Tracking SDG7: 10 ปีที่ผ่านมา พลังงานยังมีช่องว่างระหว่างภูมิภาค และประเทศด้อยพัฒนายังคงถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ (2553 – 2562) แม้ว่าประชากรโลกจะเข้าถึงไฟฟ้าได้มากกว่าที่เคยมีมาและมีความก้าวหน้าในเรื่องพลังงานในหลายมิติ แต่ก็เป็นความก้าวหน้าที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างภูมิภาคในโลก โดยเฉพาะในแถบแอฟริกาซับซาฮาราที่จำนวนประชากรหลายชีวิตยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ทั้งโควิด-19 ได้เข้ามาทำให้สถานการณ์ทางการเงินย่ำแย่ลงกว่าเดิม จนประชากรราว 30 ล้านคนทั่วโลก ไม่มีกำลังจ่ายสำหรับบริการขั้นพื้นฐานอย่างไฟฟ้า

ดังนั้น หากโลกจะขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมาย #SDG7 ว่าด้วยการสร้างหลักประกันให้ทุกคนเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืน เชื่อถือได้ และซื้อหาได้ภายในปี 2573 ก็จะต้องอุดช่องว่างเหล่านี้ ทั้งด้านการเข้าถึงไฟฟ้า การทำครัวโดยใช้พลังงานสะอาด ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน พลังงานหมุนเวียน ความร่วมมือระหว่างประเทศและการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีและการใช้พลังงานสะอาด เป็นต้น ตามรายงานความก้าวหน้าด้านหลังงาน Tracking SDG 7: The Energy Progress Report จัดทำโดยองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IRENA) สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (UN DESA) ธนาคารโลก และองค์การอนามัยโลก (WHO)

เพื่อที่จะได้ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังในประเด็นพลังงานสมัยใหม่ ทั้งช่องว่างระหว่างภูมิภาค – ประเทศ – และภายในประเทศเอง

ข้อมูลภาพรวมโดยสังเขปจากรายงานฉบับนี้ มีอาทิ

  • การเข้าถึงพลังงาน – จำนวนประชากรทั่วโลกที่ไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้ลดลงจาก 1.2 พันล้านคนในปี 2553 เป็น 759 ล้านคนในปี 2562 จำนวนประชากรที่เชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก (mini grids) ก็มีเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 2 ระหว่างปี 2553 และ 2562 จาก 5 ล้านคนเป็น 11 ล้านคน อย่างไรก็ดี ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ยังคงมีประชากรโลกราว 660 ล้านคนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้ โดยส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคแอฟริกา – แถบแอฟริกาซับซาฮารา
  • การทำครัวโดยใช้พลังงานสะอาด (clean cooking) – มีข้อมูลระบุว่ายังมีประชากรราว 3 พันล้านคนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียและแอฟริกาซับซาฮารา อาทิ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) เอธิโอเปีย อูกันดา ไม่มีทางเลือกให้สามารถหันมาใช้พลังงานสะอาดในการทำครัว ทำให้เผชิญกับมลพิษทางอากาศภายในบ้าน และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ หากไม่จัดการกับประเด็นนี้ จะทำให้ภายในปี 2573 จะมีประชากรโลก 72% ที่สามารถทำครัวโดยใช้เชื้อเพลิง/เทคโนโลยีพลังงานสะอาดเท่านั้น
  • ประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน – ตามข้อมูลของรายงานระบุว่า อัตราความเข้มข้นของพลังงานขั้นต้นระดับโลก (global primary energy intensity) ในปี 2561 มีพัฒนาการดีขึ้น 1.1% จากปี 2560 แต่ถ้าจะไปให้ถึงเป้าหมายภายในปี 2573 ในแต่ละปีจะต้องมีพัฒนาการ 3%
  • พลังงานหมุนเวียน – เป็นที่ทราบกันว่า พลังงานหมุนเวียนจะเป็นแหล่งพลังงานที่ช่วยให้สามารถตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าเดิม และจะต้องมีการขยายการลงทุนและการพัฒนาในด้านนี้ แม้ว่าจะไม่มีการเติบโตที่เด่นชัด แต่ก็ถือว่ามีส่วนแบ่งในภาคการบริโภคพลังงานในโลกที่คงที่ ความก้าวหน้าด้านพลังงานหมุนเวียนของโลกมากกว่า 1 ใน 3 ในปี 2561 เป็นผลมาจากการหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมของจีน ส่วนประเทศที่มีพัฒนาการด้านพลังงานหมุนเวียนมากที่สุดในปีเดียวกันคือสเปน ในด้านพลังงานน้ำ ตามมาด้วยอินโดนีเซีย ในด้านพลังงานชีวภาพ
  • ความร่วมมือ/การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ – โดยอาศัยความมุ่งมั่นและเจตจำนงทางการเมืองจากทุกภูมิภาคในโลก มีแผนระยะยาวด้านพลังงาน มีนโยบายและโซลูชันในด้านนี้ที่พร้อมจะขยายผล แม้ภาคเอกชนจะแข็งขันกับการลงทุนในพลังงานสะอาด แต่ภาครัฐก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในฐานะศูนย์กลางของการลงทุนสนับสนุน โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาและไปสู่ประเทศกำลังพัฒนา ข้อมูลระบุว่าในปี 2561 การเคลื่อนย้ายเงินทุนสนับสนุนด้านพลังงานสะอาดไปยังประเทศกำลังพัฒนาอยู่ที่ 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีประมาณ 20% ที่สนับสนุนไปยังประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด ที่อยู่ห่างไกลรั้งแถวสุดในขบวนสู่การบรรลุ #SDG7 จุดนี้ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า จะต้องให้ความสำคัญกับการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังในประเด็นพลังงานสมัยใหม่ ทั้งช่องว่างระหว่างภูมิภาค – ประเทศ – และภายในประเทศเอง

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสมัยใหม่
-(7.1) หลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ และเชื่อถือได้ ภายในปี 2573
-(7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
-(7.3) ส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานของโลกให้เพิ่มขึ้น 2 เท่า ภายในปี 2573
-(7.a) ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัยและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด โดยรวมถึงพลังงานทดแทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573
-(7.b) ขยายโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการจัดส่งบริการพลังงานที่เป็นสมัยใหม่และยั่งยืนให้โดยถ้วนหน้าในประเทศกำลังพัฒนา เฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ภายในปี 2573
#SDG10 ลดความไม่เท่าเทียมภายในประเทศและระหว่างประเทศ

แหล่งที่มา:
Global Launch: Tracking SDG7: The Energy Progress Report (WHO)

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น