ข้อมูลจากรายงานล่าสุดโดยการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UN Conference on Trade and Development – UNCTAD) ‘Trade and Development Report 2021’ คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะสามารถฟื้นกลับมาภายในปีนี้กับการเติบโตที่ 5.3% และเป็นการเติบโตในอัตราที่เร็วที่สุดในห้วงเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา ถึงกระนั้น การฟื้นกลับและเติบโตที่ว่าเป็นไปอย่างไม่เท่าเทียมภายในภูมิภาค ระหว่างภาคส่วน (sectoral) และเส้นรายได้
และเมื่อถึงช่วงปี 2565 การเติบโตของโลกจะช้าลงอยู่ที่ 3.6% ทำให้ระดับรายได้จะต่ำกว่าเส้นรายได้ก่อนโรคระบาด 3.7% แต่การเติบโตของโลกก็อาจจะช้าลงได้มากกว่าที่คาดการณ์ก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับผู้กำหนดนโยบายและประเด็นวัคซีน
หากมาดูที่ความแตกต่างทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาจะพบว่า ขณะที่ประเด็นการใช้จ่ายสาธารณะไม่ได้มีข้อจำกัดในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ แต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนา กฎระเบียบระหว่างประเทศและแนวปฏิบัติยังจำกัดการดำเนินการของประเทศเหล่านี้ให้เป็นเสมือนก่อนช่วงโรคระบาด ทั้งที่ประเทศกำลังพัฒนาเป็นฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดมากกว่าที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติทางการเงินเสียอีก หมายความว่า การที่ยังมีข้อจำกัดเรื่องภาระหนี้ที่หนักหน่วง ก็ยิ่งส่งผลต่อการใช้จ่ายสาธารณะของประเทศนั้นด้วย
ผลจากการที่ไม่มีอำนาจในการควบคุมการเงินด้วยตัวเองซ้อนทับกับปัญหาการเข้าถึงวัคซีน เป็น 2 ข้อใหญ่ ๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาอาจจะฟื้นกลับจากโรคระบาดได้ยาก จนกล่าวได้ว่า ช่องว่างของประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตและเศรษฐกิจที่ซบเซาจะยิ่งห่างกว้างขึ้น ในบรรดาประเทศกลุ่มหลังนี้อาจเผชิญกับอีกหนึ่งทศวรรษที่สูญหาย (lose decade)
ปัจจัยที่สามารถช่วยลดช่องว่างดังกล่าวลงได้ Rebeca Grynspan เลขาธิการของ UNCTAD ย้ำถึงรายละเอียดอย่างการผ่อนปรนหนี้ (debt relief) การยกเลิกหนี้ในบางกรณี การประเมินนโยบายการคลังเสียใหม่ การประสานการปฏิบัติ/นโยบาย การให้การสนับสนุนด้านวัคซีนสำหรับประเทศกำลังพัฒนา การผ่อนปรนในด้านทรัพย์สินทางปัญหาที่เกี่ยวกับวัคซีน และการเก็บภาษีขั้นต่ำกับบรรษัทระดับโลก เป็นต้น
ทั้งนี้ ก็ด้วยการอาศัยปัจจัยอย่างนโยบายที่ให้ความสำคัญกับ ‘ความร่วมมือพหุภาคี’ ที่สำคัญประเทศพัฒนาแล้วจะต้องให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และเสียงจากประเทศกำลังพัฒนาแล้วจะต้องเข้ามามีบทบาทในโลกเพื่อร่วมจัดการกับวิกฤติระดับโลก
เพราะถ้าไม่มีสิ่งนี้แล้ว ความเสมอภาคของประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา และความพร้อมเผชิญกับประเด็นของยุคสมัย จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งยังปล่อยให้ประเทศกำลังพัฒนายังอ่อนแอและอยู่ในจุดที่เปราะบางต่อไป
● เข้าถึง Press release สรุปรายงานโดยสังเขป ที่นี่ และรายงานฉบับเต็ม ที่นี่
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้องที่:
– ธรรมาภิบาลโลก (global governance) หลังโควิด-19 จะเป็นอย่างไร ‘ความร่วมมือพหุภาคี’ ยังคงเป็นหัวใจสำคัญ
– Build Back Better ที่ครอบคลุมและยั่งยืนในประเทศซีกโลกใต้เริ่มได้ด้วยการผ่อนปรนการชำระหนี้
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.b) ในด้านความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าอย่างเต็มที่ ในเรื่องการผ่อนปรนเพื่อจะปกป้องสุขภาพสาธารณะและโดยเฉพาะการเข้าถึงยาโดยถ้วนหน้า
#SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่มีคุณค่า
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศและระหว่างประเทศ
-(10.5) พัฒนากฎระเบียบและการติดตามตรวจสอบตลาดเงินและสถาบันการเงินของโลก และเสริมความแข็งแกร่งในการดำเนินการกฎระเบียบดังกล่าว
-(10.6) หลักประกันว่าจะมีตัวแทนและเสียงสำหรับประเทศกำลังพัฒนาในการตัดสินใจของสถาบันทางเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
#SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน
-(17.1) ส่งเสริมการระดมทรัพยากรภายในประเทศ โดยรวมถึงผ่านทางการสนับสนุนระหว่างประเทศไปยังประเทศกำลังพัฒนา
-(17.4) ช่วยประเทศกำลังพัฒนาในการบรรลุความยั่งยืนของหนี้ระยะยาว โดยใช้นโยบายที่ประสานงานกันที่มุ่งส่งเสริมการจัดหาเงินทุนโดยการก่อหนี้ การบรรเทาหนี้ และการปรับโครงสร้างหนี้ตามความเหมาะสม และแก้ปัญหาหนี้ต่างประเทศของประเทศที่ยากจนและมีหนี้สินในระดับสูงเพื่อลดการประสบปัญหาหนี้
-(17.15) เคารพพื้นที่ทางนโยบายและความเป็นผู้นำของแต่ละประเทศที่จะสร้างและดำเนินงานตามนโยบาย
-(17.16) ยกระดับความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยส่งเสริมความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลาย เพื่อสนับสนุนโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
-(17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม
แหล่งที่มา:
Global economy projected to show fastest growth in 50 years (UN News)