1 ปีของการใช้ซ้ำถ้วยรองประจำเดือน ทดแทนผ้าอนามัยราว 20 ชิ้นต่อเดือนและอีกหลายร้อยปีกว่าที่ขยะผ้าอนามัยจะย่อยสลาย

ในหมวดสินค้าอนามัยสำหรับผู้หญิง ถ้วยรองประจำเดือน (menstrual cup) ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด และกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน แม้ผู้หญิงจำนวนมากยังใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่นและผ้าอนามัยแบบสอดตามความคุ้นชิน

นอกจากสินค้า 1 ชิ้นที่ว่านี้ จะตอบโจทย์ด้านความคุ้มค่าเพราะสามารถใช้ซ้ำได้นานถึง 10 ปี ศาสตราจารย์ Susan Powers ด้านระบบสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนประจำมหาวิทยาลัย Clarkson ได้ทำการศึกษาโดยใช้การประเมินวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (life cycle assessment) ที่ประเมินว่าวัตถุดิบ พลังงาน และกระบวนการที่เกี่ยวข้องในการผลิต การใช้ และการทำลายนั้นเป็นอย่างไร และนำมาเปรียบเทียบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม อาทิ ในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทรัพยากรธรรมชาติที่ร่อยหรอ ตลอดจนผลกระทบทางสุขภาพของผ้าอนามัยแบบแผ่น ผ้าอนามัยแบบสอด และถ้วยรองประจำเดือน

ในท้ายที่สุดผลลัพธ์ย้ำข้อสันนิษฐานอีกครั้งว่า ถ้วยรองประจำเดือนมีความยั่งยืนมากที่สุด ในแง่ที่ราคาถูกกว่าและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดในทุกมิติของการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนผ้าอนามัยแบบแผ่นส่งผลกระทบมากที่สุด – เนื่องจากน้ำหนักและกระบวนการผลิตที่ใช้วัตถุดิบมาก ตามมาด้วยผ้าอนามัยแบบสอด

ในรายละเอียดตามการศึกษาของศาสตราจารย์ Susan Powers ยังแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่มีต่อสุขภาพ เช่น สารสังเคราะห์ไดออกซินที่ได้จากการฟอกสีเยื่อไม้เพื่อนำมาใช้เป็นผ้าอนามัย และการปล่อยโคเมียมจากพลังงานฟอสซิล เป็นต้น ดังนั้น การที่ลดความต้องการสินค้าประเภทที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง จะสามารถช่วยลดมลพิษและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้

หากพิจารณาดูตัวอย่างกรณีของสหรัฐฯ ในทุกปี ผู้หญิงจะใช้เงินไปกับผ้าอนามัยแบบแผ่นและผ้าอนามัยแบบสอดอย่างน้อย 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และผ้าอนามัยสองชนิดที่ว่านี้ ยังใช้เวลาหลักร้อยกว่าปีในการย่อยสลาย

ขณะที่ถ้วยรองประจำเดือนซึ่งมีรูปร่างเป็นกระดิ่งทำจากซิลิโคนหรือยางที่มีความยืดหยุ่นกับวิธีการใช้โดยสอดเข้าไปในอวัยวะเพศเพื่อรองรับกับประจำเดือนที่สามารถใช้งานได้นานถึง 12 ชั่วโมงก่อนจะนำไปล้างทำความสะอาดด้วยน้ำร้อนและสบู่แล้วนำกลับมา (สอด) ใช้ซ้ำได้นั้น 1 ชิ้นเทียบได้กับผ้าอนามัยแบบแผ่นหรือแบบสอดราว 20 แผ่น/ชิ้นต่อเดือน โดยที่ 1 ชิ้นที่ว่านี้สามารถใช้งานได้นานถึง 10 ปี นั่นหมายความว่า การใช้งานเต็มระยะเวลา 1 ปี จะสามารถช่วยลดผลกระทบได้เทียบเท่ากับ 1 ใน 10 ของผลกระทบจากการผลิตและการทำลายทั้งหมด

เรียกว่าประหยัดทั้งเงิน และยังเป็นอีกหนึ่งก้าวที่มีความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า

● อ่านสถานการณ์ถ้วยรองประจำเดือนในไทยที่:
ประสบการณ์สาวไทยผู้สลัดผ้าอนามัยมาใช้ถ้วยรองประจำเดือน (BBC 2562)
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้องที่:
ครั้งแรก! ร้านค้าปลีกรายใหญ่ Lidl ในไอร์แลนด์ เดินหน้า ‘Period Poverty Initiative’ จ่ายแจกผ้าอนามัยให้ผู้หญิงฟรี

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ในด้านสุขนามัยทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

-(12.4) การจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดในวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดทั้งวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้น และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อที่จะลดผลกระทบทางลบที่จะมีต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด
-(12.5) ลดการผลิตของเสียโดยการป้องกัน การลด การแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำมาใช้ซ้ำ ภายในปี 2573

แหล่งที่มา:
Menstrual cups are a cheaper, more sustainable way for women to cope with periods than tampons or pads (the Conversation)

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น