Site icon SDG Move

SDG Insights | เราจะอยู่อย่างไรใน ‘ภาวะน้ำท่วม’ และ ‘โควิด-19’ : การปรับตัวและการเรียนรู้

อ.ดร.ลดาวัลย์ ไข่คำ

ปัจจุบันนี้ ภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะ “อุทกภัย” เป็นภัยที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดและสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อสภาพแวดล้อมทั้งในชุมชนและเมือง ถึงแม้ว่าขณะนี้ (ตุลาคม 2021) บริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยกำลังประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่อีกปีหนึ่ง  ทว่าการเกิดน้ำท่วมนั้นเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำ กระแสน้ำที่มาจากแม่น้ำเจ้าพระยาเหล่านี้นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมต่อการทำการเกษตร เราจึงเห็นหลาย ๆ เมืองที่สำคัญ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทย มีที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำสายหลัก ด้วยเหตุผลที่สำคัญเพื่อการหล่อเลี้ยงชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน 


การปรับตัว : น้ำท่วมเป็นวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำ

ตามประวัติศาสตร์ ชุมชนริมน้ำเจ้าพระยามักเผชิญกับน้ำท่วมใหญ่ในทุก ๆ 15–20 ปีเป็นปกติ ประชาชนที่อาศัยในเกาะรัตนโกสินทร์เองมีการปรับตัวตลอดมาเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีดำริให้ขุดคลองขึ้นหลายเส้นทาง เพี่อใช้เป็นแหล่งอุปโภค บริโภคในช่วงน้ำแล้ง เป็นเส้นทางระบายน้ำในฤดูฝน เพื่อป้องกันน้ำทะเลหนุน และยังใช้เป็นเส้นทางการคมนาคมขนส่งอีกด้วย (Bowring, 1857) ด้วยเหตุนี้ผู้คนที่อาศัยอยู่ริมน้ำจึงต่างคุ้นชินกับน้ำท่วมที่มาตามฤดูกาล ซึ่งถือว่าเป็นวงจรของระบบนิเวศในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ภูมิปัญญาท้องถิ่นจึงสะท้อนออกมาผ่านรูปแบบบ้านทรงไทยยกสูงเพื่อให้สอดรับกับสภาพพื้นที่ที่น้ำมักจะท่วมในฤดูน้ำหลาก นอกจากนี้น้ำที่ไหลมาในแต่ละครั้งที่นำพามาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ บริเวณดังกล่าวจึงมีความเหมาะสมในการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะการเพาะปลูกข้าว ซึ่งเป็นอาชีพหลักของผู้คนในพื้นที่บริเวณนี้ 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการเติบโตของจำนวนประชากรและการขยายตัวเมืองอย่างไม่มีการวางผังเมืองให้รอบคอบ ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม จำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นและการกลายเป็นเมือง (Urbanization) ส่งผลกระทบต่อการใช้ที่ดิน พื้นที่ทางการเกษตรของกรุงเทพฯ และจังหวัดข้างเคียงถูกทำให้กลายเป็นที่ดินในเขตเมืองทั้งหมดโดยที่ไม่มีการวางผังเมืองที่ดีทำให้ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเกิดน้ำท่วมในระดับที่รุนแรง บ้านไม้และคลองประปาในอดีตถูกแทนที่ด้วยสิ่งก่อสร้างด้วยคอนกรีตและเหล็กที่มีน้ำหนักมากภายในระยะเวลาเพียง 30 ปี ซึ่งได้กีดขวางช่องทางระบายน้ำที่สร้างขึ้นหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 1983 ผลที่ตามมาก็คือ ที่ราบลุ่มแม่น้ำกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรงกว่าในอดีต (Bangkok Post, 2011; Engkagul, 1993)

