การสำรวจภาวะ Eco-anxiety ของคนหนุ่มสาวใน 10 ประเทศ พบว่า 75% รู้สึกว่า “อนาคตของพวกเขาช่างน่าหวาดหวั่น”

ผลการสำรวจคนวัยหนุ่มสาวถึงความวิตกกังวลที่มาจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Eco-Anxiety) ทั้งหมด 10,000 คน พบว่า ส่วนใหญ่รู้สึกกังวลและโกรธเคืองต่อสถานการณ์ปัจจุบัน และพวกผู้ใหญ่ไม่ได้ลงมือทำมากพอเพื่อปกป้องอนาคตของพวกเขา

การศึกษา “Young People’s Voices on Climate Anxiety, Government Betrayal, and Moral Injury: A Global Phenomenon” ทำแบบสำรวจจากกลุ่มประชากรที่เป็นวัยรุ่นอายุ 16-25 ปี ทั้งหมด 10,000 คน จาก 10 ประเทศ ด้แก่ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย บราซิล ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส อินเดีย ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ และโปรตุเกส ผลปรากฏว่า 75% ของผู้ตอบแบบสอบถามโดยรวมเห็นด้วยกับข้อความที่ว่า “อนาคตเป็นสิ่งที่น่าหวาดหวั่น” และสัดส่วนนี้สูงถึง 81% ในโปรตุเกส และ 92% ในฟิลิปปินส์

ผู้ตอบแบบสอบถามวัยรุ่นถึงมากกว่า 50% ตอบว่าพวกเขารู้สึก “เศร้า วิตกกังวล โกรธ ไร้อำนาจ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และมีความผิด” ต่อปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 45% ระบุว่า ความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและการทำงานของพวกเขา และ 55% รู้สึกว่าพวกเขาจะมีโอกาสในชีวิตในฐานะผู้ใหญ่น้อยกว่าคนรุ่นพ่อแม่

การทำแบบสำรวจครั้งนี้ นับเป็นการศึกษาแรกที่เชื่อมโยงความกังวลด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมของคนหนุ่มสาวกับการไม่ดำเนินการใดใดของรัฐบาล โดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม 58% ที่ตอบว่ารัฐบาลกำลัง “ทรยศต่อตน คนรุ่นหลัง [หรือทั้งสองคน]” และล้มเหลวในการดูแลเยาวชน โดย 33% ตอบว่า การตอบสนองจากรัฐบาลไม่ได้ “ปกป้องตน โลก คนรุ่นต่อไป [หรือทั้งสองอย่าง]”

การศึกษาชิ้นนี้ได้ชื่อว่าเป็นการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับความวิตกกังวลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศและคนหนุ่มสาว และอยู่ระหว่างกระบวนการ peer review ก่อนตีพิมพ์ลงวารสาร The Lancet Planetary Health โดยการสำรวจนี้ดำเนินการและวิเคราะห์โดยสถาบันการศึกษา 7 แห่งในสหราชอาณาจักร ยุโรป และสหรัฐอเมริกา อาทิ University of Bath, University of East Anglia และ Oxford Health NHS Foundation Trust

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ 
#SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
#SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573

ที่มา : Eco-anxiety: 75% of young people say ‘the future is frightening’ (Medical News Today)

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น