ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลแบบประคับประคอง (Paliative Care) เพียง 1 ใน 10 คนทั่วโลกเท่านั้นที่ได้รับการดูแลประเภทนี้ และคาดว่าความต้องการการดูแลในช่วงสุดท้ายของชีวิตเช่นนี้จะเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าภายในปี 2060 ตามจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นและอายุยืนขึ้น รวมถึงการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อที่เพิ่มขึ้นด้วย
องค์การอนามัยโลก ให้คำจำกัดความ Paliative Care หรือ การดูแลแบบประคับประคอง ว่าหมายถึง วิธีการดูแลที่เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวที่เผชิญกับความเจ็บป่วยที่คุกคามชีวิต ด้วยการป้องกันและบรรเทาอาการที่ทำให้ทุกข์ทรมาน ทั้งอาหารเจ็บป่วยทางกาย อาการเจ็บป่วยทางใจ ปัญหาเชิงสัมคมและจิตวิญญาณแบบองค์รวม และควรให้มีการดูแลแบบประคับประคองนี้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่มีการวินิจฉัยว่าเจ็บป่วยระยะสุดท้าย จนกระทั่งผู้ป่วยเสียชีวิต และรวมไปถึงการดูแลจิตใจครอบครัวผู้ป่วยหลังการสูญเสีย
ในแต่ละปี มีผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลเพื่อประคับประคองทั้งด้านร่างกายและจิตใจมากกว่า 56.8 ล้านคนทั่วโลก โดย 78% เป็นประชากรในอยู่ในประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง
สำหรับองค์การอนามัยโลก “การดูแลแบบประคับประคองเป็นสิทธิมนุษยชนและมีความจำเป็นทางศีลธรรมของระบบสุขภาพทั้งหมด”ดังนั้นองค์การอนามัยโลกจึงปร ะกาศถึงความจำเป็นที่ต้องดำเนินการย่างเร่งด่วนและมีความร่วมมือกันเพื่อขยายการเข้าถึงบริการการดูแลแบบประคับประคองที่มีคุณภาพ และมีพื้นที่ให้แบ่งปันข้อมูลระหว่างประเทศ เพื่อทำให้เห็นภาพชัดเจนของความต้องการและความท้าทายระดับโลกที่เกิดขึ้น เช่น ความไม่เสมอภาคทางสุขภาพทั้งในและระหว่างประเทศ เป็นต้น
เพื่อให้มีการดูแลแบบประคับประคองที่เหมาะสมที่สุดเกิดขึ้นจริง องค์การอนามัยโลกระบุว่า ประเทศนั้นจะต้องมีนโยบายแวดล้อมที่สนับสนุน ชุมชนที่มีพลัง งานวิจัยด้านการดูแลแบบประคับประคอง การเข้าถึงยารักษาเพื่อการประคับประคองที่จำเป็น ระบบการศึกษาและการฝึกอบรมที่เข้มแข็งสำหรับผู้ปฏิบัติงานและผู้ให้บริการการดูแลแบบประคับประคอง และความใส่ใจในคุณภาพของการดูแลแบบประคับประคอง
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้เผยแพร่เอกสารสองฉบับ เพื่อเป็นแนวทางในการสนับสนุนการดำเนินงานด้านการประเมินและการปรับปรุงคุณภาพบริการการดูแลแบบประคับประคองของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เข้าถึงได้ที่ WHO
ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ #SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
ที่มา : Only 1 in 10 people who need palliative care, receive it: WHO (UN News)
Last Updated on ตุลาคม 6, 2021