 นอกจากนี้ การเติบโตของประชากรมาพร้อมกับความต้องการใช้ทรัพยากรน้ำเป็นจำนวนมาก น้ำประปาที่รัฐบาลผลิตและจัดหาให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ จึงมีการขุดเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้เป็นวงกว้าง ทำให้แผ่นดินในหลายพื้นที่ทรุดตัวลง เช่น ในปัจจุบันกรุงเทพฯ มีความสูงเพียง 1.5 เมตรจากระดับน้ำทะเล ทำให้มีความเสี่ยงในการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่เรียกว่า “กระบวนการหายไปของพื้นที่ที่สามารถอาศัยอยู่ได้” (“the process of living space disappearing”) ภายในระยะเวลา 15 ปี (Promchertchoo, 2017) จากน้ำทะเลหนุน ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งในเวียดนามใต้ เซี่ยงไฮ้ มุมไบ หรือ อเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ (Lu & Flavelle, 2019) ดังนั้น กรุงเทพฯ จึงไม่เพียงแต่มีความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมเท่านั้น แต่ยังเกิดน้ำท่วมขังที่กินระยะเวลานาน ประกอบกับการทรุดตัวลงของแผ่นดินทุกปี ดังนั้น ภาวะน้ำท่วมในประเทศไทยจึงทวีความรุนแรงและกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง

ภาพที่ 1 : กรุงเทพกำลังจะจมน้ำ
ที่มา: (ASEAN Post, 2019)

การปรับตัว (Adaptation) ต่อภัยพิบัติ

โดยทั่วไปแล้ว สิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (Socio-ecological systems) มีการตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ แต่การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ (Climate change) ได้นำพาความท้าทายใหม่มาสู่มนุษยชาติ โดยเฉพาะการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีรูปแบบที่ชัดเจนแน่นอน แต่มีผลกระทบอันกว้างขวาง หนังสือของ Mark Pelling ชื่อ Adaptation to Climate Change: From resilience to transformation (2010) ได้ระบุถึงคุณลักษณะของการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตไว้สองลักษณะ คุณลักษณะแรกคือ การปรับตัวในฐานะที่มองย้อนกลับไป (Adaptation as backward looking action) ซึ่งก็คือ “ความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ในช่วงเวลาที่กดดัน หรือช็อก” (Pelling, 2010, p. 15) อันหมายถึง การที่สิ่งมีชีวิตปรับตัวภายหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เพิ่งเกิดขึ้น และนำไปสู่การปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อที่จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ คุณลักษณะที่สองคือ การปรับตัวในฐานะที่มองไปข้างหน้า (Adaptation as forward looking action) ซึ่งหมายถึงความสามารถของสิ่งมีชีวิตที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่เหมาะสม เพื่อการดำรงอยู่ของชีวิตต่อไปในระยะยาว ในงานของเขา Pelling ให้ความสำคัญกับคุณลักษณะที่สองมากเป็นพิเศษ เพราะการปรับตัวในลักษณะนี้ “มีความเป็นไปได้ที่จะเข้าไปแทรกแซง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายในด้านการพัฒนา และนำไปสู่การปฏิบัติที่มีความก้าวหน้าเพื่อลดความเสี่ยงอย่างเป็นรูปธรรม” (Pelling, 2010, p. 15)  Pelling กล่าวว่า:

” Where transitional adaptation is concerned with those actions that seek to exercise or claim rights existing within a regime, but that may not be routinely honoured (for example, the active participation of local actors in decision-making), transformational adaptation describes those actions that can result in the over-turning of established rights systems and the imposition of new regimes.” (Pelling, 2010, p. 15)  


การเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉม (Transformation) ต่อภาวะภัยพิบัติ

