Sydney Park Water Re-use Project ความภูมิใจของซิดนีย์ในการกักเก็บ-บำบัดน้ำ กลับมาใช้ไหลเวียนเลี้ยงเมืองต้านภัยแล้ง

ภัยแล้งที่ปะทะเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อต้นทศวรรษ 2000 อย่างหนักหน่วง ทำให้ซิดนีย์ต้องหาแนวทางใหม่ในการอนุรักษ์และจัดการน้ำในเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ จนกว่าภัยแล้งจะผ่านพ้นไป จุดนี้เองที่ทำให้ซิดนีย์เริ่มตระหนักถึงความมั่นคงทางน้ำทั้งในปัจจุบันและในอนาคต จนภายหลังนำมาซึ่งแผน Sustainable Sydney 2030 และแผนแม่บท Decentralised Water Master Plan   

Turf Design Studio ทีมภูมิสถาปนิกในเมืองซิดนีย์ ที่มีความโดดเด่นด้านวิธีคิดและการออกแบบพื้นที่เมืองและโครงสร้างพื้นฐานการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมและความเป็นชุมชนอย่างกลมกลืน โดยคำนึงถึงอาคารและพื้นที่ที่พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การกักเก็บน้ำ และการหมุนเวียนใช้น้ำซ้ำใหม่ จึงได้เข้ามาช่วยวางแผนผลักดันโครงการ Sydney Park Water Re-Use Project ที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน โดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ด้านน้ำ และเป็นโครงการด้านการกักเก็บน้ำฝนที่ใหญ่ที่สุดของซิดนีย์ มีจุดเน้นที่การลดการใช้น้ำลงให้ได้ 10% ก่อนปี 2573

ด้วยการออกแบบให้สวนสาธารณะสามารถกักเก็บน้ำและบำบัดน้ำฝนได้ ยังหมายถึงการนำเครื่องมือเข้ามาช่วยในกระบวนการ อาทิ เครื่องมือช่วยเติมอากาศ (aeration devices) ตัวช่วยดักจับมลพิษ ระบบกักเก็บน้ำด้วยพืชพรรณ (bio-retention systems) และการสร้างพื้นที่ชุ่มน้ำ

ทำให้ซิดนีย์สามารถบำบัดน้ำฝนนำกลับมาใช้ใหม่ได้เฉลี่ยที่มากกว่า 8 ล้านแกลลอนหรือ 85 ล้านลิตรต่อปี น้ำที่ผ่านการรีไซเคิลมาแล้วก่อนที่จะนำไปใช้ในทางชลประทาน ยังได้รับการบำบัดกำจัดเชื้อโรคด้วยการกรองและการใช้ UV ฆ่าเชื้อ

ผลลัพธ์ที่ได้นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งได้โดยตรง ให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการหมุนเวียนในแหล่งน้ำ การชลประทานในพื้นที่ต่าง ๆ ของเมือง ยังเป็นแหล่งบริการด้านน้ำ อาทิ สามารถนำไปใช้ในการซักล้างของผู้ผลิตเสื้อผ้าได้ด้วย การพัฒนากลไก/เครื่องมือการบำบัดน้ำยังช่วยป้องกันไม่ให้น้ำที่ยังไม่ได้รับการบำบัดไหลเวียนกลับไปยังอ่าว Botany Bay ดังที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นอีกปัญหาหนึ่งว่าด้วยประเด็นคุณภาพน้ำ

ทั้งนี้ ความสำเร็จของการพัฒนาสวนสาธารณะของซิดนีย์ดังกล่าว ยังเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนให้ชุมชนเติบโตมากขึ้นทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง อำนวยแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์เฉพาะถิ่น และเป็นบทเรียนสำหรับผู้ที่มาเยือนให้เห็นความเชื่อมโยงของการออกแบบ สุขภาวะที่ดี คุณภาพและการอำนวยความสะดวกของพื้นที่สาธารณะสีเขียว และท้ายที่สุดทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการน้ำ และวิธีการในการปรับปรุงคุณภาพน้ำ ลดการใช้น้ำ โดยเชื่อมแหล่งน้ำของเมืองให้เป็นแหล่งน้ำของสิ่งแวดล้อมด้วย

● อ่านบทความที่เกี่ยวข้องที่:
ใช้เทคโนโลยีตั้งแต่ low ถึง high tech ด้วย ‘Nature-Based Solutions’ สร้างเมืองอัจฉริยะจัดการน้ำรับมือ Climate change
พื้นที่สีเขียวช่วยเยียวยาสุขภาพกายและจิตใจ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG6 น้ำดื่มสะอาด สุขอนามัย และสุขาภิบาลที่ดี
-(6.3) ยกระดับคุณภาพน้ำ โดยลดมลพิษ ขจัดการทิ้งขยะและลดการปล่อยสารเคมีและวัสดุอันตราย ลดสัดส่วนน้ำเสียที่ไม่ผ่านกระบวนการบำบัดลงครึ่งหนึ่ง และเพิ่มการนำกลับมาใช้ใหม่ทั่วโลก ภายในปี 2573
-(6.4) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในทุกภาคส่วน และสร้างหลักประกันว่าจะมีการใช้น้ำและจัดหาน้ำที่ยั่งยืน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ และลดจำนวนประชาชนที่ประสบความทุกข์จากการขาดแคลนน้ำ ภายในปี 2573
-(6.b) สนับสนุนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนาการจัดการน้ำและสุขอนามัย
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
-(11.7) จัดให้มีการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียว ที่ปลอดภัย ครอบคลุมและเข้าถึงได้ โดยถ้วนหน้า ภายในปี 2573
-(11.a) สนับสนุนการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในเชิงบวกระหว่างพื้นที่เมือง รอบเมือง และชนบท โดยการเสริมความแข็งแกร่งของการวางแผนการพัฒนาในระดับชาติและระดับภูมิภาค
#SDG13 การรับมือ/จัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
-(13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ

แหล่งที่มา:
7 Modern Designs That Prove Waste Treatment Architecture is Overlooked and Underrated (architizer.com)
Sydney Park Water Re-Use Project (architizer.com)

Last Updated on กันยายน 16, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น