัดสินใจเข้ารับบริการ
  2. ความล่าช้าในการเดินทางเพื่อเข้ารับบริการ
  3. ความล่าช้าในการรับบริการแม้เมื่อไปถึงที่หมายแล้ว

ถึงกระนั้น สาเหตุทั้ง 3 ข้อดังกล่าวนี้ เป็นสาเหตุที่สามารถป้องกันได้

กรณีศึกษาของไนจีเรีย หญิงมีครรภ์ซึ่งเสียชีวิตจากเหตุข้างต้นคิดเป็น 23% ของหญิงมีครรภ์ 295,000 ทั้งหมดในแต่ละปี โดยพบว่า ความล่าช้าในการเข้ารับบริการด้วยเหตุจากการเดินทางนั้น เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่อันตรายที่สุด

การศึกษา An assessment of geographical access and factors influencing travel time to emergency obstetric care in the urban state of Lagos, Nigeria จึงได้นำ Google Maps มาเป็นเครื่องมือช่วยศึกษาและวิเคราะห์สาเหตุของความล่าช้าในการเดินทางที่ว่า ทั้งระยะเวลาในการเดินทางและพื้นที่เมืองในเมือง Lagos ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ของแถบแอฟริกาซับซาฮารา

ผลพบว่า หญิงมีครรภ์ที่เดินทางตรงไปยังโรงพยาบาลทันที จะใช้เวลาเดินทางอยู่ที่ระหว่าง 2 – 240 นาที ส่วนหญิงมีครรภ์ที่ผ่าน ‘การส่งต่อ’ (referral) ไปโรงพยาบาลอีกที จะใช้เวลาเดินทางอยู่ที่ระหว่าง 7 – 320 นาที ขณะที่โดยเฉลี่ย ระยะเวลาในการเดินทางสำหรับหญิงมีครรภ์ 80% อยู่ที่ระหว่าง 60 นาที

ภาพการวิเคราะห์เส้นทางที่หญิงมีครรภ์ใช้เดินทางไปโรงพยาบาลในเมือง Lagos ภาพจาก The conversation

เมื่อมาพิจารณาถึงเส้นทาง/พื้นที่ที่มักมีการใช้สัญจรไปโรงพยาบาลแล้ว (hotspots) พบว่า เป็นพื้นที่ limosho/Ifako-Ijaiye, Eti-Osa, Ijanikin/Morogbo และ Ikorod ซึ่งล้วนใช้เวลามากกกว่า 60 นาที การที่สามารถระบุชี้พื้นที่ที่มีการใช้สัญจรเป็นประจำได้ เป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้รัฐบาลสามารถเข้ามาช่วยลดความล่าช้าในการเดินทางของพื้นที่เหล่านี้ลง หรือหนุนเสริมทางออกอื่น เพื่ออำนวยความปลอดภัยทางสุขภาพให้กับหญิงมีครรภ์ได้ ซึ่งปัจจุบัน ในพื้นที่ Eti-Osa ก็ได้เพิ่มศูนย์บริการสุขภาพสำหรับมารดาและเด็ก ในพื้นที่ Alimosho/Ifako-Ijaiye และทางเหนือของ Ikorodu ก็มีข้อเสนอแนะว่าควรจะแก้ไขด้วยการขยายถนน การพัฒนาและปรับปรุงระบบการส่งต่อให้ดีขึ้น เนื่องจากมีโรงพยาบาลอยู่แล้ว ส่วนในกรณีของพื้นที่ Ijanikin/Morogbo ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีโรงพยาบาลนั้น ก็สามารถศึกษาแนวทางจากพื้นที่อื่น ๆ นำมาปรับใช้ได้

การศึกษาชิ้นนี้มีข้อสังเกตว่า แม้ความเป็นเมืองจะดูมี ‘ข้อดี’ ในแง่ที่สามารถให้สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในชีวิตได้ ถึงกระนั้น ในกรณีของการเข้าถึงบริการสุขภาพของหญิงมีครรภ์ก็อาจจะเผชิญกับปัญหาความคับคั่งบนท้องถนน รถติด ถนนหรือระบบการส่งต่อไปยังโรงพยาบาล (referral system) ไม่ดีนัก ซึ่งก็เป็นปัญหาที่จำต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ขณะเดียวกัน ก็เป็นการย้ำว่า การลดการเสียชีวิตของมารดาลงนั้น จำเป็นต้องทำการศึกษาบริบทความต้องการและความท้าทายเฉพาะพื้นที่นั้นด้วย

ทั้งนี้ เพราะการที่หญิงมีครรภ์สามารถเข้าถึงบริการทางสุขภาพได้อย่างรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด ที่จะทำให้สามารถลดอัตราการเสียชีวิตของหญิงมีครรภ์ได้ถึง 15-50% และการเสียชีวิตของเด็กในครรภ์ได้ถึง 45-75%

● อ่านบทความที่เกี่ยวข้องที่
หน่วยดูแลสุขภาพแม่และเด็กเคลื่อนที่ในสหรัฐฯ ช่วยให้สตรีตั้งครรภ์ได้ฝากท้องฟรี

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.1) ลดอัตราการตายของมารดาทั่วโลก ให้ต่ำกว่า 70 ต่อการเกิด 1 แสนคน ภายในปี 2573
-(3.2) ยุติการตายที่ป้องกันได้ของทารกแรกเกิดและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ภายในปี 2573
-(3.6) ลดจำนวนการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน ทั่วโลกลงครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2563
#SDG11 เมืองที่ยั่งยืน
-(11.2) จัดให้มีการเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน เข้าถึงได้ ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้ สำหรับทุกคน พัฒนาความปลอดภัยทางถนน โดยการขยายการขนส่งสาธารณะ และคำนึงเป็นพิเศษถึงกลุ่มคนที่ อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ผู้หญิง เด็ก ผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย และผู้สูงอายุ ภายในปี 2573

แหล่งที่มา:
How Google Maps can help with efforts to tackle delays in accessing critical maternal health services (The Conversation)

Author

  • Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

Exit mobile version