Site icon SDG Move

เหตุกราดยิงในระยะ 400 เมตรจากบ้านเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตเด็กในสหรัฐฯ ซึ่งมีจำนวนมากขึ้น

ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืน (Gun violence) ไม่เพียงกระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจของเหยื่อ แต่กระทบต่อทั้งสังคม อย่างกรณีศึกษาผลกระทบในสหรัฐฯ ซึ่งมีข้อถกเถียงเรื่องการใช้อาวุธปืนมายาวนานนั้น การศึกษาล่าสุดเผยแพร่ใน JAMA Pediatrics โดย Perelman School of Medicine ภายใต้ University of Pennsylvania ร่วมกับ Children’s Hospital of Philadelphia ชี้ว่า การที่เด็กเผชิญต่อเหตุการณ์หรือรับรู้เหตุการณ์กราดยิงในระยะ 400 เมตรของระแวกที่อยู่อาศัย ส่งผลกระทบด้านลบอย่างยิ่งต่อสุขภาพจิต และความรุนแรงที่ว่านี้ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเด็นสุขภาพจิตในเด็ก (pediatric mental health) มีเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันด้วย

โดยการศึกษาอ้างอิงข้อมูลของ Children’s Hospital of Philadelphia จากการที่คนไข้เด็กจาก 12 เขตในเมืองฟิลาเดลเฟีย 54,341 คน อายุตั้งแต่ 1.5 – 11.5 ปีเข้ารับการรักษาเพราะมีข้อกังวลเรื่องสุขภาพจิต อาทิ โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงต่อชีวิตที่กระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจอย่างรุนแรง (PTSD: Post-Traumatic Stress Disorder) อาการซึมเศร้า มีความตั้งใจรับประทานสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย หรือภาวะฉุกเฉินอื่นที่เกี่ยวกับสุขภาพจิต แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นเทียบกับข้อมูลเหตุการณ์การใช้อาวุธปืนหรือการกราดยิงของสำนักงานตำรวจของเมืองซึ่งเป็นข้อมูลเปิด เพื่อตรวจสอบว่ามีจำนวนคนไข้เด็กกี่คนที่เผชิญกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืนในช่วง 60 วันก่อนที่จะเข้ารับการรักษา

ซึ่งพบว่า คนไข้เด็ก 43,143 คน เข้ารับการรักษา 1 ครั้งหรือมากกว่าในช่วง 60 วันหลังจากเหตุกราดยิง ส่วนในจำนวนเหตุกราดยิงทั้งหมด 2,629 ครั้ง มี 814 ครั้ง (31%) สัมพันธ์กับการที่คนไข้เด็กเข้ารับการรักษาในช่วง 60 วันหลังจากเกิดเหตุ และยิ่งเด็กเผชิญกับเหตุในระยะประชิดหรือน้อยกว่า 400 เมตร ก็จะยิ่งได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจิตมากขึ้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำ Emergency Medicine และ Faculty Director ของ Penn Urban Health Lab กล่าวว่า การศึกษาชิ้นนี้ชี้ให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาการแทรกแซงในมิติด้านสาธารณสุข เพื่อลดการที่เด็กเผชิญกับเหตุการณ์ใช้อาวุธปืน กล่าวคือลดจำนวนเหตุความรุนแรงในชุมชนลง และลดผลกระทบที่จะมีต่อสุขภาพจิต ทีมผู้ศึกษาเสนอว่า อาจทำได้โดยการเก็บอาวุธให้ปลอดภัย การให้มีกฎหมายตรวจสอบประวัติของผู้ใช้อาวุธปืน และการใช้งบประมาณกับการบริการด้านสุขภาพจิตและโครงการป้องกันความรุนแรง

นอกจากนี้ หน่วยงานด้านสุขภาพสามารถทำงานร่วมกับองค์กรที่ทำงานในชุมชน เพื่อให้การสนับสนุนงานด้านการป้องกันและการตอบสนองต่อความต้องการของครอบครัวและเด็กที่เผชิญเหตุดังกล่าว เช่น การให้ความช่วยเหลือบริการด้านสุขภาพจิตได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลง 1 ใน 3 ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
-(3.9) ลดจำนวนการตายและการป่วยจากสารเคมีอันตราย และจากการปนเปื้อนและมลพิษทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG16 สังคมสงบสุข ครอบคลุม ยุติธรรม สถาบันมีประสิทธิผล
-(16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
-(16.a) ในด้านสถาบันระดับชาติที่กับการป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม

แหล่งที่มา:
Gun Violence Exposure Associated with Higher Rates of Mental Health-Related ED Visits by Children (University of Pennsylvania)

Author

  • Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

Exit mobile version