Pelling ได้ให้ความหมายของการปรับตัว (adaptation) เข้ากับการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉม (transformation) โดยความคิดนี้สอดคล้องกับทฤษฎีสัญญาประชาคม (The social contract theory) ซึ่งระบุว่า “สังคมที่ยุติธรรม” (A just society) คือ สังคมที่อำนาจมีไว้เพื่อรับผิดชอบต่อความสามารถที่จะปกป้องหลักการและเห็นพ้องต้องกันกับสิทธิพลเมือง” (Pelling, 2010, p. 122) อันหมายความว่า อำนาจของรัฐที่ยืนอยู่บนรากฐานของหลักสัญญาประชาคมมีไว้เพื่อปกป้องหลักการและสิทธิของพลเมืองในสังคมนั้น Pelling จึงเสนอว่า แนวความคิดสัญญาประชาคมสามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์ความชอบธรรมในการจัดการกับวิกฤตการณ์ ซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์ในอนาคต และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองได้

ภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการปรับตัวและนำไปสู่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น การระบาดของ COVID-19 ปรากฏการณ์ Polar Vortex หรือ ลมวนขั้วโลกที่ทำให้อากาศหนาวที่สุดในสหรัฐอเมริกาและภูมิภาคเอเชียตะวันออก เหตุการณ์แผ่นดินไหว ไฟป่า และภูเขาไฟปะทุในสเปน น้ำท่วมในออสเตรเลีย เบลเยียม เยอรมนี ลักแซมเบิร์ก อินเดีย จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย (Greenpeace Thailand, 2021) สร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกได้เกิดขึ้นทั้งในระดับชุมชน รัฐ-ชาติ และภูมิภาคหลายพื้นที่  เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้เราเห็นการปรับตัวของรัฐบาลและชุมชนต่าง ๆ ทั่วโลกที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและนโยบายในระดับต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม

กรณีการจัดการภัยพิบัติอุทกภัยในประเทศไทยได้แสดงให้เห็นพลวัติในการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉมของสังคม โดยสังเกตได้จากการใช้ต้นทุนทางสังคม การจัดการกับข้อมูลข่าวสาร และการเรียนรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติน้ำท่วมในระดับท้องถิ่น แต่ในระยะยาวนั้นรัฐบาลต้องทบทวนแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้ได้อย่างจริงจัง สร้างสรรค์และยั่งยืน เพื่อลดความรุนแรงและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอุทกภัยที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นบ่อยมากขึ้นในอนาคต


การปรับตัวของประชาชนในภาวะน้ำท่วม

บ่อยครั้งเมื่อประเทศไทยเผชิญกับภาวะวิกฤต คนไทยทั่วไปโดยเฉพาะในภาคเอกชนจะออกโครงการรณรงค์เพื่อให้ความรู้ในการรับมือกับวิกฤตนั้น ๆ ในกรณีอุทกภัยก็เช่นกัน มีการณรงค์ให้ความรู้พื้นฐานมากมายตั้งแต่การรักษาบ้านเรือนให้ปลอดภัยจากน้ำท่วม ไปจนถึงวิธีการดูแลรักษาสุขภาพของตนเองในขณะน้ำท่วม นอกจากนี้ยังมีการให้ความรู้และข้อควรระวัง เช่น การทำความสะอาดที่อยู่อาศัยและสิ่งก่อสร้างภายหลังน้ำลด

