องค์การอนามัยโลกอนุมัติใช้ วัคซีนต้านมาลาเรีย ตัวแรกของโลก กับเด็ก ๆ ในภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา (Sub-Saharan Africa) และในภูมิภาคอื่น ๆ ที่มีอัตราการป่วยโรคมาลาเรียในระดับกลางไปจนถึงสูงแล้ว
มาลาเรียเป็นโรคติดต่อที่มียุงก้นปล่องเป็นพานะ ในแต่ละปี มีผู้เสียชีวิตจากการป่วยโรคมาลาเรียมากกว่า 400,000 รายต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา และมากกว่า 260,000 รายเมื่อพิจารณาทั้งทวีปแอฟริกา ที่ผ่านมา มาตรการเพื่อลดการแพร่กระจายของโรคมีเพียงการใช้มุ้งกันยุงและยารักษาเมื่อป่วยเท่านั้น
“นี่เป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ วัคซีนมาลาเรียสำหรับเด็กที่รอคอยมานานเป็นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ สุขภาพเด็ก และการควบคุมโรคมาลาเรีย” ดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกกล่าว “การใช้วัคซีนนี้ร่วมกับเครื่องมือที่มีอยู่เพื่อป้องกันโรคมาลาเรียสามารถช่วยชีวิตเด็กได้หลายหมื่นคนในแต่ละปี”
วัคซีนต้านมาลาเรียตัวใหม่นี้ ชื่อว่า RTS,S หรือ Mosquirix ซึ่งพัฒนามานานเกือบ 40 ปี ผลจากโครงการนำร่องที่กำลังดำเนินอยู่ในประเทศกานา เคนยา และมาลาวี ซึ่งมีเด็กมากกว่า 800,000 คนตั้งแต่ปี 2019 พบว่าวัคซีนชนิดนี้ ทำให้กรณีการเกิดโรคมาลาเรียขั้นรุนแรงหรือถึงเสียชีวิตลดลง 30% แม้ในพื้นที่ที่มีการใช้มุงกันยุงกันอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม วัคซีนตัวนี้มีประสิทธิผลในการป้องกันโรคต่ำกว่าวัคซีนตัวอื่น เช่น วัคซีนป้องกันโควิด-19 บางตัวที่สามารถการป้องกันอาการรุนแรงได้ 60-90%
องค์การอนามัยโลกได้ออกคำแนะนำการใช้วัคซีนตัวนี้ในบริบทของของการป้องกันโรคมาลาเรียที่ติดจากเชื้อ ‘พลาสโมเดียม ฟัลชิปารัม’ (Plasmodium falciparum) กับเด็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคที่มีการระบาดระดับปานกลางถึงสูง โดยกำหนดให้เริ่มต้นฉีดเด็กอายุตั้งแต่ 5 เดือนขึ้นไป ทั้งหมด 4 โดส
ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่นๆ ภายในปี 2573
ที่มา :
World’s first malaria vaccine approved for use in children in Africa (New Scientist)
WHO recommends groundbreaking malaria vaccine for children at risk (WHO)