สิทธิในวิทยาศาสตร์ (Right to Science) ทำให้มนุษย์มีเครื่องมือใช้ประเมิน ป้องกัน และเผชิญหน้ากับการที่โลกจะปนเปื้อนไปด้วยสารพิษอย่างรุนแรงและวิกฤติทางสิ่งแวดล้อม
แต่การจะส่งเสริมสิทธิในวิทยาศาสตร์ได้ จะต้องส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามวิทยาศาสตร์ Marcos Orellana ผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติด้านนัยยะสิทธิมนุษยชนในการจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การกำจัดสารอันตรายและขยะ เตือนว่า ข้อมูลที่บิดเบือนเกี่ยวกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าด้วยเรื่องสารพิษอันตราย ทำให้ผู้คนสับสน กังขา และไม่เชื่อใจในวิทยาศาสตร์
ตัวอย่างของข้อมูลที่บิดเบือนในบริบทของสารพิษ มีอาทิ การรีไซเคิลซึ่งเป็นโซลูชันในการจัดการกับขยะพลาสติก ทว่ามีทั้งข้อมูลที่ชี้ว่าแนวคิดการรีไซเคิลไม่ได้มาจากสายสิ่งแวดล้อมแต่มาจากอุตสาหกรรมพลาสติก มีพลาสติกน้อยกว่า 10% ที่ถูกรีไซเคิล และกระบวนการรีไซเคิลยังทำให้พลาสติกมีสารพิษอันตรายที่เข้มข้นขึ้นด้วย
Marcos Orellana จึงเรียกร้องให้นานาประเทศดำเนินการบนฐานของวิทยาศาสตร์และใช้ข้อมูลวิทยาศาสตร์ในการจัดการกับสารพิษ ทั้งยังเรียกร้องไปถึงบริษัทที่ควบคุมข้อมูลหรือใช้กลยุทธ์ในการบิดเบือน การแนะนำไปในทางที่ผิด หรือการปฏิเสธข้อมูลบางอย่าง เพื่อให้ ‘สินค้า’ ชนิดนั้น ๆ ยังคงซื้อขายอยู่ในตลาดได้
โดยรัฐบาลจะต้องแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องเมื่อพบว่ามีการชี้นำข้อมูลไปในทางที่ผิด จะต้องทำให้มาตรการสอดคล้องกัน บนฐานของข้อมูลและหลักฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ เพื่อให้สามารถพัฒนานโยบาย/เครื่องมือโดยมีข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นฐาน (Science-Policy Interface: SPI) และตัดสินใจได้โดยมีวิทยาศาสตร์รองรับ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.9) ลดจำนวนการตายและการป่วยจากสารเคมีอันตราย และจากการปนเปื้อนและมลพิษทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573