แนวคิดความยั่งยืนและวิธีคิดที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมไม่เพียงแต่แทรกซึมหรือเผยให้เห็นผ่านวิถีการใช้ชีวิตและการออกแบบกิจกรรมขณะที่เรายังมีลมหายใจอยู่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงความยั่งยืนหลังจากการลาลับ ซึ่งในห้วงทศวรรษที่ผ่านมานี้ บทสนทนาเกี่ยวกับทางเลือกของการจัดการศพยุคใหม่ที่แนวโน้มประชากรโลกจะมีเพิ่มมากขึ้น – จำนวนศพมากตามไปด้วย เนื้อที่ดินมีลดน้อยลงจนอาจไม่เพียงพอรองรับกับการฝังศพ ขณะที่โลกยังเผชิญกับปัญหาโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่หนึ่งในตัวการก็มาจากกิจกรรมและการฌาปณกิจศพของมนุษย์เอง นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่มีการกล่าวขานถึงมากขึ้น กระทั่งนำไปสู่การเกิดขึ้นของธุรกิจการจัดการศพสีเขียว
SDG Updates วันพฤหัสบดีนี้ ชวนผู้อ่านอ่านกระแสของบทสนทนาว่าด้วยการทิ้งรอยเท้าแห่งความยั่งยืนของผู้ที่จากไป รูปแบบที่เป็นไปได้ และตัวอย่างธุรกิจของการจัดการศพสีเขียว
01 – ฝัง หรือ เผา แบบไหนที่ยั่งยืนกว่ากัน?
มีการประมาณการณ์ว่า โลกจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตราว 80 ล้านชีวิตต่อปีภายในปี 2040 (พ.ศ. 2583) และจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 102 ล้านชีวิตต่อปีภายในปี 2060 (พ.ศ. 2603) โดยวิธีการจัดการกับศพมีทั้งการเผา การฝังในดิน และการเก็บในห้อง/โลงจนกว่าจะมีการย่อยสลายเหลือเพียงชิ้นส่วนของกระดูก วิธีการเหล่านี้ล้วนใช้พลังงาน ใช้พื้นที่ ใช้เวลา และใช้ทรัพยากร อาทิ ไม้ถ่าน และก๊าซสำหรับการเผา
คำถามคงจะเป็นว่าระหว่างการฝังกับการเผา แบบไหนที่ยั่งยืนกว่ากัน? สำหรับการฝัง (burial) แน่นอนว่าจะต้องใช้พื้นที่ดินจำนวนมาก นอกจากนั้น ข้อมูลโดย Northwoods Casket Company ของสหรัฐฯ ประมาณไว้ว่า ทรัพยากรที่ใช้ในการฝังโลงศพในดินของสหรัฐฯ ต่อปี จะต้องใช้เหล็กราว 100,000 ตัน ปูนคอนกรีต 1.5 ล้านตัน และต้นไม้ราว 77,000 ต้น ที่สุดท้ายโดยมากกลายเป็นซากทิ้งที่ไม่ย่อยสลาย ทั้งยังต้องใช้น้ำยาดองศพไม่ให้เน่าเสีย (embalming fluid) หรือ สารฟอร์มาลีน 4.3 ล้านแกลลอน ซึ่งเมื่อแตกสลายก็อาจจะกลายเป็นมลพิษในอากาศ
ถึงกระนั้น แม้ว่าการเผา (cremation) เมื่อเปรียบเทียบแล้วจะมีข้อดีในเชิงของค่าใช้จ่ายในการจัดการกับศพที่ไม่สูงนัก ใช้พื้นที่ดินน้อย – ซึ่งดีต่อพื้นที่เมือง ทำให้ประชาชนในบางประเทศ อาทิ ชาวอังกฤษ เปลี่ยนจากการฝังมานิยมการเผามากขึ้น อย่างไรก็ดี ข้อมูลจาก Natural Death Centre ระบุว่า การเผาใน 1 ครั้งใช้ทั้งก๊าซและไฟฟ้าเทียบเท่าได้กับการขับรถยนต์เดินทางร่วม 500 ไมล์ (ราว 805 กิโลเมตร) และในกระบวนการเผาศพ 1 ศพนั้น ยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 250 ปอนด์ (ประมาณ 113 กิโลกรัม)
แนวคิดของความยั่งยืนกับการจัดการศพจึงเข้ามาเสริมในจุดนี้ กับโจทย์ที่ว่าจะทำอย่างไรให้สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากวิธีการฝังได้ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โลหะหนัก หรือมลพิษจากวิธีการเผา
02 – รูปแบบความยั่งยืนที่เป็นไปได้: การฝังสีเขียว การเผาสีเขียว และอื่น ๆ ?
