เรียบเรียงและจัดทำโดย สมิตานัน หยงสตาร์
“ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องที่เอกชนทำเองไม่ได้ เพราะไม่มีใครเป็นเจ้าของอากาศ คนอยากมีอากาศบริสุทธิ์ เราทำคนเดียวไม่ได้ เรื่องอื่นเราทำเองได้ แต่สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่รัฐต้องเข้ามานำ”
ประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ถูกพูดถึงในทุกมุมโลกทุกวันนี้ เปรียบได้ไม่ต่างกับโจทย์ปัญหายาก ๆ ที่หากต้องการแก้ให้ได้ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งตัวแปรตั้งต้นที่ถูกต้อง เครื่องมือที่เหมาะสม ไม่เว้นแม้แต่การตรวจทานผลลัพธ์ของการพยายามแก้ปัญหาเหล่านั้น
ข้อยืนยันจาก รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ที่ติดตามพัฒนาการการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้คน สู่พลังงานสะอาดของไทยมาตลอด ยืนยันให้เห็นถึงสารตั้งต้นสำคัญที่ขาดไม่ได้ หากต้องการแก้ปัญหาสมการการเปลี่ยนผ่านนี้อย่างยั่งยืน นั่นคือ “นโยบายรัฐ”
ด้วยเป้าหมายตามกรอบแผนพลังงานชาติ ที่ตั้งเป้าให้ภายในปี พ.ศ. 2608 – 2613 (ค.ศ. 2065 – 2070) ไทยจะมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Emission)
คำถามคือแล้วไทยในรอบทศวรรษที่ผ่านมาทำได้ดีพอแล้วหรือไม่?
SDG Move ร่วมพูดคุยกับ อ.กิริยา ถึงพัฒนาการและความท้าทายของภาคอุตสาหกรรม ท่าทีของรัฐบาล ตลอดจนข้อกังวล โดยเฉพาะความเป็นธรรมต่อแรงงาน
ภาพรวมการเปลี่ยนผ่านพลังงานของไทย
ตามรายงาน ของ EIA หรือที่รู้จักกันในชื่อ สำนักบริหารสารสนเทศพลังงานของสหรัฐอเมริกา เคยคาดการณ์ไว้ว่า เชื้อเพลิงฟอสซิลจะยังคงมีบทบาทกับการใช้พลังงานทั่วโลกไปอีกหลายสิบปี แม้ว่าจะมีการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นแล้วก็ตาม ขณะเดียวกันทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้ว และภูมิภาคอื่น ๆ ต่างก็ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
นั่นก็สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านพลังงานของไทย ที่ อ.กิริยา ชี้ว่า ยังไม่เห็นการเปลี่ยนผ่านที่ชัดเจน หากเปรียบเทียบกับความกระตือรือร้นในต่างประเทศ เป็นผลมาจากไทยยังขาดก้าวแรกที่สำคัญ นั่นคือ การสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมให้กับคนในประเทศ
นั่นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่ผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานฟอสซิล เป็นพลังงานสะอาด ยิ่งในมิติของผลกระทบทางสังคม จึงถูกพูดถึงน้อยไปโดยปริยาย
“อย่างขบวนการแรงงานสากล เขาให้ความสำคัญมาก เขายอมรับว่าไม่มีงานบนโลกที่ตายแล้วเพราะฉะนั้นโลกที่ตายแล้วแรงงานก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน เลยถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด ขณะเดียวกันไม่ใช่แค่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ต้องเป็นมิตรกับการจ้างงานด้วย”
ความเป็นธรรมขับเคลื่อนด้วยแรงกดดัน
พัฒนาการด้านนวัตกรรมที่สอดรับกับความเข้มแข็งของสหภาพแรงงาน จึงเป็นที่มาที่ อ.กิริยา ให้คะแนนการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไปในทางบวก หลังเห็นยุทธศาสตร์ที่เป็นรูปธรรมผ่านนโยบาย 30/30
กระทรวงพลังงาน อธิบายถึงนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติว่า เป็นการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 โดยมีการกำหนดแนวทางเป็นระยะ ๆ ที่ชัดเจน ตั้งแต่การตระเตรียมโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศเพื่อรองรับ ไปจนถึงวันที่ได้นำร่องใช้งานจริง
ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society) ในอนาคต ซึ่งขณะนี้หลาย ๆ ประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป ได้กำหนดเป้าหมายและมาตรการที่ชัดเจนในการส่งเสริม EV แล้ว
