งานวิจัยพบว่า เด็กวัยเรียนในสหราชอาณาจักรที่บริโภคผักและผลไม้มากกว่า มีสุขภาวะทางจิตที่ดีกว่า

การรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนกว่า อุดมไปด้วยผักผลไม้ และการรับประทานอาหารเช้าและอาหารกลางวันที่ดีต่อสุขภาพของเด็กวัยเรียน สัมพันธ์กับการมีสุขภาวะทางจิตที่ดีกว่า

ทีมนักวิจัยในสหราชอาณาจักรทำการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคของเด็กในประเทศ โดยใช้ข้อมูลด้านสุขภาวะทางจิตของนักเรียนจากกว่า 50 โรงเรียน เป็นนักเรียนระดับประถมศึกษา 1,253 คน ที่มีอายุ 8-11 ปี และนักเรียนระดับมัธยมศึกษา 7,570 คน ที่มีอายุ 12-18 ปี จากฐานข้อมูลการสำรวจของ Norfolk Children และ Young People Health and Wellbeing Survey และประเมินคะแนนด้านสุขภาวะและอารมณ์ของนักเรียนด้วยแบบสอบถาม พร้อมกับเก็บข้อมูลด้านอายุ เพศ สุขภาพ สถานภาพการอยู่อาศัย และประสบการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ (เช่น การถูกรังแก หรือการทะเลาะวิวาทหรือความรุนแรงที่บ้าน) ควบคู่ไปกับคำถามเกี่ยวกับประเภทของอาหารที่เด็ก ๆ รับประทานเป็นประจำ

ผลการศึกษาพบว่าในกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษา การบริโภคผักและผลไม้ที่มากกว่ามีความสัมพันธ์กับคะแนนสุขภาพจิตที่ดีกว่า โดยนักเรียนที่รับประทานผักผลไม้ 5 หน่วยบริโภคต่อวันมีคะแนนด้านสุขภาวะทางจิตสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้รับประทานเลยประมาณ 8%

คะแนนด้านสุขภาวะทางจิตนี้ยังแตกต่างกันไปแล้วแต่ประเภทของอาหารเช้าหรืออาหารกลางวันที่นักเรียนรับประทาน เด็กและเยาวชนที่ไม่ได้รับประทานอาหารเช้าเลยจะมีคะแนนน้อยกว่ากลุ่มที่รับประทานอาหารเช้าแบบทั่วไป (เช่น ซีเรียล ขนมปังปิ้ง ไข่ หรืออาหารปรุงสุกอื่น ๆ) 6% และนักเรียนที่ดื่มเครื่องดื่มชูกำลังเป็นอาหารเช้าเพียงอย่างเดียวได้คะแนนน้อยกว่าเกือบ 7% โดยความสัมพันธ์ที่พบนี้ ปรากฏเช่นกันทั้งในกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมและระดับประถม

ผลการศึกษาระบุว่า เด็กและเยาวชนทุกคนต้องได้รับโภชนาการที่มีคุณภาพดีเพื่อพัฒนาสุขภาพจิตและสามารถไปถึงศักยภาพสูงสุดที่เป็นไปได้ ดังนั้น จึงมีข้อเสนอแนะให้มีการสนับสนุนเงินทุนเพื่อให้นักเรียนทุกคนได้รับอาหารฟรีในโรงเรียน และในมื้อาหารจะต้องประกอบด้วยผลไม้หรือผักอย่างน้อย 2 หน่วยบริโภค

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าวัยรุ่นประมาณ 10%-20% ทั่วโลกประสบปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้า นอกจากนี้ยังพบว่าการเจ็บป่วยทางจิดครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดเริ่มต้นเมื่ออายุ 14 ปี การเริ่มต้นพิจารณาว่าการไม่ได้รับประทานอาหารเช้าหรืออาหารกลางวันของเด็กวัยเรียนมีผลเสียด้านสุขภาพจิตในทำนองเดียวกับการที่เด็กเห็นการทะเลาะวิวาทหรือความรุนแรงที่บ้านเป็นประจำ จะทำให้เห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพในโรงเรียนและในระดับประเทศ

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
#SDG2 ยุติความหิวโหย
- (2.1) ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนโดยเฉพาะคนที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบาง อันรวมถึงทารก ได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีอาหารตามหลักโภชนาการ และมีอาหารเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปี 2573

ที่มา : Children who eat more fruit and vegetables have better mental health (Sustainweb)
Children who eat more fruits and vegetables have better mental health – new study (The Conversation)

Last Updated on ตุลาคม 13, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น