5 ข้อสังเกตที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้หญิง-เด็กหญิงเป็นพิเศษ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพอากาศสุดขั้ว และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อมวลมนุษยชาติทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีความเปราะบางอย่างผู้หญิงและเด็กหญิง ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศที่ยากจนและใช้ชีวิตโดยพึ่งพิงกับทรัพยากรธรรมชาติ มักเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่เสี่ยงได้รับผลกระทบมาก ตามข้อมูลของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme – UNDP) ระบุว่า ผู้หญิงและเด็กหญิงมีแนวโน้มเสียชีวิตในช่วงภัยพิบัติมากกว่าผู้ชายถึง 14 เท่า

กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Funds – UNPFA) จึงได้สรุป 5 ข้อสังเกตฉายให้เห็นภาพว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้หญิงและเด็กหญิงในมิติใดได้บ้าง


01 – ส่งผลให้เกิดความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพมากขึ้น (gender-based violence)

ความเปราะบางในมิติความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพนี้ มีได้ทั้งจากการที่ผู้หญิงและเด็กหญิงในบางประเทศเผชิญกับอันตรายภายใต้เงื่อนไขของความขาดแคลนทรัพยากรที่ทำให้ต้องเดินไปตักน้ำหรือหาฟืนก่อไฟในแหล่งทรัพยากรที่ห่างไกล แล้วเดินกลับมายังที่อยู่อาศัยของตน (อ่านที่เกี่ยวข้อง ที่นี่) รวมถึงอันตรายที่อาจเผชิญภายหลังจากการพลัดถิ่นหรือสถานการณ์บังคับให้ย้ายถิ่นจากเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate migration) และภัยพิบัติ อาทิ ความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ในค่ายอพยพ การค้ามนุษย์ในช่วงที่เกิดภัยพิบัติเพื่อนำไปค้าประเวณีเช่นในกรณีของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ความรุนแรงในคู่รักและครอบครัว (domestic violence) ในช่วงที่สภาพอากาศแห้งแล้งในแอฟริกาตะวันตก พายุโซนร้อนในอเมริกาใต้และภูมิภาคอาหรับ และการขริบอวัยวะเพศหญิงในช่วงที่อากาศแห้งแล้งยาวนานในอูกันดา เป็นต้น โดยที่สถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงเหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับประเทศกำลังพัฒนาแต่เพียงเท่านั้น

02 – มีส่วนทำให้การแต่งงานในวัยเด็กเพิ่มมากขึ้น (child marriages)

เพราะสภาพอากาศที่สุดขั้วเข้ามาทำลายชีวิตความเป็นอยู่เดิม เร่งให้ความยากจนรุนแรงขึ้น จนอาจส่งผลให้บางครอบครัวเลือกที่จะให้ลูกสาวแต่งงานตั้งแต่ยังเด็ก แลกมากับการตีเจ้าสาวเป็นราคาและรายได้ หรือด้วยความคิดที่ว่าอาจจะช่วยให้ลูกสาวมีชีวิตที่ดีกว่าเดิมได้ การแต่งงานในวัยเด็ก/การบังคับแต่งงาน/การแต่งงานก่อนวัยอันควรดังที่ว่ามานี้ มักเกิดขึ้นในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติจากสภาพภูมิอากาศ เช่น มาลาวี อินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เป็นต้น

> อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง: ผลกระทบจากโควิด-19 จะทำให้เด็กหญิงกว่า 10 ล้านคนเสี่ยงกับการแต่งงานก่อนวัยอันควร

03 – ส่งผลให้เกิดภาวะตายคลอด/การตายของเด็กในครรภ์ก่อนคลอด (stillbirth)

เริ่มมีข้อมูลและหลักฐานเพิ่มมากขึ้นที่ชี้ความเชื่อมโยงระหว่างความร้อนสุดขั้วกับผลลัพธ์ของการให้กำเนิดบุตรที่เป็นในเชิงลบ ตัวอย่างมีเช่นงานวิจัย Ambient Temperature and Stillbirth: A Multi-Center Retrospective Cohort Study ที่ระบุว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียสในช่วงสัปดาห์ก่อนที่จะให้กำเนิดบุตรนั้น สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น 6% จากช่วงหน้าร้อนในสหรัฐฯ (พฤษภาคม-กันยายน) ที่ทำให้เกิดภาวะตายคลอดอีก 4 คนต่อการเกิด 10,000 คน

04 – ส่งผลให้ผลลัพธ์ทางสุขภาพมารดาและทารกแรกเกิดย่ำแย่ลง

ข้อมูลเดิมชี้ว่าโรคที่เกิดจากพาหะนำโรค (vector-borne illnesses) อาทิ มาลาเรีย ไข้เลือดออก สัมพันธ์กับการแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด และโรคโลหิตจาง ความกังวลจึงอยู่ที่อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอาจจะทำให้ฤดูกาลของการแพร่กระจายโรคที่เกิดจากพาหะนำโรคเหล่านี้ยาวนานขึ้น และทำให้การแพร่กระจายโรคเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้นด้วย

> อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
SDG Insights | ท่ามกลางวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ระบบสุขภาพไทยต้องรับมือกับอะไรบ้าง?
SDG Updates | หายนะจาก ‘สภาพอากาศร้อนจัด’ ผลกระทบวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่คร่าชีวิตคนทั่วโลก

05 – ขัดขวางสุขภาพทางเพศ อนามัยเจริญพันธุ์ และเข้าถึงยาคุมกำเนิดได้อย่างจำกัด

การปรับทรัพยากรทางการแพทย์เพื่อนำมาเร่งจัดการกับโควิด-19 เป็นความสำคัญอันดับต้น ทว่าการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เป็นภาวะเร่งด่วนเช่นกัน และจะต้องคำนึงถึงสุขภาพทางเพศ การให้บริการอนามัยเจริญพันธุ์ และสิทธิในอนามัยเจริญพันธุ์เป็นอันดับต้นร่วมด้วยเช่น

พร้อมกันนั้นจะต้องไม่ลืมว่า แม้จะมีการให้บริการ แต่อาจจะยังมีประเด็นเรื่องการเข้าถึงบริการ ที่นำมาซึ่งการขาดสิทธิในการควบคุมชีวิต กล่าวคือ การตั้งครรภ์โดยที่ไม่ตั้งใจ หรือการติดเชื้อทางเพศ ทำให้จะต้องหาวิธีการกระจายการให้บริการที่เข้าถึงทุกคนได้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น การใช้เฮลิคอปเจอร์กระจายการให้บริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ อาทิ การป้องกันการติดเชื้อ HIV รวมทั้งการวางแผนครอบครัว เป็นต้น

> อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
SDG Vocab | 08 – Modern Family Planning Method – วิธีการวางแผนครอบครัวสมัยใหม่
ข้อมูลการใช้ยาคุมกำเนิดที่หายไปช่วงโควิด-19 ทำให้ขาดข้อมูลอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงและอัตราการเกิดในอนาคต
ราคายาเม็ดคุมกำเนิดสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำในเวเนซุเอลา ผู้หญิงหลายล้านเสียความสามารถในการควบคุมชีวิต
หน่วยดูแลสุขภาพแม่และเด็กเคลื่อนที่ในสหรัฐฯ ช่วยให้สตรีตั้งครรภ์ได้ฝากท้องฟรี
แก้ปัญหาแบบ “2-in-1” : การวิจัยยาที่สามารถป้องกันได้ทั้งการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์และการติดเชื้อ HIV

และเมื่อมาผนวกรวมกับปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพอากาศสุดขั้วและภัยพิบัติด้วยแล้ว สถานการณ์ดังกล่าวยิ่งเลวร้ายลง ตัวอย่างเช่นผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์มากกว่า 20,000 คนในโมซัมบิก เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ เพราะไม่สามารถเข้าถึงยาคุมกำเนิดได้ในช่วงที่มีไซโคลน เช่นเดียวกับกรณีของฮอนดูรัสที่เฮอร์ริเคนถล่ม ที่มีรายงานว่าผู้หญิงราว 180,000 คน ไม่สามารถเข้าถึงบริการวางแผนครอบครัวได้

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นที่สภาพอากาศที่ผันผวนและรุนแรงนั้น กระทบกับการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร ทำให้ผู้หญิงส่วนหนึ่ง เช่นในแทนซาเนีย เลือกใช้วิธีมีความสัมพันธ์ทางเพศแบบต่างตอบแทน (transactional sex) เพื่อให้สามารถยังมีชีวิตอยู่ได้ และนั่นก็อาจจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV/AIDS สูงขึ้นด้วย

● อ่านบทความที่เกี่ยวข้องที่
จดหมายถึงประธานที่ประชุม UN COP26 ร้องให้ปรับงบจัดการกับ climate change ที่ตระหนักถึงเพศ และอนามัยเจริญพันธุ์

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.1) ลดอัตราการตายของมารดาทั่วโลก ให้ต่ำกว่า 70 ต่อการเกิด 1 แสนคน ภายในปี 2573
-(3.2) ยุติการตายที่ป้องกันได้ของทารกแรกเกิดและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ภายในปี 2573
-(3.3) ยุติการแพร่กระจายของโรคเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และยับยั้งการแพร่เชื้อโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่นๆ ภายในปี 2573
-(3.8) หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิผล มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้
#SDG5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศและเสริมพลังอำนาจแก่ผู้หญิงและเด็กหญิง
-(5.2) ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและที่ส่วนบุคคล รวมถึงการขจัดการค้ามนุษย์ การแสวงหาประโยชน์ทางเพศ และการแสวงประโยชน์ในรูปแบบอื่น
-(5.3) ขจัดการปฏิบัติที่เป็นภัยทุกรูปแบบ อาทิ การบังคับเด็กแต่งงาน และการขลิบอวัยวะเพศหญิง
-(5.6) สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงสุขนามัยทางเพศ อนามัยการเจริญพันธุ์ และสิทธิการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า
#SDG13 การจัดการ/รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
-(13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
-(13.b) ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน และชุมชนท้องถิ่นและชายขอบ

แหล่งที่มา:
Five ways climate change hurts women and girls (UNFPA)

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น