ในทางหนึ่ง พื้นที่สำหรับบริการจัดการงานศพ อาทิ สุสาน หากจะมองให้เป็นโอกาสก็ถือได้ว่าเป็นพื้นที่กักเก็บคาร์บอน (carbon capture) ดังนั้น การปรับวิธีการจัดการกับศพเสียใหม่ก็สามารถทำได้เพื่อให้สอดคล้องกับธรรมชาติมากขึ้น เช่น การฝังสีเขียว (green burial) ในที่ที่สามารถให้ต้นไม้เติบโตเหนือ/บริเวณหลุมฝังศพ หรือการทำโลงศพจากเห็ด เชื้อรา และแบคทีเรียเพื่อให้สามารถย่อยสลายศพได้เร็วขึ้น (จากเดิมที่การฝังอาจใช้เวลาย่อยสลายภายในระยะเวลา 10 ปี) ซึ่งหากปรับวิธีการฝังให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ดั่งที่ว่า ยังจะเป็นการลดการสรรหาที่ดินใหม่ เพื่อการสร้างอนุสรณ์สุสานที่จะต้องใช้พื้นที่และวัสดุในการก่อสร้างจำนวนมาก
และอีกวิธีการหนึ่งก็คือ การเผาสีเขียว (green cremation) หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ Bio-cremation, Aqua-cremation / Aquamation, Water-based cremation และ Resomation ซึ่งหมายถึง กระบวนการอัลคาไลน์ไฮโดรไลซิสโดยการนำศพใส่ในโลงเหล็กสเตนเลสที่เต็มไปด้วยสารละลายน้ำ (95%) และอัลคาไลน์ (5% – โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ หรือ โซเดียมไฮดรอกไซด์) ในอุณหภูมิที่ 150°c (350°F) สารละลายนี้จะไหลเวียนไปตามร่างกายเพื่อให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน (oxidation) อย่างรวดเร็ว ละลายเหลือเป็นชิ้นส่วนกระดูกและผงขาวภายในระยะเวลา 20 ชั่วโมง จากนั้นจึงสามารถนำส่วนที่เหลือไปใส่ในโกศหรือนำกลับคืนสู่ธรรมชาติ วิธีการนี้เป็นการลดการใช้เชื้อเพลิงจากวิธีการเผาดั้งเดิม ⅛ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศที่น้อยมาก และไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมี สำหรับชาวตะวันตก วิธีการนี้เริ่มนิยมกันมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อาทิ เพิ่งจะเป็นวิธีการจัดการกับศพที่กฎหมายของรัฐแคลิฟอเนียร์ สหรัฐฯ อนุญาตและรับรองให้ทำได้เมื่อ พ.ศ. 2560
หรือตัวอย่างจากกรณีของไทยกับการจัดการศพด้วยการเผา เรียกได้ว่าในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ก็มีการพัฒนาและส่งเสริมให้ ‘วัด’ ซึ่งเป็นสถานที่เผาศพตั้งอยู่ในย่านชุมชนหันมาใช้ เตาเผาศพปลอดสารพิษ กันมากขึ้น เพื่อลดการใช้พลังงานน้ำมันลงจากเดิม และขจัดปัญหาควันพิษ – สารตกค้าง อาทิ สารไดออกซินและฟิวแรนจากการเผาศพดั้งเดิมที่อาจจะกระจายไปรอบชุมชน ปัญหานี้สำคัญหากมองจากมุมของพื้นที่เมืองอย่างกรุงเทพฯ ที่แออัดและปัญหาฝุ่นควันส่วนหนึ่งนั้นมาจากการเผาศพ จนสามารถกล่าวได้ว่าประเด็นทางเลือกการจัดการกับศพและงานศพนั้น เกี่ยวพันกับทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย
หลักการที่มีการพูดถึงกันต่อมาคือ การย่อยสลายร่างกายมนุษย์ (human composting)ด้วยเหตุผลเดียวกันคือต้องการลดการใช้พื้นที่ดินจากการฝัง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผา แต่เป็นในวิธีการที่เปรียบเสมือนกับการทำสวน กล่าวคือ การย่อยสลายขยะอาหารให้เป็นปุ๋ยมาเป็นการย่อยสลายร่างกายของมนุษย์ให้กลายเป็นปุ๋ยที่อุดมด้วยแมกนีเซียม แคลเซียม และฟอสฟอรัสสำหรับการบำรุงดินตามธรรมชาติ
