Site icon SDG Move

ผู้สูงอายุที่ท่องโลกอินเทอร์เน็ตหลังเกษียณเป็นประจำ มีแนวโน้มการทำงานของสมองด้านการรู้คิดที่ดีกว่า

งานวิจัยในยุโรปพบว่า การใช้อินเทอร์เน็ตในช่วงวัยเกษียณของผู้สูงอายุสามารถช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองด้านการรู้คิด (cognitive function) ได้

การทำงานของสมองด้านการรู้คิด (cognitive functions) ซึ่งเป็นการทำงานขั้นสูงของสมอง ได้แก่ความสามารถด้านความจำ (memory) ภาษา (language) การรับรู้ระยะและทิศทาง (visuospatial) การทำกิจกรรมที่มีขั้นตอน (praxis) การมีสมาธิในการทำกิจกรรมที่ซับซ้อน (attention) การตัดสินใจในการทำกิจกรรมหรือบริหารงาน (executive function) รวมทั้งการแสดงออกของพฤติกรรม (behaviour) และอารมณ์ (mood)
ที่มา – คลินิกความจำ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Economic Behavior and Organization ในหัวข้อ “Internet usage and the cognitive function of retirees” วิเคราะห์การทำงานของสมองด้านการรู้คิดของผู้เกษียณอายุทั้งหมด 2,105 คนจาก 10 ประเทศทั่วยุโรป ได้แก่ ออสเตรีย เบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี อิสราเอล สเปน สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์ พบว่า การใช้อินเทอร์เน็ตหลังเกษียณสัมพันธ์กับคะแนนการทดสอบการทำงานของของสมองด้านการรู้คิดที่สูงกว่าอย่างมาก

ทีมนักวิจัยจาก Lancaster University Management School, the Norwegian University Science and Technology และ Trinity College Dublin ให้กลุ่มประชากรในการศึกษาที่เกษียณอายุตั้งแต่ปี 2004 ทำการทดสอบการทำงานของสมองสองรอบ ในปี 2013 และ 2015 โดยเน้นไปที่ความสามารถในจำชุดคำศัพท์ (word recall test) จากนั้น พิจารณาประกอบกับข้อมูลประชากรด้านสุขภาพ ประวัติการทำงาน และสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้สูงอายุ ที่ได้จากโครงการการสำรวจ Survey of Health, Ageing and Retirement in Europe (SHARE)

ผลจากการทดสอบความสามารถในการจำคำศัพท์ พบว่า ผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตหลังจากเกษียณอายุสามารถจำคำศัพท์ได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ย 1.22 คำ (8%) โดยทั้งหญิงและชายวัยเกษียณที่ท่องอินเทอร์เน็ตเป็นประจำสามารถจำคำศัพท์ได้มากกว่ากลุ่มประชากรที่ไม่ใช้อินเทอร์เน็ต 2.37 คำ และ 0.94 คำ ตามลำดับ

แม้ว่าผู้หญิงจะได้คะแนนความสามารถในการจำคำศัพท์ดีกว่าผู้ชาย แต่ผู้เกษียณอายุที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นประจำส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ที่ยังมีอายุไม่มาก มีระดับการศึกษาดีกว่า และเพิ่งเกษียณจากงานเพียงระยะเวลาไม่นาน และยังพบว่าผู้เคยทำงานกับคอมพิวเตอร์มาก่อนมีแนวโน้มที่จะใช้คอมพิวเตอร์ต่อไปในช่วงวัยเกษียณ ซึ่งจะทำให้คนกลุ่มนี้มีการทำงานของสมองด้านการรู้คิดที่ดีกว่าด้วย

เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในวัยเกษียณ พบตัวเลขที่แตกต่างกันมากในแต่ละประเทศในยุโรป โดยมีคนวัยเกษียณเพียง 12% ในอิตาลีเท่านั้นที่ใช้อินเทอร์เน็ต ในขณะที่ตัวเลขในยุโรปสูงถึงมากกว่า 60%

การศึกษาก่อนหน้านี้ได้แสดงให้เห็นว่าการเกษียณอายุเป็นช่วงเวลาสำคัญของการเกิดภาวะการทํางานของสมองเสื่อมถอยลง (cognitive decline) ซึ่งสัมพันธ์กับทั้งการมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่แย่ลง การศึกษานี้ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของพฤติกรรมหลังการเกษียณ เช่น การใช้อินเทอร์เน็ต ที่จะสามารถช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองได้

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรคและสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
#SDG9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน
- (9.c) เพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีด้านข้อมูลและการสื่อสาร และพยายามที่จะจัดให้มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยถ้วนหน้าและในราคาที่สามารถจ่ายได้ ในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ภายในปี 2563

ที่มา : Using internet in retirement boosts cognitive function (Lancaster University)

Author

  • Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

Exit mobile version