บทความ “ฤาพลังงานสะอาดจะไม่ยั่งยืน – ใครคือแนวหน้าผู้สูญเสียหากเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำจะทอดทิ้งผู้คนไว้ข้างหลัง” ได้นำเสนอถึงการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างพลังงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ที่หากไม่มีการวางแผนและคำนึงถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างครอบคลุมแล้ว เราจะพบผู้สูญเสียในสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เป็นธรรม แม้ว่าความเสี่ยงของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีลดน้อยลงก็ตาม นั่นหมายความว่า ในขณะที่วิกฤติเชิงสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจจากภาคการพัฒนา แต่หากเราลืมไปว่าจนถึงปัจจุบันโลกมนุษย์ก็มีวิกฤติทางสังคมด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำและการเลือกปฏิบัติ และถ้ามิได้ให้ความสำคัญไปพร้อม ๆ กัน การพัฒนานั้นก็ยากที่จะเรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน
เพื่อเป็นการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่คำนึงถึงความต่อเนื่องในการพัฒนาเศรษฐกิจ ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของคนในสังคม แนวคิด “การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม” จึงเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงและเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน
ทำไมต้องมีการเน้นความเป็นธรรมโดยเฉพาะ? เนื่องจากองค์ความรู้ที่จำเพาะเกี่ยวกับความเป็นธรรมยังคงเป็นช่องว่างในประเด็นการเปลี่ยนผ่านพลังงานอยู่ ดังที่ทุกวันนี้พบการศึกษาเกี่ยวกับ Energy transition ที่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ระบบพลังงาน และกรอบเวลาในการนำเอาพลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด เข้ามาทดแทนพลังงานฟอสซิลในระดับโลกอย่างเข้มแข็ง แต่แนวคิดที่เข้ามาช่วยลดผลกระทบในเชิงลบ ลดความขัดแย้งจากความเปลี่ยนแปลงยังนับเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ในวงสนทนาเกี่ยวกับ Energy Transition พอสมควร จึงต้องมีการยกเป็นอีกหัวข้อที่สำคัญอย่างเท่าเทียมกับมิติอื่นของการเปลี่ยนผ่านพลังงานนี้
การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition – JET) หมายถึง การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานที่ยั่งยืน คาร์บอนต่ำ และเสมอภาคยุติธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีกว่าทั้งสำหรับผู้คนและสิ่งแวดล้อม[1] การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวจะต้องตั้งเป้าไปที่สภาวะทางสังคมและเศรษฐกิจที่เราต้องการให้เกิดขึ้น กระทำผ่านการผลิตและบริโภคพลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด ปกป้องความยุติธรรม สร้างความเสมอภาคและสวัสดิภาพในสังคม[2] นอกจากคำว่า Just Energy Transition แล้วก็ยังมีคำว่า การเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างครอบคลุมทั่วถึง หรือ Inclusive Energy Transition ที่เป็นที่พูดถึงร่วมกันและเกี่ยวพันกันอย่างชัดเจนอีกด้วย
สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจและสังคมของโลกในระยะยาว (co-evolution) โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบพลังงานตลอดเส้นทาง ตั้งแต่การสกัดทรัพยากร (extraction) การผลิต (generation) การจ่าย (distribution) การกักเก็บ (storage) การบริโภค (use) และการจัดการของเสีย (waste) ตลอดจนทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนในหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับนวัตกรรม ระดับเครือข่ายทางสังคม กฎระเบียบ และระดับที่ใหญ่ครอบคลุมกว่านั้นคือการปรับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ[3] หากขาดมิติด้านความเป็นธรรมแล้ว ณ ปลายทางเราจะพบผู้เสียผลประโยชน์ (losers) โดยเฉพาะในระยะสั้นและระยะกลาง ในวงที่ลึกและเกี่ยวพันกันเป็นทอด ๆ ตามวงจรชีวิตของสินค้าและบริการเกี่ยวกับพลังงาน (life cycle) หรือ ห่วงโซ่อุปทานของพลังงาน และมักจะเป็นกลุ่มประชากรที่เปราะบางหรือไร้อำนาจต่อรองอยู่แล้วตั้งแต่แรก ซ้ำเติมความไม่ยั่งยืนทางสังคมให้หนักหนาสาหัสขึ้นไปมากกว่าเดิม ดังนั้น การยกประเด็นเกี่ยวกับความเป็นธรรมมาวางบนเวทีจึงเป็นเรื่องที่สมควรกระทำในทันที
การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่อยู่ภายใต้ภาพใหญ่ของการพัฒนาที่ยั่งยืน[3] มีความทับซ้อนเป็นส่วนหนึ่งซึ่งกันและกัน จนอาจทำให้เกิดความสับสนได้ง่าย ดังนั้น การเข้าใจที่มาที่ไป แก่นหลัก และองค์ประกอบจะเป็นตัวสร้างความชัดเจนได้มากขึ้น และสามารถนำไปสู่การออกแบบขั้นตอนต่าง ๆ ของการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ต้องการได้ตรงกรอบเป้าหมาย
ที่มาของ Just Energy Transition |
แม้ประเด็นความเป็นธรรมในการเปลี่ยนผ่านพลังงานจะเพิ่งมีการพูดถึงกันมากขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา ที่วิกฤติ Climate Change และช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นที่น่ากังวลอย่างมาก[3] แต่ในภูมิภาคอเมริกาเหนือและยุโรปมีความคุ้นเคยกับแนวคิดนี้มาแล้วระยะหนึ่งในฐานะหลักการที่เป็นการลงรายละเอียดของแนวคิดความยุติธรรมในพลังงาน หรือ Energy justice
ความยุติธรรมพลังงาน เป็นแขนงย่อยจาก ความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental justice)[4] ที่มีความหมายโดยรวมคือ การที่คนกลุ่มหนึ่ง (มักเป็นประชากรผิวสี ผู้มีรายได้หรืออำนาจต่อรองน้อย) ถูกทำให้เป็นผู้รับผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาอยู่เพียงกลุ่มเดียว เช่น การจัดให้มีบ่อขยะใกล้ชุมชนแออัดที่อยู่อาศัยของแรงงานอพยพโดยไม่ได้ให้ข้อมูล ไม่เปิดโอกาสให้แสดงความกังวล และไม่มีมาตรการป้องกันผลกระทบที่เหมาะสม เป็นต้น ความยุติธรรมพลังงานเป็นไปในทางเดียวกันกับความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม เพียงแต่จะตีกรอบไปที่ผลกระทบตลอดโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานและระบบพลังงาน เน้นการเข้าถึงพลังงานในราคาที่เหมาะสม มีความปลอดภัยและยั่งยืนได้อย่างเสมอภาค เพื่อให้ทุกคนสามารถคงไว้ซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีและมีศักดิ์ศรีในฐานะพลเมือง
ในด้านพลังงานนี้ เมื่อนึกถึงภาพความยุติธรรมแล้ว จะต้องมีความเข้าใจถึงหลักการ 4 ข้อ ได้แก่ (1) การกระจายประโยชน์อย่างเป็นธรรม (Distributional justice) คือ การกระจายออกทั้งผลประโยชน์และภาระผลเสียต่าง ๆ ในกลุ่มประชาชนเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีเพียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งต้องรองรับผลกระทบทางลบอย่างเลยเถิดเกินควร หรือคนกลุ่มใดต้องถูกกีดกันจากการเข้าถึงผลประโยชน์ที่พึงควรได้รับด้วย (2) ความยุติธรรมด้านกระบวนการ (Procedural justice) มุ่งในเรื่องของการระบุผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการตัดสินใจ รวมถึงการันตีว่ากระบวนการที่เกี่ยวกับพลังงานนี้มีความเป็นธรรม ให้ความเคารพเท่าเทียมและพิจารณาครอบคลุมความเป็นอยู่ของทุกคนที่ประสงค์เข้าร่วมกระบวนการ (3) ความยุติธรรมที่รับรู้ได้ (Recognition justice) ซึ่งจะเกิดจากการทำความเข้าใจความไม่เท่าเทียมทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีต แล้วสังเคราะห์ความพยายามที่จะไกล่เกลี่ยแก้ไขความไม่เท่าเทียมไม่เป็นธรรมนั้น และ (4) ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative justice) เป็นหลักการสำหรับภาครัฐที่จะแสดงบทบาทเข้ามาแก้ไขหรือป้องกันความอยุติธรรมใน 3 ข้อที่กล่าวมาในข้างต้น[4]
