การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสส่งผลให้ระดับความมั่งคั่งทั่วโลกลดลงอย่างมากในช่วงตอนต้นของปี 2020 จากข้อมูลของเครดิตสวิส (Credit Suisse) พบว่า ความมั่งคั่งครัวเรือนโลก (global household wealth) ลดลงประมาณ 4.4% เมื่อสิ้นมีนาคมในปีดังกล่าว แต่หลังจากมาตรการกระตุ้นทางการเงินและการคลังอย่างจริงจังจากรัฐบาลทั่วโลกเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ความมั่งคั่งครัวเรือนโลกเมื่อสิ้นปี 2020 อยู่ที่ 418.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้น 7.4% จากปีก่อนหน้า
ข้อมูลจาก “Global Wealth Report 2021” หรือ “รายงานสถานการณ์ความมั่งคั่งโลก ประจำปี 2021” โดยเครดิตสวิส (Credit Suisse) พบความเหลื่อมล้ำในการกระจายความมั่งคั่งอย่างสุดโต่ง จะเห็นได้จากสัดส่วนของบุคคลที่มีความมั่งคั่งเป็นมูลค่าสูงกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่มีอยู่เพียง 1.1% ของประชากรโลกทั้งหมด แต่คนกลุ่มนี้กลับเป็นผู้ถือครองความมั่งคั่งรวมโลกถึง 45.8% ในขณะที่ประชากร 55% มีความมั่งคั่งรวมกันเพียงแค่ 1.3% ของทั้งหมดของโลกเท่านั้น ส่วนประชากรที่เหลือมีความมั่งคั่งรวมเป็น 52.8%
ความเหลื่อมล้ำของการกระจายความมั่งคั่งยังปรากฏทั้งในระดับระหว่างภูมิภาคและระหว่างประเทศ ในปี 2020 ความมั่งคั่งรวมในอเมริกาเหนือเพิ่มขึ้น 12.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในยุโรปเพิ่มขึ้น 9.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นในสองภูมิภาคนี้เป็นสัดส่วนใหญ่ของส่วนที่เพิ่มขึ้นในปี 2020 ตามมาด้วยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่เพิ่มขึ้น 4.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพียงจีนประเทศเดียวมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ประเทศอินเดียและภูมิภาคละตินอเมริกาเป็นสองพื้นที่ที่สูญเสียความมั่งคั่งไปในปี 2020 โดยลดลง 4.4% และ 10.1% ตามลำดับ
ในประเทศไทย เมื่อสิ้นปี 2020 มีการเปลี่ยนแปลงความมั่งคั่งครัวเรือนรวมที่ -7.5% โดยกระจายตัวของความมั่งคั่งมีเหลื่อมล้ำสูง ประชากรที่มีความมั่งคั่งรวมต่อปีมูลค่าน้อยกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 340,000 บาท) คิดเป็นสัดส่วนเกินครึ่งของประชากรทั้งหมด ที่ 55.5% ผู้ที่มีความมั่งคั่งรวมต่อปีเป็นมูลค่า 10,000-100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 340,000 – 3,400,000 บาท) คิดเป็นสัดส่วน 41.9% และมีเพียงแค่ 0.2% เท่านั้นที่ถือครองความมั่งคั่งรวมสูงกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 34 ล้านบาท)
— เข้าถึง Global Wealth Report 2021 —
ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ #SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำภายในและระหว่างประเทศ - (10.1) บรรลุการเติบโตอย่างก้าวหน้าและยั่งยืนของรายได้ของประชากรที่อยู่ในกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 40% ให้มีอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ภายในปี 2573
ที่มา : This Simple Chart Reveals the Distribution Of Global Wealth (Visual Caplitalist)
อ่านเพิ่มเติม : รายงาน Credit Suisse เผยนโยบายรัฐตอบสนองโควิด ขยายช่องว่างคนรวย-คนจน (ThaiPublica)
Last Updated on มกราคม 12, 2022