ตัวอย่างของการผลักดันเกิดขึ้นในกฎหมายของรัฐวอชิงตัน สหรัฐฯ ที่อนุญาตให้สามารถจัดการกับศพด้วยวิธีการนี้ได้ในปี พ.ศ. 2562 ตามมาด้วยกฎหมายของรัฐโคโลราโดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 รัฐโอเรกอนเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 และกำลังมีความพยายามผลักดันผ่านร่างกฎหมายในรัฐอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ด้วย
นอกจากการกลับคืนสู่ผืนดินแล้ว อีกหนึ่งวิธีการคือการกลับคืนสู่ผืนน้ำ เป็นวิธีการจัดการศพให้เป็นส่วนหนึ่งของปะการังเทียมในท้องทะเล กล่าวคือ นำชิ้นส่วนกระดูกทำเป็นส่วนหนึ่งของโครงร่างปะการังเทียมที่จะนำไปวางไว้ใต้ท้องทะเล เป็นสิ่งแวดล้อมและแหล่งที่อยู่อาศัย (ใหม่) ของสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ
แนวคิดที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมสามารถกลับไปสู่พื้นฐานอย่าง การออกแบบโลงศพ โดยแต่เดิมที่ใช้วัสดุที่หายาก/ย่อยสลายยาก สามารถหันมาเลือกใช้วัสดุที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ โลงศพที่ไม่ได้ทำจากโลหะหนัก ไปจนถึงโลงศพที่ทำมาจากเส้นใยของเห็ดเพื่อช่วยในการย่อยสลายศพ
03 – ตัวอย่างธุรกิจสีเขียวที่หันมาจัดการศพอย่างยั่งยืน
บริษัท Recompose จากสหรัฐฯ เป็นบริษัทที่มักปรากฎตัวตามหน้าข่าวสารเมื่อกล่าวถึงธุรกิจที่บริการการจัดการศพประเภทย่อยสลายร่างกายให้เป็นปุ๋ย เพราะเป็นบริษัทแรกของโลกที่ดำเนินการด้วยวิธีนี้ โดยหลังจากวางศพไว้ในโลงที่ทำจากเหล็กแล้วหมักด้วยเศษไม้ต้นอัลฟัลฟา และฟางข้าว พร้อมกับควบคุมปัจจัยอื่นสำหรับการย่อยสลาย ทั้งความชื้น ก๊าซออกซิเจน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซไนโตรเจน เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการภายในระยะเวลา 6 สัปดาห์แล้ว ปุ๋ยที่ได้จากร่างกายมนุษย์นี้จะมีความปลอดภัยจนสามารถนำไปใช้ในการปลูกผักได้
บริษัท Loop จากเนเธอร์แลนด์ กับคำโปรยที่ว่า ‘คุณเป็นขยะหรือคุณเป็นปุ๋ย?’ สร้างโลงศพที่ทำมาจากเส้นใยของเชื้อราที่เติบโตในรากของต้นไม้ หรือเส้นใยของเห็ด (ไมซีเลียม) นอกจากโลงศพนี้จะย่อยสลายได้โดยจุลินทรีย์ในดิน (biodegradable) ยังสามารถผันให้สสารที่เหลืออยู่เป็นสารอาหารหล่อเลี้ยงดินและต้นไม้รอบบริเวณนั้น และปรับสารพิษให้เป็นกลาง ในท้ายที่สุด โลงศพที่มีชีวิตนี้จะหมุนเวียนกลับสู่วงจร ‘ลูป’ ตามธรรมชาติ
Eternal Reefs บริษัทที่ให้บริการจัดการศพเป็นทั้งการอนุรักษ์ – ปกป้องสิ่งแวดล้อมในท้องทะเล พร้อมกับช่วงเวลาของการรำลึกถึง โดยสร้างปะการังเทียมน้ำหนักประมาณ 272 – 1,814 กิโลกรัมที่บรรจุชิ้นส่วนกระดูก หรือที่ผนวกให้ชิ้นส่วนกระดูกเป็นส่วนประกอบหนึ่งของโครงร่างปะการังเทียมนั้น ก่อนจะใช้รถยกนำไปวางไว้ที่พื้นทะเลเพื่อเติมเต็มระบบของปะการังตามธรรมชาติที่ส่วนใหญ่ถูกทำลายไป โดยที่ผ่านมา Eternal Reefs ได้ดำเนินการไปมากกว่า 2,500 กรณีใน 30 พื้นที่ที่ทางการสหรัฐฯ อนุญาตให้สามารถดำเนินการได้ อาทิ ชายฝั่งของรัฐฟลอริดา รัฐนิวเจอร์ซี และรัฐเท็กซัส
ทิ้งท้าย: ข้อควรคำนึงถึงเมื่อจะเปลี่ยนไปเลือกวิธีการจัดการศพสีเขียว