การเรียกร้องความเป็นธรรมในกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปี ค.ศ. 1970 โดยความเคลื่อนไหวของ กลุ่ม Oil, Chemical and Atomic Workers International Union (OCAW) ผู้เรียกร้องเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์กับผู้ใช้แรงงานในโรงกลั่นน้ำมันหลายแห่ง ภายใต้คำว่า Just Transition[3] ซึ่งในขณะนั้นนับเป็นความเคลื่อนไหวแนวคิดความยุติธรรมพลังงานและจึงค่อย ๆ พัฒนามาเป็นอีกสาขาหนึ่งที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น คือ ความยุติธรรมในกระบวนการเปลี่ยนผ่านพลังงานในช่วงปี ค.ศ. 1990 พร้อมกับการจัดตั้ง Just Transition Alliance ด้วยการสร้างความสำคัญให้กับขั้นตอนการวางแผนจัดการ การปรับใช้นโยบาย และการประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมทุกอย่างที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน[4]
ณ ปัจจุบัน หัวใจของการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมนั้นอยู่ที่คำว่า “กระบวนการ (process)” หรือ “วิธีการ (measure)” ไม่ใช่เพียงความพยายามที่จะสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับผู้ที่ได้ประสบพบเจอกับความสูญเสียจากการเปลี่ยนแปลง ณ ปลายทางเท่านั้น แต่กระบวนการทั้งหมดต้องมีหลักการความเป็นธรรมทั้ง 4 ประกอบอยู่ในนั้นเสมอ โดยเฉพาะความเป็นธรรมในกระบวนการ ที่จะสามารถสร้างได้จากการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการเปลี่ยนผ่าน ยิ่งเริ่มต้นได้เร็วเท่าไรยิ่งสามารถลดความสูญเสียของสังคมได้มากเท่านั้น การสนทนาแลกเปลี่ยนมุมมอง ร่วมแก้ปัญหา กระจายผลกระทบอย่างเป็นธรรม ก็จะเกิดเป็นนโยบายการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ครอบคลุมความยั่งยืนขยายผลต่อไปได้ในระยะยาวจนสุดท้ายเกิดระบบสังคม เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อมที่เราหวัง
ประมาณ 40 ปีที่ผ่านมา งานศึกษาและบทสนทนาเกี่ยวกับ JET มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นการสูญเสียการมีงานทำในภาคอุตสาหกรรมพลังงานเดิม โดยเฉพาะกรณีเหมืองถ่านหินในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหลักในการสร้างกรอบการวิเคราะห์แนวคิดและทำการศึกษา[3] ในขณะเดียวกันก็มีงานศึกษาอีกทางหนึ่งที่สะท้อนความทุกข์ยากของผู้คนที่การเปลี่ยนผ่านพลังงานทำให้ความสามารถส่วนตัวในการเข้าถึงแหล่งพลังงานในการดำเนินชีวิตที่ไม่ใคร่จะมั่นคงอยู่แล้วต้องสั่นคลอน (Energy insecurity) [4] ความท้าทายเหล่านี้ยังคงเป็นสิ่งที่บั่นทอนการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนาจวบจนปันจุบัน ถึงแม้จะมีกรณีศึกษา JET ที่ประสบความสำเร็จที่สังเคราะห์ออกมาเป็นองค์ประกอบและแนวทางในการสร้างความเป็นธรรมในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน แต่เราก็ยังไม่มีตัวต้นแบบหรือ Blueprint ของ JET ที่ละเอียด สมบูรณ์นำไปใช้ได้ทันทีในทุกพื้นที่[5] ยังมีความจำเป็นอย่างมากที่แต่ละประเทศ แต่ละภูมิภาคจะนำเอาหลักการความยุติธรรมพลังงานมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบททางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่กำลังเกิดขึ้น
องค์ประกอบและขั้นตอนการสร้าง Just Energy Transition |
องค์ประกอบในการเปลี่ยนผ่านที่ยุติธรรมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (equitable and inclusive) ประกอบไปด้วย 3 ส่วนด้วยกัน คือ (1) การระบุและให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาร่วมขบวนเดียวกัน (2) การสร้างหรือบูรณาการสถาบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ (3) และการมีนโยบายที่จะมาการันตีความเป็นธรรม ความครอบคลุมบุคคลทุกกลุ่มในกระบวนการเปลี่ยนผ่านพลังงาน องค์ประกอบทั้ง 3 สามารถนำมาปรับและเสนอเป็นขั้นตอนหลักในการสร้าง JET ได้ดังนี้ [5]