อ.กิริยา กล่าวว่า การที่พัฒนาการของอุตสาหกรรม ถูดสอดรับด้วยนโยบายรัฐ ถือเป็นกระบวนการสำคัญที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านพลังงานประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืน แม้ว่าทั้งหมดจะ “ถูกเร่งด้วยแรงกดดันทางเศรษฐกิจ” ก็ตาม
“ไม่ใช่แค่เรากังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ ที่เรากลัวว่าจะส่งออกไม่ได้ แต่ก่อนเราเป็นศูนย์กลางการผลิต มันเลยถูกบีบจากนอกประเทศว่าต่อไปที่อื่นเขาไม่เอารถน้ำมันแล้ว… ปกติเราผลิตอยู่ 2 ล้านคันต่อปี ครึ่งหนึ่งส่งออก”
สำหรับแรงงานไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น อ.กิริยา ให้ข้อมูลว่า มีจำนวน 800,000 คนโดยประมาณ และพวกเขาก็เริ่มมีข้อกังวลต่อความมั่นคงในอาชีพ เพราะรู้ว่าการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนในการผลิตมากขึ้น
ช่องว่างในเรื่องทักษะแรงงานเหล่านี้ไม่เพียงแต่แรงงานเองที่ต้องเร่งพัฒนา แต่สหภาพแรงงาน รวมถึงรัฐก็ต้องเข้ามามีบทบาทลดผลกระทบเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นความกลัวที่จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันก็คงเกิดขึ้นจริง
ขณะที่ฟากฝั่งการผลิตไฟฟ้า กลับเป็นหนึ่งอุตสาหกรรมที่พึ่งพิงพลังงานจากฟอสซิล ที่ อ. กิริยา ยังมองว่า ลงสนามสอบหลายต่อหลายครั้ง ผลออกมาก็ยังไม่เป็นที่พอใจ
“ที่ผ่านมารัฐให้ความสำคัญ ในแง่การอุดหนุน (โรงไฟฟ้า) พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ทั้งพลังงานน้ำ ลม แสงอาทิตย์ รวมถึงชีวมวล แต่ไม่ชัดเจนในเรื่องโรงไฟฟ้าเก่า เหมือนก็อยากมีความสัมพันธ์ใหม่ แต่ของเก่าก็ยังไม่ตัดขาด ไม่หย่าร้าง อาจจะด้วยสถาบัน (ผู้ผลิต) อยู่มานาน การเปลี่ยนก็ยาก การเมืองก็มีส่วน”
ลดงานเก่าสร้างงานใหม่ สมดุลแล้วหรือไม่
เมื่อในทุกการเปลี่ยนผ่านย่อมมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ แต่การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างที่ถูกกล่าวถึงในประเด็นการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมต่อแรงงาน กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกพูดถึง
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2560 ตามการศึกษาของ อ.กิริยา ที่เคยระบุว่า โอกาสและความท้ายทายของแรงงาน ภายใต้นโยบายลดโลกร้อน ส่งผลใน 4 รูปแบบด้วยกัน คือ การสร้างงานใหม่ การแทนที่งานเก่า งานบางประเภทหายไป รวมถึงงานจำนวนมากกถูกปรับเปลี่ยน
และไม่ว่าการจ้างงานเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบไหน คำถามสำคัญคือ งานเก่าที่หายไปและงานใหม่ที่เพิ่มขึ้นมา ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลังหรือไม่?
“มันยังไม่เกิดขึ้นเรื่องการเปลี่ยนพลังงาน มันเลยยังไม่เห็น” คำตอบสั้น ๆ ของ อ.กิริยา ที่ย้ำว่าการเปลี่ยนผ่านพลังงานของไทยยังไม่เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ จึงยากที่จะบอกบทสรุป แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะคาดเดาไม่ได้
“ถ้าดูการศึกษาของต่างประเทศทางบวก บอกว่างานที่เกิดขึ้นใหม่น่าจะเยอะกว่าที่หายไป”
อ.กิริยา อธิบายถึงการจ้างงานของโรงงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ของไทยในปัจจุบัน ที่โดยธรรมชาติ ในหนึ่งหน่วยการผลิตจะใช้แรงงานจำนวนจำกัด เพราะมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงไปใช้พลังงานทางเลือก อย่างกรณีของพลังงานแสงอาทิตย์ที่ยังต้องอาศัยแรงงานคนในการติดตั้งและซ่อมบำรุง นี่ก็นับเป็นการจ้างงานใหม่ที่เพิ่มขึ้น
เช่นเดียวกับพลังงานชีวมวล ที่อาศัยการป้อนวัตถุดิบจากบรรดาโรงงานขยะต่าง ๆ ก็อาจยังจะต้องใช้แรงงานคนไม่น้อย
