รายงาน ‘Mental Health Atlas 2020‘ ขององค์การอนามัยโลกฉบับล่าสุด เผยให้เห็นความล้มเหลวบางประการของบริการสุขภาพจิตทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่การระบาดของโควิด-19 ที่ผู้คนต้องการการดูแลทางด้านจิตใจมากขึ้นและเร่งด่วนขึ้น แต่การลงทุนเพื่อพัฒนาบริการด้านสุขภาพจิตทั่วโลกยังคงไม่มากพอ
Mental Health Atlas หรือ แผนที่ทรัพยากรด้านสุขภาพจิตระดับโลก คือ รายงานที่ฉายภาพสถานการณ์ปัจจุบันของระบบสุขภาพจิตทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อให้ข้อมูล/สถิติด้านบริการสุขภาพจิต นโยบายด้านสุขภาพจิต กฎหมาย การจัดสรรเงินทุนงบประมาณ ทรัพยากรบุคคล และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดทำขึ้นทุก ๆ 3 ปี โดยฉบับล่าสุดนี้มีได้รวบรวมข้อมูลของประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก 171 ประเทศ (จากทั้งหมด 194 ประเทศ/รัฐ) มีข้อค้นพบที่สำคัญ ระบุว่า ทั่วโลกให้ความสนใจกับประเด็นเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่การบริการด้านสุขภาพจิตยังขยายตัวไม่ครอบคลุมและเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน
เมื่อพิจารณาเฉพาะสัดส่วนงบประมาณเงินทุนที่ใช้จ่ายเพื่อพัฒนางานด้านบริการสุขภาพจิต จากข้อมูลพบว่ารายจ่ายสาธารณะ (public expenditure) ด้านสุขภาพจิตแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และถือว่าอยู่ในระดับต่ำ เนื่องค่าเฉลี่ยระดับโลกของรายจ่ายของรัฐด้านสุขภาพจิตยังคงที่อยู่ที่ประมาณ 2% ของรายจ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดของรัฐบาล และต่ำลงไปกว่านี้ในกลุ่มประเทศรายได้น้อยและปานกลาง
นอกจากนี้ แม้จะมีถึง 80% ของประเทศที่มีการรวบรวมข้อมูลในเอกสารนี้ รายงานว่าการดูแลและรักษาผู้ที่มีภาวะเจ็บป่วยด้านสุขภาพจิตขั้นรุนแรงนั้นครอบคลุมในระบบประกันสุขภาพของชาติหรือระบบการเบิกจ่ายค่ารักษาคืนและในประกันของบริษัทเอกชนสำหรับบริการสุขภาพจิตผู้ป่วยใน/ผู้ป่วยนอก แต่อุปสรรคใหญ่อีกประการในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิต คือสัดส่วนของบุคลากรด้านสุขภาพจิตที่มีความเหลื่อมล้ำอย่างเห็นได้ชัดระหว่างกลุ่มประเทศแต่ละระดับรายได้ โดยจำนวนบุคลากรด้านสุขภาพจิตเฉลี่ยระดับโลกอยู่ที่ 13 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ประเทศรายได้น้อย อยู่ที่น้อยกว่า 2 คนต่อประชากร 100,000 คน แต่มีถึงมากกว่า 60 คนต่อประชากร 100,000 คนในประเทศรายได้สูง
เอกสาร Mental Health Atlas 2020 เผยแพร่เมื่อตุลาคม 2021 อ้างอิงจากข้อมูลระดับชาติของปี 2019 เพื่อเป็นแนวทางสำหรับแต่ประเทศในการพัฒนาและวางแผนการบริการด้านสุขภาพจิตให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมยิ่งขึ้น
อ่านข้อค้นพบอื่น ๆ ของรายงาน ‘Mental Health Atlas 2020’ ที่นี่
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
- (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
- (3.c) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
ที่มา :
WHO report highlights global shortfall in investment in mental health (WHO)
WHO Atlas Sets Benchmarks for 2030 Targets on Mental Health (SDG Knowledge Hub)