ขั้นตอนในช่วงแรก: ระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน
นี่เป็นขั้นตอนแรกและเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความเป็นธรรมและความครอบคลุม กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสิ่งเกี่ยวข้องอื่น ๆ โดยอาจมีรายละเอียดเพิ่มเติม[2] ดังนี้
- ระบุกลุ่มภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านฯ
- ระบุทีมวางแผน ทีมพัฒนาจัดเตรียมข้อมูลการประเมินผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบ และทีมวางแผนการร่วมบทสนทนาเพื่อการตัดสินใจสำหรับการเปลี่ยนผ่านฯ
- ระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เป็นกลุ่มคนชายขอบอยู่แต่เดิม
- ระบุสถาบัน หน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้เริ่มมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนผ่านฯ แล้ว
- ระบุนโยบายที่ได้เริ่มมีการร่างหรือปรับใช้ในการเปลี่ยนผ่านฯ แล้ว
การทำความเข้าในบริบทแวดล้อมทั้งในเชิงสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ โครงสร้างพื้นฐาน (Hard) และเชิงสังคม-วัฒนธรรม (Soft) เพื่อประกอบกับการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วยก็เป็นสิ่งที่จำเป็น เช่น การคำนึงถึงทุนทางทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ ทิศทางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ความรู้สึกถึงเอกลักษณ์ ความรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของในธรรมเนียมและวิถีชีวิตที่ชุมชนและอุตสาหกรรมในพื้นที่ได้หล่อหลอมขึ้นมาเป็นเวลานาน และวิเคราะห์สัมพันธ์ไปกับผลกระทบเชิงบวกและลบของโครงการเปลี่ยนผ่านพลังงาน การลงพื้นที่ทุกชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบก็เป็นขั้นตอนที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้ง พร้อมทั้งได้รวมเอาผู้คนเข้ามาร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบด้วย เหล่านี้จะช่วยให้การระบุผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและการเตรียมข้อมูลเพื่อการตัดสินใจลดผลกระทบเชิงลบ มีความสอดคล้องกับความเป็นมาในพื้นที่และความเป็นไปอนาคตมากขึ้น
การระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรวมไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะขยายผลได้ดีขึ้นหากมีการวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์การเมือง ด้วยการตอบคำถามว่า ใคร มีความสนใจเกี่ยวกับสิ่งใด ยึดถือคุณค่าใดเป็นหลัก มี/ได้รับอิทธิพลต่อ/จากใครมากน้อยอย่างไร และมีแนวโน้มสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างไร การวิเคราะห์ในลักษณะดังกล่าวจะเผยให้เห็นรายชื่อของกลุ่มพันธมิตรที่มีศักยภาพ รวมถึงกลุ่มผู้คนที่อาจจะต่อต้านกับการเปลี่ยนผ่านฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ควรจะได้รับความเคารพ นำเข้ามาร่วมขบวนการพัฒนานี้ด้วยกัน (ผู้อ่านสามารถดูตัวอย่างการวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์การเมือง โดย Bridle et al., 2018 ทางลิงก์นี้)
ขั้นตอนในช่วงที่ 2: เสาะหาผู้นำความเปลี่ยนแปลง หรือแชมเปี้ยน
จากการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามระดับการสนับสนุน JET และระดับอิทธิพล แกนนำความเปลี่ยนแปลงคือคำตอบที่ออกมา เราเรียกผู้นำความเปลี่ยนแปลงนี้ว่า “แชมเปี้ยน” แชมเปี้ยนที่พึ่งพาอาศัยได้นี้จะเป็นผู้เล่นหลักในการขับเคลื่อน JET ในระดับประเทศหรือระดับท้องถิ่นก็ได้ จะเป็นกลุ่มที่มาจากหน่วยงานรัฐ หรือจากภาคประชาสังคม หรือภาคธุรกิจก็ได้เช่นกัน