ซึ่งอาจแตกต่างกับอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ด้านหนึ่ง นวัตกรรมใหม่ ๆ ก็มีผลทางบวกต่อการจ้างงานผลิตชิ้นส่วนบางประเภทที่เพิ่มขึ้น อย่างพวกแบตเตอร์รี่ ชิ้นส่วนไฟฟ้า เป็นต้น แต่ขณะเดียวกันการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แบบเดิมก็ลดลงไป
“จาก 30,000 ชิ้น อาจลดเหลือ 3,000 ชิ้น ส่วนของท่อไอเสีย ถังน้ำมัน จะไม่ถูกใช้เลย เพราะฉะนั้นคนที่เคยผลิตก็จะสูญเสียงาน เขาก็จำเป็นต้องโยกย้ายตัวเอง”
ดังนั้น การพัฒนาฝีมือแรงงานจึงเป็นเรื่องเดิม ที่ยังคงต้องย้ำซ้ำ ๆ เพื่อเร่งให้เกิดขึ้นในทางปฏิบัติเป็นวงกว้าง
“แรงงานในภาคยานยนต์ก็ยังไม่รู้สึกว่าตัวเองได้รับการพัฒนาจากรัฐ ส่วนที่คืบหน้าน่าจะเป็นในมหาวิทยาลัย โรงเรียนอาชีวะ ที่เปลี่ยนหลักสูตร อันนี้เป็นแรงงานที่จะเข้าใหม่สู่ตลาด แต่แรงงานเก่าที่อยู่ในสถานประกอบการยังไม่เห็นทิศทาง”
หากยังคงเป็นเช่นนี้ ในอนาคตหากแรงงานไม่สามารถรักษางานเดิม หรืองานในอุตสาหกรรมที่ใช้ทักษะใกล้เคียงกันไว้ได้ ก็อาจปรากฏภาพแรงงานที่ต้องเปลี่ยนอาชีพไปสู่การเกษตร ค้าขาย รับจ้างอื่น ๆ เลยก็ได้
ที่ผ่านมาแม้รัฐอาจได้คะแนนมากขึ้น ในการสร้างสวัสดิการสังคม และการเยียวยาแรงงานในกรณีที่ต้องหลุดออกจากระบบ แต่นั่นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ อ.กิริยาหวังจะเห็น
“ควรมองการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม ในลักษณะที่ว่า ต้องลดผลกระทบที่จะเกิดให้มากที่สุด เขา (แรงงาน) ควรจะเข้าไปมีส่วนร่วมในพลังงานทดแทนได้ บริษัทควรพาเขาไปด้วย ไม่ใช่ว่าไปด้วยกันไม่ได้ก็เปิดเออรี่รีไทร์”
กับดักนโยบายรัฐ
ในต่างประเทศความกังวลที่ว่าอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด จะเข้ามาแย่งพื้นที่เกษตรกรรมของคนพื้นถิ่น อย่างภาพที่ปราฏภาพฟาร์มโซลาเซลล์สุดลูกหูลูกตา แต่สำหรับสถานการณ์ของไทย อ.กิริยา มองว่ายังห่างไกลปัญหานั้นอยู่มาก
ประเด็นต้น ๆ ที่อาจต้องยกขึ้นมาพูดถึงก่อน คือ ปัญหาการย้ายถิ่นฐานที่อาจเกิดตามมาในอนาคต หากโรงงานไฟฟ้าดั้งเดิมต้องปิดตัวลง หรือย้ายฐานการผลิต แรงงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านในพื้นที่ ก็จำเป็นต้องชั่งน้ำหนักว่าจะขยับขยายตามหรือไม่
เช่นเดียวกับโอกาสสร้างรายได้ของชาวบ้านรอบ ๆ โรงไฟฟ้า ที่จะหดหายตามไปด้วย ทั้งหมดเป็นผลกระทบที่จะละเลยไปไม่ได้
อ.กิริยา ย้ำถึงภาคประชาสังคมที่ต้องขยับมาทำงานเชิงรุกมากขึ้น อย่างการทำวิจัยผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านพลังงาน มากไปกว่าการรอให้เกิดผล แล้วจึงเรียกร้องหาการเยียวยา “ภาครัฐอาจจะช้ากว่า ต้องคิดก่อนรัฐให้ได้ เดี๋ยวเขาก็วิ่งตามเอง”
อย่างไรก็ตาม ในฐานะของผู้ที่ติดตามการกำหนดนโยบายของรัฐมาตลอด อ.กิริยา ยังคงมีความคาดหวังต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่สะท้อนทัศนคติเชิงบวกต่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม แต่ในทางปฏิบัติมักมี “กับดัก” บางประการ
“สิ่งที่ต้องตามอย่างการผลิตไฟฟ้า ยังมีปัญหาเรื่องบอร์ดคณะกรรมการ มีความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ เขาก็นั่งทับสิ่งที่ขัดประโยชน์เขา สมมติเขาอยู่ในที่วงประชุมสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันเขาก็มีผลประโยชน์ในโรงไฟฟ้าถ่านหิน มันเลยไปต่อไม่ได้ การที่หน่วยงานรัฐเป็นผู้เล่นเองบางครั้งก็เป็นผลเสีย”
ไม่ต่างกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ที่ส่งสัญญาณความพร้อมเดินหน้ามาตลอด แต่ยังขาดไฟเขียวในบางจุดจากหน่วยงานกลาง
“แต่ก่อนรัฐต้องอุดหนุนเงินกับพลังงานหมุนเวียน ตอนนี้ไม่ต้อง เพียงแต่ปลดล็อกให้เขาประกอบธุรกิจได้ สุดท้ายขยับช้า เขาก็ออกไปเวียดนามแทน”
อ.กิริยา ระบุว่า ข้อกังวลเหล่านี้จะถูกคลี่คลายไปได้ ก็ต่อเมื่อ “เปิดการเจรจาบนโต๊ะ” เพื่อไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ให้ครอบคลุม ซึ่งที่ผ่านมารัฐมักมองว่าผู้ประกอบการเป็นตัวแทนของแรงงาน ซึ่งไม่ถูกต้องนัก