อย่างไรก็ดี เวลาที่คนคนหนึ่งลาลับ วิธีการปฏิบัติในการจัดการกับศพและงานศพโดยพื้นฐานแล้วย่อมแตกต่างกันไปตามแต่ละ ‘วัฒนธรรม’ ซึ่งมีความละเอียดอ่อน ไม่ว่าจะด้วยการฝังหรือการเผา และเป็นวิธีการดั้งเดิมที่อาจส่งผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมก็เป็นได้ ซึ่งนอกจากการหันไปเลือกวิธีปฏิบัติใหม่ในการจัดการงานศพจะต้องคำนึงถึงการประนีประนอมกับแบบแผนดั้งเดิมและสังคมนั้น ๆ และการเคารพช่วงเวลาที่ยากลำบากของครอบครัวผู้เสียชีวิต การจะควบคุมชีวิตในห้วงสุดท้ายยังมีปัจจัยในด้าน ‘ราคาที่สามารถหาซื้อได้’ (affordability) กล่าวคือ การจัดการงานศพเป็นสิทธิ และกระบวนการของมันทั้งดั้งเดิมหรือในนามของความยั่งยืน ก็ไม่ควรมาพร้อมกับการเพิ่มค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถจะจ่ายไหว
และประเด็นวิธีการจัดการงานศพอันหมายรวมถึงการนำเทคโนโลยีมาประกอบใช้นี้ ยังขึ้นอยู่กับกฎหมายของรัฐและประเทศนั้น ๆ ที่ให้การรับรองและอนุญาตให้สามารถดำเนินการได้โดยไม่ผิดกฎหมายด้วย
ที่สำคัญ วิธีการสีเขียวดั่งที่ได้หยิบยกมานี้ จะส่งแรงกระเพื่อมในเรื่องความยั่งยืนได้หรือไม่เพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนคิดเห็นอย่างไร และในแต่ละปี จะมีคนที่ร่วมกันเลือกจัดงานศพในลักษณะนี้กี่หมื่นกี่แสนคน?
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.9) ในด้านมลพิษ สารปนเปื้อน/สารตกค้างที่กระทบต่อสุขภาพ
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
-(12.2) บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2573
-(12.4) บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดในวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้น และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อที่จะลดผลกระทบทางลบที่จะมีต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด
-(12.8) สร้างหลักประกันว่าประชาชนในทุกแห่งมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องและความตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
-(13.3) ในด้านการตระหนักรู้และลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
-(15.1) ในด้านการฟื้นฟูระบบนิเวศบนบก โดยเฉพาะป่าไม้
-(15.3) ในด้านการฟื้นฟูแผ่นดินและดินที่เสื่อมโทรม
แหล่งอ้างอิง:
Funerals will hit 100 million a year by 2060 – here’s how to make them more sustainable (The Conversation)
A greener way to go: what’s the most eco-friendly way to dispose of a body? (the Guardian)
What Is the Most Eco-Friendly Burial Method? Here Are a Few Options (greenmatters.com)
‘Human Composting’ Is A New End-Of-Life Option That Turns Bodies Into Soil (simplemost.com)
5 weird and wonderful ways to make your death eco-friendly (euronews)
An increasingly popular way to be buried: Become part of an artificial reef (the Washington Post)
Understanding Green Cremation (basicfunerals.ca)
เตาเผาศพปลอดมลพิษ นวัตกรรมแห่งความตายฝีมือคนไทย (MGR Online 2547)
เปลี่ยนเตาเผาศพ ลดมลพิษ (Voice TV 2556)
ตายแล้วยังมีประโยชน์ รู้จักเทรนด์ธุรกิจใหม่ “เปลี่ยนศพให้กลายเป็นปุ๋ย” ลดโลกร้อนได้ (brandinside.asia)