ศักยภาพการผลิตและการช่วยเหลือจากประเทศอื่นจะช่วยให้กลุ่มประเทศ LDCs หลุดจากชายขอบและฟื้นตัวจากโรคระบาด

มากกว่า 20 ปีที่ผ่านมานี้ มีเพียงไม่กี่ประเทศในกลุ่มประเทศที่ยากจนที่สุดหรือประเทศด้อยพัฒนาที่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและพัฒนาศักยภาพการผลิตของตนได้ รายงานล่าสุด ‘Least Developed Countries Report 2021’ โดยการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UN Conference on Trade and Development – UNCTAD) ระบุว่า กลุ่มประเทศที่ว่านี้จะยังเป็นกลุ่มประเทศชายขอบของระบบเศรษฐกิจโลกต่อไป หากไม่สามารถเพิ่มขีดความสามารถและกระตุ้นศักยภาพการผลิต (economic production) ให้มีมากขึ้น และหากชุมชนระหว่างประเทศล้มเหลวที่จะให้การสนับสนุนระหว่างกัน ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการฟื้นกลับจากวิกฤติ รวมถึงการระบาดของโควิด-19 และการเร่งเครื่องเดินหน้าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ ในเป้าหมายสำคัญอย่าง #SDG1 #SDG8 และ #SDG9

กลุ่มประเทศด้อยพัฒนาหรือพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries – LDCs) เป็นกลุ่มที่ถูกจัดขึ้นมาโดยสหประชาชาติเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา โดยพิจารณาจากมิติเศรษฐกิจ ในช่วงเวลาระหว่างนี้มีทั้งการเพิ่มจำนวนประเทศขึ้นและลดจำนวนประเทศลง ตามศักยภาพของประเทศนั้น ๆ และปัจจัยอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จ่ายและการลงทุนจากนานาประเทศที่จะช่วยสนับสนุนการปรับทิศทางการพัฒนาประเทศในเชิงโครงสร้างให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นและหลุดออกจากกลุ่ม LDCs ได้ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มประเทศดังกล่าวมี 46 ประเทศ

ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันอย่างโควิด-19 ได้เข้ามาทำให้สถานการณ์ของกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุดยิ่งเปราะบาง และในปี 2563 ถือว่ามีพัฒนาการเป็นไปในทางที่ย่ำแย่ที่สุดในห้วง 30 ปีที่ผ่านมาก็ว่าได้ ทั้งด้านสถาบัน เศรษฐกิจ และสังคม กอปรกับมีประเด็นอัตราการฉีดวัคซีนต่ำที่ คิดเป็นเพียง 2% เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วที่ 41% สะท้อนว่ากลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุดมีความต้องการด้านการพัฒนาเป็นพิเศษ และไม่อาจจะพึ่งพิงเฉพาะงบประมาณและนโยบายด้านการเงินภายในประเทศได้

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นถึงความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนจากนานาประเทศต่อประเทศพัฒนาน้อยที่สุด รายงานเล่มนี้ชี้ว่า การลงทุนต่อปีโดยเฉลี่ยเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมาย #SDG8 – “8.1 ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรมีความยั่งยืนตามบริบทของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด มีการขยายตัวอย่างน้อยร้อยละ 7 ต่อปี” สำหรับประเทศพัฒนาน้อยที่สุดจะต้องมีการลงทุนราว 462 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการลงทุนต่อปีโดยเฉลี่ยเพื่อยุติความยากจนตาม #SDG1 – “1.1 ขจัดความยากจนทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันวัดจากคนที่มีค่าใช้จ่ายดำรงชีพรายวันต่ำกว่า 1.90 ดอลลาร์สหรัฐฯ* ต่อวัน ภายในปี 2573” นั้น จะต้องใช้เงินลงทุนราว 485 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการลงทุนต่อปีโดยเฉลี่ยเพื่อบรรลุ #SDG9 – 9.2 “ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และภายในปี 2573 ให้เพิ่มส่วนแบ่งของอุตสาหกรรมในการจ้างงานและผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ โดยให้เป็นไปตามสภาวะแวดล้อมของประเทศ และให้เพิ่มส่วนแบ่งขึ้นเป็น 2 เท่าในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด” อยู่ที่ประมาณมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จะเห็นได้ว่าชุมชนระหว่างประเทศมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนย้ายเงินทุนเพื่อช่วยเหลือประเทศเหล่านี้และตอบสนองต่อความต้องการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างไรก็ดี การดำเนินการสำหรับกลุ่มประเทศดังกล่าว UNCTAD ได้เน้นความสำคัญของความสามารถด้านการคลัง การเคลื่อนย้ายและกระจายทรัพยากรภายในประเทศ การใช้งบประมาณภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ความสามารถในการผลิต’ (productive capacities) ซึ่งหมายถึงทั้งทรัพยากรที่มีผลิตภาพ ขีดความสามารถด้านความเป็นผู้ประกอบการ และความเชื่อมโยงด้านการผลิตที่จะส่งเสริมกันทำให้ประเทศมีศักยภาพที่จะผลิตสินค้าและบริการและพัฒนาทำให้เติบโตได้