ผู้มีอำนาจสามารถช่วยประสานให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับ JET ระหว่างประเทศในประเด็นต่าง ๆ ตลอดการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ซึ่งรวมถึงประเด็นกระบวนการนำกลุ่มสมัชชาแรงงาน ธุรกิจ ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม จากนั้นจึงทำการสนับสนุนให้แชมเปี้ยนเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดวงสนทนาเกี่ยวกับ JET ระดับชาติเพื่อสร้างการแลกเปลี่ยนประเด็นสำคัญระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขึ้น
กระบวนการการสนทนาแลกเปลี่ยนที่เปิดกว้างและเข้าถึงได้บนฐานของข้อมูลที่ครบถ้วนตรงไปตรงมานั้น สุดท้ายแล้วจะนำไปสู่นโยบาย JET ที่เข้มแข็ง เพราะได้เกิดการสร้างความเชื่อใจระหว่างผู้คนและความน่าเชื่อถือมีที่มาที่ไปของแนวทางการปฏิบัติ
สิ่งที่คาดหวังจากการเข้าสร้างการสนทนาแบบ open dialogue กับกลุ่มแรงงาน ชุมชน กลุ่มอุตสาหกรรมคือการได้ทราบถึงปัญหาความท้าทายและทางออกร่วมที่ชุมชนผู้ได้รับผลกระทบเชิงลบยอมรับได้ และเพื่อให้ทางออกนั้นเกิดขึ้นได้จริง ภาครัฐต้องมีการเตรียมพร้อมเชิงระบบในการประสานข้ามกระทรวงและหน่วยงานในระดับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การเตรียมงบประมาณการดำเนินการ เป็นต้น
ทั้งนี้ JET จะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงก็ด้วยบทบาทภาครัฐ มีกรณีศึกษามากมายที่การเปลี่ยนผ่านภาคพลังงานที่นำโดยกลุ่มธุรกิจ หรือกลุ่มองค์กรไม่แสวงหากำไรต้องล้มเหลวหรือเป็นไปอย่างขลุกขลักเนื่องจากไม่ได้ทำงานร่วมกับภาครัฐหรือไม่ได้รับการสนับสนุน ดังนั้น แม้ในกรณีที่ภาครัฐอาจมิได้เป็นแชมเปี้ยนในขั้นตอนนี้ แต่ก็ต้องร่วมมีบทบาทหลักในกระบวนการด้วยเสมอ
ขั้นตอนในช่วงที่ 3: ยกระดับความสำคัญของ JET
การสื่อสารที่ inclusive เป็นหัวใจของการสร้างความเชื่อใจจากสาธารณะ ผู้คนส่วนมากไม่ค่อยโปรดปรานการเปลี่ยนแปลง ถ้าเป็นไปได้มักอยากจะให้ทุกสิ่งค่อย ๆ เป็นไปเรื่อย ๆ อย่างที่มันเป็น แต่เมื่อ JET เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเกิด การอธิบายให้ข้อมูลว่าอะไรจะต้องเปลี่ยนไปบ้าง อย่างไร ด้วยเหตุประโยชน์อันใด โดยที่รับความคิดเห็นของผู้คนที่สะท้อนมาประกอบการพิจารณาด้วยในเวลาเดียวกัน
โดยการออกแบบพัฒนาเครื่องมือการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมที่ส่งเสริมการสนทนาแบบสองทาง (Two-way communication) มีการโต้ตอบกัน ไม่ปิดกั้นต่อความต้องการของกลุ่มผู้เสี่ยงได้รับผลกระทบ (Responsive) และแสดงความโปร่งใส ความรับผิดชอบต่อสิ่งที่สื่อสาร (Accountability) คือการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเปลี่ยนผ่านฯ และผลกระทบจากนโยบายอย่างตรงไปตรงมา แม้จะเป็นผลกระทบเชิงลบก็ตาม การสื่อสารควรเป็นไปในรูปแบบเชิงบวก ให้ความรู้สึกว่าการเปลี่ยนผ่านพลังงานจะนำไปสู่อนาคตที่ดีขึ้นร่วมกันในระยะยาว และสามารถแสดงผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมกับผู้รับข้อมูลได้ เช่น การระบุถึงโอกาสการจ้างงานลักษณะใหม่ในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด ที่จะมีการอบรมเป็นเวลา 6 เดือนและสร้างรายได้ที่มากกว่าเดิม ซึ่งต้องอยู่บนฐานของความเป็นจริง การใช้ภาพในการสื่อสารมากกว่าการอธิบายปากเปล่าก็สามารถช่วยได้เช่นเดียวกัน หากการสื่อสารมีประสิทธิภาพ นอกจากจะได้รับทางออกร่วมที่มีความเข้มแข็งแล้ว การต่อต้านความเปลี่ยนแปลงก็มีโอกาสลดลงและเปิดทางให้กับการเปลี่ยนผ่านพลังงานได้อย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น
ขั้นตอนในช่วงที่ 4: ลงมือสร้างการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม
ขั้นตอนสุดท้ายคือขั้นตอนการจัดการผลกระทบ เพื่อให้ผลกระทบจากกการเปลี่ยนผ่านพลังงานน้อยที่สุดและกระจายออกอย่างเป็นธรรม แน่นอนว่าต้องมีการนำรวมเอาทางออกที่ได้ร่วมกันกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาเป็นที่ตั้ง หน้าที่ของผู้ออกแบบนโยบายคือการนำเอาความเชี่ยวชาญด้านเครื่องมือทางนโยบายมาสร้างผลลัพธ์ที่ตั้งใจ เช่น หากสิ่งหนึ่งที่อยากจะเห็นคือ การลดผลกระทบเชิงลบจากการสูญเสียอาชีพและรายได้เลี้ยงดูครอบครัวของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมพลังงานเก่า วิธีการที่พิจารณาคือมาตรการการคุ้มครองทางสังคม (Social protection) ผ่านระบบประกันสังคม เงินชดเชยการว่างงาน เป็นต้น แต่ต้องคำนึงอยู่เสมอว่าการประเมินผลกระทบจักต้องครอบคลุมและผ่านการสนทนากับผู้มีส่วนในการสูญเสีย จึงจะออกแบบชุดนโยบายได้ถูกจุดและเกิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างราบรื่นได้
อีกทางหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมคือกระจายผลกระทบอย่างเป็นธรรม แน่นอนว่าการพยายามลดผลกระทบจะต้องใช้ทรัพยากรและงบประมาณ การบริหารจัดการ (Allocation) การจัดการที่มาและจำนวนทรัพยากรที่มีอย่างชาญฉลาดและเป็นธรรมเป็นบทบาทที่ชัดเจนของหน่วยงานผู้มีอำนาจกำหนดนโยบาย เช่น การให้เงินชดเชยแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งเป็นเงินที่ได้มาจากภาษีอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล เป็นต้น นับเป็นการกระจายผลกระทบกลับไปสู่ผู้ก่อมลภาวะ และเหนี่ยวนำการหดตัวของพลังงานฟอสซิลไปด้วย ซึ่งประเด็นการเงินเพื่อการสนับสนุน JET นี้จะถูกยกขึ้นมานำเสนอเป็นการเฉพาะอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน
ถ้าเราวางแผนการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรม… |
แน่นอนว่า JET จะลดผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางและอัตลักษณ์ทางสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ แต่นอกเหนือไปจากนั้นหากมีการจัดการการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างดีเยี่ยม ผลกระทบเชิงบวกจากอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดก็จะเพิ่มพูนขึ้นด้วย อาทิ การจ้างงานในอุตสาหกรรมใหม่ การพัฒนาทักษะแรงงาน ความเป็นไปได้ในการทดแทนงานที่อันตรายและสกปรก (อาทิ เหมืองถ่านหิน) ด้วยงานใหม่ที่ปลอดภัยกว่า การสร้างความยืดหยุ่นหลากหลายกับเศรษฐกิจชุมชน โอกาสในการผลิตสร้างตัวตน อัตลักษณ์ใหม่ของชุมชน ความเป็นไปได้ในการก่อร่างกลุ่มแรงงานในอุตสาหกรรมใหม่เพื่อเสริมความมั่นคงและความเข้มแข็งของคนทำงาน
ดังนั้น ปลายทางการเปลี่ยนผ่านพลังงานไม่ควรยืนอยู่บนฐานของสังคม ณ ปัจจุบัน ที่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำอยู่ JET ควรเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามแก้ปัญหาในจุดนี้ด้วย ผลประโยชน์ที่ภาคพลังงานสะอาดจะนำมาสู่สังคมควรจะได้รับการกระจายอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมอันจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในกระบวนการเปลี่ยนผ่าน ผู้เขียนเชื่อว่าประเทศไทยยังมีโอกาสในการเตรียมยุทธศาสตร์ JET อยู่พอสมควร และในระหว่างการเตรียมการนี้จะมีประเด็นความยั่งยืนอื่น ๆ ที่สามารถขยับไปข้างหน้าร่วมกันกับภาคพลังงานได้ บทความในชิ้นต่อไปจะแนะนำความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
