เมื่อวานนี้ (22 กันยายน 2021) องค์การอนามัยโลก(WHO) เผยแพร่ เกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศระดับโลก (Air Quality Guidelines – AQGs) ฉบับใหม่ ที่ได้กำหนดค่าแนะนำของคุณภาพอากาศใหม่ที่ปรับลดระดับมลพิษทางอากาศตัวสำคัญเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน โดยเป็นการปรับเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศครั้งแรกในรอบ 15 ปี ขององค์การอนามัยโลก
ฝุ่นละอองขนาดเล็กขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 เป็นมลพิษที่มีขนาดเล็กที่สุดและยังเป็นอันตรายที่สุด ผลกระทบต่อสุขภาพในระยะสั้นก่อนให้เกิดการระคายเคืองตา จมูก ลำคอ เกิดการไปและการหายใจเสียงหวีด และด้วยขนาดที่เล็กมากเมื่อหายใจเอาฝุ่น PM2.5 เข้าไป มลพิษเหล่านี้จะสามารถเข้าสู่กระแสเลือดและเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคหอบหืด โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ ซึ่งข้อมูลในปี 2019 พบว่า มากกว่า 90% ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 เกินค่าที่เกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลกกำหนด
เกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศระดับโลกปี 2021 นี้ได้ปรับลดค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 จากเกณฑ์ในปี 2005 จาก 10 µg/m3 ลดลงเป็น 5 µg/m3 และยังปรับค่ามลพิษทางอากาศที่สำคัญอื่น ๆ อีก รวมทั้งหมด 6 ชนิด ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) โอโซน (O3) ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO)
ในแต่ละปี การรับสัมผัสมลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรโลกถึง 7 ล้านคน หากรัฐบาลทุกประเทศใช้เกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศฉบับปี 2021 นี้เพื่อกำหนดกฎระเบียบด้านคุณภาพอากาศทั้งภายนอกและภายในอาคารให้ได้ตามเกณฑ์ดังกล่าว องค์การอนามัยกล่าวว่า จะช่วยลดตัวเลขผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่เกี่ยวข้องกับฝุ่น PM 2.5 ต่อปีลงได้เกือบ 80% หรือน้อยลงถึง 3.3 ล้านคน
มลพิษทางอากาศคุกคามสุขภาพควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นการดำเนินการเพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศต้องเป็นไปพร้อมกับความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศใหม่นี้ได้สะท้อนถึงข้อสรุปของรายงานทางวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศชิ้นสำคัญของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change – IPCC) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคม ซึ่งเรียกร้องให้มีการลดการปล่อยมลพิษต่าง ๆ ที่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็กและไนโตรเจนไดออกไซด์ให้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีส่วนทำให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้นและยังทำให้คุณภาพอากาศเลวร้ายลงไปด้วย
ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG7 พลังงานสะอาดในราคาที่จ่ายได้
- (7.1) สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและการตั้งถิ่นฐานที่ยั่งยืน
- (11.6) ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่นๆ ภายในปี 2573
#SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
ที่มา :
Millions of deaths could be avoided under new air quality guidelines, WHO says (CNN)
New WHO Global Air Quality Guidelines aim to save millions of lives from air pollution (WHO)