1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปีคือเงินที่จะต้องระดมไปยังประเทศเปราะบางสู้ Climate Change แต่ประเทศร่ำรวยจะทำสำเร็จหรือไม่?

Upcoming COP26: 31 ต.ค. – 12 พ.ย. 64

รัฐบาลประเทศพัฒนาแล้วที่ร่ำรวยกำลังอยู่ภายใต้ความกดดันเมื่อการประชุม COP26 ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังมาเยือนในเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้ โดยจะต้องระดมเงินทุนจากทุกแหล่งให้ได้รวมทั้งสิ้น 1 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ไปยังประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดซึ่งมีความเปราะบาง และเดิมทีเป็นเป้าหมายที่กำหนดไว้ว่าจะต้องระดมเงินทุนให้ได้ภายในปี 2563 (#SDG13 – 13.a) แต่ทว่า ยังทำไม่สำเร็จ

Selwin Charles Hart ที่ปรึกษาพิเศษต่อเลขาธิการสหประชาชาติด้าน Climate Action ระบุว่าเงินทุนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับประเทศที่มีความเปราะบาง โดยเฉพาะที่จะต้องระดมเพื่อช่วยเหลือประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก มีจำนวนที่ลดลงจาก 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2561 เป็น 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2562 ทั้งที่เงินทุนที่กำหนดไว้ที่ 1 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ นั้น มีความจำเป็นและเร่งด่วนอย่างยิ่งที่จะช่วยให้บรรดาประเทศเปราะบางเหล่านี้ซึ่งเผชิญหน้ากับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างชัดเจนและรุนแรง สามารถปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน – การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงปรับตัว (โดยที่มีเงินทุนสนับสนุน) หันมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ทนทาน และพึ่งพาพลังงานสะอาดได้ ทั้งนี้ โดยจะต้องไปให้ถึงมือของชุมชนท้องถิ่นด้วย

เพราะในขณะที่บรรดาประเทศหมู่เกาะเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งพายุ มหาสมุทรที่ร้อนเร็วขึ้น และระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นสูง กลับมีความยากลำบากที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนระหว่างประเทศที่จะระดมเข้ามาช่วยเหลือให้สามารถจัดการความเป็นอยู่ให้ปลอดภัยจากภัยคุกคามซึ่งหน้าเหล่านี้ โดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้กระทบกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ประเทศหมู่เกาะต่าง ๆ ล้วนพึ่งพา เมื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอัมพาต จึงไม่มีแหล่งเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอ ส่วนรัฐบาลจากประเทศที่ร่ำรวย ตามข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD) ระบุว่ามีการระดมเงินทุนเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ราว 1 ใน 4 ของเกือบ ๆ 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2562 ขณะที่ ‘เงินให้เปล่า’ คิดเป็นเพียง 27% ของเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate finance) เท่านั้น

ทั้งนี้ ตัวอย่างเฉพาะของประเทศในแอฟริกา ข้อมูลการศึกษาจาก Stockholm Environment Institute ระบุว่า เงินทุนสำหรับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากรัฐบาลและธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างปี 2557 – 2561 น้อยกว่า 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หรือเทียบได้กับ 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปีเท่านั้น

เมื่อไม่นานมานี้ เลขาธิการสหประชาชาติ Antonio Guterres จึงเรียกร้องให้บรรดาประเทศผู้ให้ (donors) ปรับเงินทุนให้ ‘สมดุล’ ระหว่างความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับมาตรการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สอดคล้องกับข้อตกลงปารีส 2558 โดยเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะต้องถูกกันไว้อย่างน้อย 50% เพื่อระดมไปยังประเทศกำลังพัฒนา สำหรับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

โดยเงินที่ระดมไปยังประเทศกำลังพัฒนาที่ว่านี้ ควรเป็นในลักษณะการให้เปล่าโดยไม่ต้องจ่ายคืน และจะต้องไม่เป็นในลักษณะการให้กู้

นอกจากนั้นแล้ว ในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ รัฐมนตรีจากรัฐสมาชิกในกลุ่มประเทศที่เรียกว่า ‘กลุ่มแชมเปี้ยน’ ได้แก่ ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน สหราชอาณาจักร และฟินแลนด์ มีความประสงค์จะพัฒนาปริมาณ คุณภาพ และการเข้าถึงเงินทุนสำหรับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง (quantity, quality and accessibility of adaptation finance) โดยเรียกร้องให้รัฐสมาชิกอื่นเข้าร่วม หวังให้เป็นข้อริเริ่มที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และกระตุ้นการดำเนินการให้ทันกับการประชุม COP26 ที่กำลังมาถึงในอีกไม่ถึงหนึ่งเดือนนี้

ถึงกระนั้น การกำหนดจำนวนเงิน 1 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ก็ยังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นภาพสะท้อนความต้องการของประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดในการจัดการกับสภาพภูมิอากาศจริงหรือไม่ แม้ว่าด้าน UN จะชี้แจงว่า ประเทศที่ยากจนและเปราะบางต้องการเงินทุนราว 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ทั้งป้องกันน้ำท่วม จัดการภัยแล้ง สร้างเมืองที่มีพื้นที่สีเขียว และรวม ๆ กันแล้วเงินทุนที่ต้องการอาจพุ่งสูงถึง 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ภายในปี 2573 (2030) ก็เป็นได้

และสำหรับที่ประชุม COP26 ก็ยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลที่เข้าร่วมการประชุมจะสนับสนุนเป้าหมาย ‘1 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี’ นี้หรือไม่ หรือจะปรับจำนวนเงินทุนให้ชัดเจนขึ้น อาทิ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ภายในปี 2568 (2025) ซึ่งเป็นปีที่นานาประเทศเห็นพ้องกันในเรื่องเป้าหมายของเงินทุนตามข้อตกลงปารีส

แต่การจะปรับจำนวนเงินทุนให้ได้ชัดเจนและตรงตามข้อเท็จจริงหรือความต้องการมากที่สุด ก็ต้องมาจากการประเมิน/วิเคราะห์สถานการณ์ แผนการ และมาตรการที่ถูกต้องแม่นยำ นั่นหมายความว่า อันดับแรก นานาประเทศจะต้องร่างแผนระดับชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และค่าใช้จ่ายในแต่ละมาตรการที่จำเป็นสำหรับประเทศนั้น ๆ ให้เสร็จสิ้นด้วย อาทิ การปกป้องโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่างโรงพยาบาล เครือข่ายพลังงาน และอื่น ๆ

● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
จดหมายถึงประธานที่ประชุม UN COP26 ร้องให้ปรับงบจัดการกับ climate change ที่ตระหนักถึงเพศ และอนามัยเจริญพันธุ์

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG13 การรับมือและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
-(13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
-(13.a) ดำเนินการให้เกิดผลตามพันธกรณีที่ผูกมัดต่อประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีเป้าหมายร่วมกันระดมทุนจากทุกแหล่งให้ได้จำนวน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ภายในปี 2563 เพื่อจะแก้ปัญหาความจำเป็นของประเทศกำลังพัฒนาในบริบทของการดำเนินการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญและมีความโปร่งใสในการดำเนินงาน และทำให้กองทุน Green Climate Fund ดำเนินงานอย่างเต็มที่โดยเร็วที่สุดผ่านการให้ทุน (capitalization)

แหล่งที่มา:
Reality check needed on finance to keep people safe in a warming world (Thomson Reuters Foundation)

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น