ขณะเดียวกัน การใส่ใจความหลากหลายขององค์ประชุมบนโต๊ะในฝากฝั่งแรงงานก็สำคัญ เพราะแต่ละกลุ่มก็มักมีข้อกังวลที่อยากสะท้อนต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นประเภทแรงงาน เพศสภาพ ตลอดจนถึงเชื้อชาติสัญชาติ
ทั้งหมดนี้ รัฐสามารถใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์ ทั้งกลไกราคา กลไกภาษี และอื่น ๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องทำลายตลาดในภาพรวมเลย
“แทรกแซงอย่างเป็นธรรมโดยไม่ขัดกลไกตลาดมันทำได้” อ. กิริยาทิ้งท้าย
SDG Insights ฉบับนี้เป็นบทความชิ้นที่ 3 ในชุดข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition) สนับสนุนโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ประเทศไทย เป็นชุดความรู้ที่มิเพียงแค่นำเสนอประเด็นการขับเคลื่อนการใช้พลังงานหมุนเวียนพลังงานสะอาดในมิติเชิงการลดผลกระทบต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่เน้นไปที่มิติความยั่งยืนอันรวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านเชิงนิเวศสังคม (socio-ecological transition) ที่คำนึงถึงการได้รับความเคารพในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และกระทั่งสิทธิของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตอื่นที่จะได้รับผลกระทบทั้งระหว่างและหลังการเปลี่ยนแปลงด้วย นอกจากนี้ จะมีการยกบทสนทนาเกี่ยวกับแนวคิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยั่งยืนในเชิงเปรียบเทียบให้เห็นบริบทปัญหาของประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาที่มีลักษณะปัญหาแตกต่างกันอยู่มาก และระหว่างกรณีในประเทศและกรณีระดับภูมิภาคที่มีระดับความซับซ้อนขึ้นไป ตลอดจนบทสัมภาษณ์จากหลากมุมมองผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับที่มาที่ไปของแนวคิดดังกล่าว ซึ่งจะมีการเผยแพร่ทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2564
ประเด็น Just Energy Transition ในบทความชิ้นนี้เกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสมัยใหม่ ในด้านหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ และเชื่อถือได้ ภายในปี 2573 (7.1) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573 (7.2) และการสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573 (7.a)
.
ซึ่งเกี่ยวพันกับการรับมือและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตาม #SDG13 โดยเฉพาะที่การหันมาใช้พลังงานสะอาด เป็นหนึ่งก้าวที่สะท้อนการตระหนักรู้และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า (13.3)
.
โดยคำนึงถึง #SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่มีคุณค่า โดยทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรมีความยั่งยืนตามบริบทของประเทศ (8.1) การยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการมุ่งเน้นในภาคส่วนที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและใช้แรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ (8.2) ส่งเสริมโอกาสงานที่มีคุณค่าและเท่าเทียมสำหรับทุกคน (8.5) และการปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงแรงงานต่างด้าว (8.8)
.
ขณะเดียวกับที่ตระหนักถึงปัญหาความยากจนและชนชายขอบตาม #SDG1 โดยจะต้องเน้นการมีมาตรการคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง (1.3)
.
ทั้งนี้ ก็ด้วยอาศัยองค์ประกอบสำคัญอย่าง #SDG16 สังคมสงบสุข เข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมสำหรับทุกคน (16.3) สถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดรับชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ (16.6) และการมีกระบวนการตัดสินใจที่ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ (16.7)