การระบาดของโควิด-19 กระทบต่อระบบอาหารทั้งหมดของโลกและยังเผยถึงความเปราะบางของระบบอาหารอีกด้วย โดยข้อมูลจากรายงาน State of Food Security and Nutrition in the World ระบุว่าในปี 2563 ประชาชนที่มีภาวะทุพโภชนาการมีเพิ่มขึ้นถึง 118 ล้านคนจากฐานปี 2562 ถึงกระนั้น อาหารราว 17% ของโลกกลับถูกโยนทิ้งขว้าง
การประชุม UN Food Systems Summit เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (23 กันยายน 2564) ซึ่งเป็นการประชุมนัดสำคัญด้านระบบอาหาร จึงเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูประบบอาหารในหลายประการเพื่อปรับเส้นทางสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งมิติการยุติความหิวโหย (#SDG2) การขจัดความยากจน (#SDG1) การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (#SDG13) และความเหลื่อมล้ำ (#SDG10)
จะเห็นได้ว่าเป้าหมาย SDGs ดั่งที่หยิบยกตัวอย่างมานี้สัมพันธ์กันอยู่อย่างแนบแน่น ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภาวะฉุกเฉินทางสภาพภูมิอากาศ และยัง เป็นเหตุของประเด็นด้านน้ำ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเกษตรกรรม โดยเฉพาะที่ถือว่าเป็นภัยคุกคามที่จะส่งผลให้สปีชีส์สิ่งมีชีวิตเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งล้วนแล้วแต่กระทบต่อระบบอาหารทั้งสิ้น
Agnes Kalibata ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติในประเด็นการประชุม Food Systems Summit ย้ำว่า ระบบอาหารของเราทั้งระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับโลก เป็นศูนย์กลางสำคัญที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย SDGs แต่จะต้องเกิดจากการเปลี่ยนแปลงจากฐานรากเสียก่อน โดยอาศัยวิธีการแก้ปัญหาใหม่ ๆ ที่จะช่วยผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงประชากรทั้งมวลได้โดยไม่ทำลายโลก กล่าวคือ จะต้องเป็นการผลิตและบริโภคอาหารอย่างยั่งยืน
จากการเตรียมการร่วม 18 เดือน และการหารือเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์ระดับชาติของแต่ละประเทศ รัฐบาลจากนานาประเทศ เกษตรกร ชนพื้นเมือง เยาวชน ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ และประชาชนคนทั่วไปที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ก็ได้มุ่งมั่นร่วมกันผลิตแผนที่นำทาง/โรดแมปสู่โลกที่อาหารจะต้องมีราคาที่หาซื้อได้ เข้าถึงได้ และผลิตโดยส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ตั้งแต่อาหารในโรงเรียน ไปจนถึงขยะอาหาร (food waste) และการเกิดขึ้นของนวัตกรรมทางการเกษตรที่จะช่วยตอบโจทย์ #SDG13 ด้วย
โดยในท้ายที่สุดแล้ว จะต้องจับตามองต่อไปว่า ผลลัพธ์จากการประชุมครั้งนี้จะเป็นดั่งที่มุ่งหวังหรือไม่ ทั้งในด้านการนำทางและเรียกร้องให้เกิดการลงมือทำทั้งรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น บริษัท ประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไปจนถึงการสร้างระบบการติดตามและทบทวนผลลัพธ์และผลกระทบ รวมถึงการวัดผลความก้าวหน้า
● อ่าน SDG Vocab ที่เกี่ยวข้อง:
SDG Vocab | 04 – Food Security – ความมั่นคงทางอาหาร
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ยุติความหิวโหย ความมั่นคงทางอาหาร โภชนาการ เกษตรกรรมที่ยั่งยืน
-(2.1) ยุติความหิวโหย สร้างหลักประกันให้ทุกคนโดยเฉพาะกลุ่มที่ประสบปัญหาความยากจนและเปราะบาง ให้ทุกคนเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย อุดมไปด้วยสารอาหาร และเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปี 2573
-(2.2) ยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบ และแก้ไขปัญหาภาวะขาดสารอาหาร ภาวะแคระแกร็น ภายในปี 2573
-(2.3) เพิ่มความสามารถในการผลิตทางการเกษตรและรายได้ของผู้ผลิตอาการรายเล็ก โดยเฉพาะผู้หญิง คนพื้นเมือง เกษตรกรแบบครอบครัว คนเลี้ยงปศุสัตว์ ชาวประมง ให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
-(2.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดำเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่มีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มความสามารถในการผลิต ซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศ เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะอากาศรุนแรง ภัยแล้ง อุทกภัย และภัยพิบัติอื่น ๆ และจะช่วยพัฒนาที่ดินและคุณภาพดินอย่างต่อเนื่อง ภายในปี 2573
-( 2.5) อนุรักษ์ความหลายหลายทางพันธุกรรมของเมล็ดพันธุ์ รวมถึงให้มีธนาคารเมล็ดพันธุ์
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
-(12.2) บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2573
-(12.3) ลดขยะอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาการจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ภายในปี 2573
ประเด็นนี้ยังเกี่ยวข้องกับ #SDG1 #SDG10 และ #SDG13
แหล่งที่มา:
First UN Food Systems Summit seeks new recipe for healthy people and planet (unep.org)
About the Summit: What is the Food Systems Summit? (UN)