ท้ายที่สุดแล้ว ตามข้อมูลวิเคราะห์ของรายงานเล่มนี้ระบุว่า ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดส่วนใหญ่จะต้องใช้เวลาราว 3-5 ปีหรือมากกว่านั้น เพื่อฟื้นฟูระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP per capita) จากเดิมเมื่อปี 2562 จะต้องไม่เพียงพึ่งพาแต่การค้าขายสินค้าโภคภัณฑ์/วัสดุตั้งต้นในการผลิตเท่านั้น แต่จะต้องยกระดับเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มมูลค่าและผ่านการทำให้หลากหลาย ที่สำคัญ บรรดารัฐบาลของประเทศเหล่านี้จะต้องคำนึงถึงนโยบายและแผนพัฒนาระดับชาติที่คำนึงถึงประเด็นเศรษฐกิจร่วมกับสิ่งแวดล้อมด้วย

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ยุติความยากจน
-(1.1) ขจัดความยากจนทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบัน วัดจากคนที่มีค่าใช้จ่ายดำรงชีพรายวันต่ำกว่า 1.90 ดอลลาร์สหรัฐฯ* ต่อวัน ภายในปี 2573
#SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่มีคุณค่า
-(8.1) ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรมีความยั่งยืนตามบริบทของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด มีการขยายตัวอย่างน้อยร้อยละ 7 ต่อปี
-(8.2) ส่งเสริมการมีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงขึ้นผ่านการทำให้หลากหลาย การยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการมุ่งเน้นในภาคส่วนที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและใช้แรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ
-(8.a) เพิ่มเติมความช่วยเหลือเพื่อการค้า (Aid for Trade) สำหรับประเทศกำลังพัฒนา เฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
#SDG9 อุตสาหกรรม เทคโนโลยี นวัตกรรม
-(9.2) ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และภายในปี 2573 ให้เพิ่มส่วนแบ่งของอุตสาหกรรมในการจ้างงานและผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ โดยให้เป็นไปตามสภาวะแวดล้อมของประเทศ และให้เพิ่มส่วนแบ่งขึ้นเป็น 2 เท่าในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ
-(10.b) สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการและการไหลของเงิน ซึ่งรวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ไปยังรัฐที่มีความจำเป็นมากที่สุด เฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศกำลังพัฒนาน้อยที่สุด ประเทศในแอฟริกา รัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก และประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล โดยให้เป็นไปตามแผนและแผนงานของประเทศเหล่านั้น
#SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน
-(17.1) ส่งเสริมการระดมทรัพยากรภายในประเทศ โดยรวมถึงผ่านทางการสนับสนุนระหว่างประเทศไปยังประเทศกำลังพัฒนา เพื่อพัฒนาขีดความสามารถภายในประเทศในการเก็บภาษีและรายได้ของอื่นๆ ของรัฐ
-(17.2) ประเทศพัฒนาแล้วจะดำเนินการให้เป็นผลตามพันธกรณีเรื่องการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการโดยเต็มที่ โดยรวมถึงพันธกรณีที่ให้ไว้โดยประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศที่จะบรรลุเป้าหมายการมีสัดส่วน ODA/GNI ร้อย 0.7 สำหรับให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา และมีสัดส่วน ODA/GNI ร้อยละ 0.15 ถึง 0.20 สำหรับให้แก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยสนับสนุนให้ผู้ให้ ODA พิจารณาตั้งเป้าหมายที่จะให้มีสัดส่วน ODA/GNI ถึงอย่างน้อยร้อยละ 0.20 สำหรับให้แก่ประประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
-(17.3) ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา
-(17.5) ใช้และดำเนินการให้เกิดผลตามระบอบการส่งเสริมการลงทุนสำหรับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
-(17.16) ยกระดับความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยส่งเสริมความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

แหล่งที่มา:
Boosting production, crucial for least developed countries, post pandemic (UN)

Last Updated on ตุลาคม 1, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น