แร่ธาตุจำพวกทองแดงและนิกเกิลเป็นที่ต้องการในการผลิตมาก โดยแหล่งแร่ธาตุที่มีความอุดมสมบูรณ์มากพอที่จะตอบสนองความต้องการได้มากกว่าแร่ธาตุในผืนดิน ก็คือท้องทะเลและมหาสมุทร นำมาซึ่งบทสนทนาสำคัญอย่างการทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึก (deep sea mining) แม้ว่าจะมีข้อคัดค้านหลักด้านผลกระทบเชิงลบและอันตรายจากกิจกรรมดังกล่าวที่จะมีต่อระบบนิเวศและสปีชีส์สิ่งมีชีวิตในท้องทะเล
นอกจากความคืบหน้าเมื่อต้นปีที่ 4 บริษัทระดับโลก เข้าร่วมลงนามกับกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ห้ามทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึกเป็นการชั่วคราวแล้ว การประชุมใหญ่สมัชชาการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลก 2020 (World Conservation Congress 2020) โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature – IUCN) เมื่อวันที่ 3-11 กันยายน 2564 ณ เมือง Marseille ประเทศฝรั่งเศส เป็นอีกก้าวสำคัญที่เข้ามากำหนดทิศทางของโลกในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งแวดล้อม และการสร้างหลักประกันการคุ้มครองสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล เมื่อสมาชิกส่วนใหญ่อันประกอบไปด้วยรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ ภาคประชาสังคมและองค์กรไม่แสวงผลกำไร โหวตเห็นชอบห้ามทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึกเป็นการชั่วคราว (moratorium on deep sea mining) ‘069 – Protection of deep-ocean ecosystems and biodiversity through a moratorium on seabed mining’
ในรายละเอียดของผลการโหวต พบว่าคะแนนเสียงจากภาครัฐ มีรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐรวมทั้งสิ้น 81 เสียงทีให้ความเห็นชอบ มี 18 เสียงที่คัดค้าน และมี 28 เสียงที่งดออกเสียง ขณะที่คะแนนเสียงจากภาคประชาสังคมและองค์กรไม่แสวงผลกำไร พบว่ามี 577 เสียงที่สนับสนุน 32 เสียงที่คัดค้าน และ 35 เสียงที่งดออกเสียง
น่าสนใจว่ากระทรวงด้านสิ่งแวดล้อมของเยอรมัน และรัฐบาลของฟิจิ เป็นตัวอย่างของฝากรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐที่โหวตสนับสนุน ขณะที่สหราชอาณาจักร เป็นหนึ่งในรัฐบาลที่งดออกเสียง โฆษกของกรมสิ่งแวดล้อม อาหาร และกิจการชนบทของสหราชอาณาจักร ชี้แจงว่า แม้สหราชอาณาจักรจะงดออกเสียง ‘แต่ยังคงให้คำมั่นที่จะไม่ให้การสนับสนุนการออกใบอนุญาตการทำเหมืองแร่ใต้ท้องทะเล นอกเสียจากว่าจะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เพียงพอยืนยันผลกระทบที่เป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศใต้ทะเลลึก โดยมีกฎระเบียบและมาตรฐานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่แข็งขันและบังคับใช้ได้’
ในส่วนของการขับเคลื่อนการห้ามทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึกเป็นการชั่วคราว ‘069 – Protection of deep-ocean ecosystems and biodiversity through a moratorium on seabed mining’ ระบุถึงการห้ามไม่ให้มีการทำเหมืองแร่ธาตุและเหล็กใต้ทะเลลึกใกล้กับผืนมหาสมุทร จนกว่าจะมีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเสร็จสิ้นแล้ว โดยเป็นไปด้วยความเคร่งครัดและโปร่งใส และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนสามารถมั่นใจได้ในมาตรการปกป้องสิ่งมีชีวิตทางทะเล
พร้อมกันนี้ ยังส่งสัญญาณถึงองค์กรพื้นดินท้องทะเลระหว่างประเทศ (International Seabed Authority: ISA) หน่วยงานที่ประกอบด้วยนานาสมาชิก 167 ประเทศและสหภาพยุโรป ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (United Nations Convention on the Law Of the Sea – UNCLOS) เรียกร้องให้มีการปฏิรูปด้านกระบวนการตัดสินใจทางนโยบายและกฎระเบียบที่โปร่งใสและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกฎระเบียบการออกใบอนุญาตการทำเหมืองแร่ใต้ท้องทะเลในเชิงพาณิชย์ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2566
ขณะที่ WWF ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่สนับสนุนการห้ามทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึกเป็นการชั่วคราว มีความเห็นว่า ISA ควรจะปฏิเสธการที่ภาคอุตสาหกรรมอ้างสรรพคุณของการขุดหาแร่ในพื้นทะเลว่าเป็นโซลูชันหนึ่งของการจัดการกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ ภาคประชาสังคมและองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ยืนหยัดให้การสนับสนุนการห้ามทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึกเป็นการชั่วคราว มีอาทิ Fauna and Flora International, Fundación MarViva, Natural Resources Defense Council, Synchronicity Earth, Sylvia Earle Alliance/Mission Blue, และ Wildlands Conservation Trust South Africa
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้องที่
BMW, Volvo, Google, และ Samsung SDI ลงนามกับ WWF ห้ามการทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึก
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
-(12.2) การจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2573-(12.4) การจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดในวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อที่จะลดผลกระทบทางลบที่จะมีต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ภายในปี 2563-(12.6) สนับสนุนให้บริษัท โดยฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนไปใช้ และผนวกข้อมูลด้านความยั่งยืนลงในวงจรการรายงานของบริษัทเหล่านั้น
#SDG14 ทรัพยากรในทะเลและมหาสมุทร
-(14.1) ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภท โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงซากปรักหักพังทางทะเล ภายในปี 2568
-(14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟูเพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี 2563
-(14.a) เพิ่มความรู้ทางวิทยาศาสตร์ พัฒนาขีดความสามารถในการวิจัย และถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเล เพื่อพัฒนาคุณภาพของมหาสมุทรและเพิ่มพูนให้ความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล
-(14.c) เพิ่มพูนการอนุรักษ์และการใช้มหาสมุทรและทรัพยากรเหล่านั้นอย่างยั่งยืน โดยการดำเนินการให้เกิดผลตามกฎหมายระหว่างประเทศตามที่สะท้อนใน UNCLOS ซึ่งเป็นกรอบทางกฎหมายสำหรับการอนุรักษ์และการใช้มหาสมุทรและทรัพยากรเหล่านั้นอย่างยั่งยืน ตามที่ระบุในย่อหน้าที่ 158 ของเอกสาร The Future We Want
แหล่งที่มา:
‘Momentous’ Moratorium on Deep-Sea Mining Adopted at Global Biodiversity Summit (EcoWatch / Common Dreams)
Conservationists call for urgent ban on deep-sea mining (the Guardian)
World Conservation Congress (IUCN)