SDG Updates ฉบับนี้เป็นบทความชิ้นที่สองในชุดข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition) สนับสนุนโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ประเทศไทย เป็นชุดความรู้ที่มิเพียงแค่นำเสนอประเด็นการขับเคลื่อนการใช้พลังงานหมุนเวียนพลังงานสะอาดในมิติเชิงการลดผลกระทบต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่เน้นไปที่มิติความยั่งยืนอันรวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านเชิงนิเวศสังคม (socio-ecological transition) ที่คำนึงถึงการได้รับความเคารพในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และกระทั่งสิทธิของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตอื่นที่จะได้รับผลกระทบทั้งระหว่างและหลังการเปลี่ยนแปลงด้วย นอกจากนี้ จะมีการยกบทสนทนาเกี่ยวกับแนวคิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยั่งยืนในเชิงเปรียบเทียบให้เห็นบริบทปัญหาของประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาที่มีลักษณะปัญหาแตกต่างกันอยู่มาก และระหว่างกรณีในประเทศและกรณีระดับภูมิภาคที่มีระดับความซับซ้อนขึ้นไป ตลอดจนบทสัมภาษณ์จากหลากมุมมองผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับที่มาที่ไปของแนวคิดดังกล่าว ซึ่งจะมีการเผยแพร่ทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2564
ประเด็น Just Energy Transition ในบทความชิ้นนี้เกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสมัยใหม่ ในด้านหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ และเชื่อถือได้ ภายในปี 2573 (7.1)
.
โดยคำนึงถึง #SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่มีคุณค่า ในด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ส่งเสริม/เติบโตไปพร้อมกับสิ่งแวดล้อมโดยไม่ทำลาย/ขัดแย้งกัน (8.4) ส่งเสริมโอกาสงานที่มีคุณค่าและเท่าเทียมสำหรับทุกคน (8.5) และการปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงแรงงานต่างด้าว (8.8)
.
ขณะเดียวกับที่ตระหนักถึงปัญหาความยากจนและชนชายขอบตาม #SDG1 รวมถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมตาม #SDG10 โดยจะต้องเน้นการมีมาตรการคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง (1.3) และหลักประกันว่าทุกคนจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาค โดยการขจัดกฎหมาย นโยบาย และการเลือกปฏิบัติ และให้มีกฎหมายที่ส่งเสริมความเท่าเทียมและเสมอภาค (10.3)
.
ทั้งนี้ ก็ด้วยอาศัยองค์ประกอบสำคัญอย่าง #SDG16 สังคมสงบสุข เข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมสำหรับทุกคน (16.3) สถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดรับชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ (16.6)และการมีกระบวนการตัดสินใจที่ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ (16.7) ให้สามารถเปลี่ยนผ่านพลังงานได้อย่างเป็นธรรม
เอกสารอ้างอิง
[1] Project 90 by 2030 (2021), “Just Energy Transition – Overview” URL: http://90by2030.org.za/just-energy-transition/ [accessed 4 October 2021].
[2] Heffron, R.J. (2021), “Inclusive Energy Transition”, Commonwealth Sustainable Energy Transition Series 2021/01, Commonwealth Secretariat: London.
[3] Garcia-Garcia, P., Carpintero, O., and Buendia, L., (2020), “Just energy transitions to low carbon economies: a review of the concept and its effects on labour and income”, Energy Research & Social Science, 70.
[4] Carley, S. and Konisky, D.M., (2020), “The justice and equity implications of the clean energy transition”, Nature Energy, 5: 569-577.
[5] Zinecker A., Gass, P., Gerasimchuck, I., Jain, P., Moerenhout, T., Suharsono, Y.O.A.R., and Beaton, C., (2018), “Real People, Real Change – Strategies for just energy transitions”, Internation Institute for Sustainable Development: Manitoba.