ชาวไทยได้เรียนรู้จากอุทกภัยและภัยพิบัติ โดยเฉพาะเหตุการณ์น้ำท่วมปี ’54 (2011) ที่ผู้คนเข้าไปพึ่งพา “ทุนทางสังคม” (Social capital) ซึ่งหมายถึงผลประโยชน์หรือต้นทุนส่วนรวมที่มาจากการช่วยเหลือ มีการร่วมมือกันระหว่างบุคคล และระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมหรือในชุมชน และมีการใช้ทรัพยากรในชุมชน (Adger, 2003) รวมถึงการเรียนรู้ทางสังคมมากกว่าการพึ่งพิงรัฐบาล ตามที่ Pelling ได้กล่าวไว้ การเรียนรู้ทางสังคม หมายถึง “ความสามารถและกระบวนการ ผ่านค่านิยม ความคิด และการปฏิบัติใหม่ ที่ถูกนำไปเผยแพร่และมีการรับรู้แก่สาธารณะชน จนได้กลายเป็นกระบวนการที่ครอบงำในสังคมนั้น หรือการกลายเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรหรือชุมชนท้องถิ่น” (Pelling, 2010, p. 87) การเรียนรู้ทางสังคมเป็นทุนทรัพย์ของกลุ่มสังคม สำหรับ Pelling แล้วการปรับตัวเชิงเปลี่ยนแปลง (transformative adaptation) นั้นก่อร่างสร้างตัวผ่านค่านิยมที่หลากหลายและการรวมตัวกันของแต่ละปัจเจกผ่านการเรียนรู้ทางสังคม โดยปัจเจกแต่ละคนก็มีความเชื่อส่วนบุคคลและการหล่อหลอมผ่านวัฒนธรรม ดังนั้น ทุนทางสังคมและการเรียนรู้จึงมีบทบาทสำคัญมากในการก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉมในเชิงสังคมได้ (social transformation)

ตามหลักสากล รัฐเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการแจ้งเตือนภัยพิบัติแก่ประชาชน เพราะรัฐเป็นผู้เก็บรวบรวมและถือข้อมูลไว้อย่างเป็นระบบ และสามารถประเมินความเสี่ยงจากภัยพิบัติได้ (UN, 2018) ข่าวสารต่าง ๆ และการประกาศแจ้งเตือนอาจมาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น สถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ที่ตามติดรายงานสถานการณ์ภัยพิบัติ และแหล่งข่าวในพื้นที่ที่เชื่อถือได้จากสื่อโซเชียล เช่น Facebook หรือ Twitter เป็นต้น ระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System: EWS) มีประโยชน์และจะช่วยชีวิตผู้คนได้มาก เพราะประชาชนสามารถประเมินสถานการณ์ได้ว่าเหลือเวลาอีกมากน้อยเพียงใดในการตัดสินใจอพยพ รัฐจะต้องประกาศให้ประชาชนอพยพให้ทันท่วงทีเมื่อสถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น โดยรัฐต้องเตรียมการและจัดหาสถานที่เพื่อรองรับการอพยพอย่างรอบด้าน เช่น มีการจัดการเคลื่อนย้ายที่มีอุปสรรคน้อยที่สุด มีศูนย์อพยพที่ปลอดภัย มีอาหาร น้ำ และยารักษาโรคที่เพียงพอกับจำนวนผู้อพยพ เป็นต้น

เมื่อมีการเตือนภัยในการรับมือกับวิกฤต ทุนทางสังคมมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในการปรับตัวและการเอาตัวรอด

ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ชาวไทยทั่วประเทศได้รับผลกระทบในด้านเศรษฐกิจ สังคม และด้านอารมณ์ความรู้สึก เมื่อถึงฤดูฝนชาวไทยจำนวนมากโดยเฉพาะคนจนถูกตอกย้ำความเดือดร้อนทางด้านกายภาพ สุขภาพ และความรู้สึก นอกจากนั้น ยังคงมีการแย่งชิง ต่อสู้กันในประเด็นเรื่องวัคซีน และความขัดแย้งในระบายน้ำหลายกรณี เช่น ชาวบ้านในอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมตัวร้องให้เปิดประตูระบายน้ำบางกุ้ง โครงการบำรุงรักษาและส่งน้ำมหาราชเพิ่ม เพราะทนรับน้ำที่ล้นทะลักเข้าหมู่บ้านตนเองไม่ไหว จนทำให้คันกั้นดินพังทลายในที่สุด (World Bank, 2013; ผู้จัดการออนไลน์, 2564)

ในทางกลับกัน ประชาชนในชุมชนที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมากมีความเต็มใจที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลและทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับสถานการณ์วิกฤตได้ดีกว่า ในช่วงอุทกภัยปี’54 เราพบว่ามีผู้ประสบภัย 3 กลุ่มหลัก ๆ กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่สามารถปรับตัวให้อยู่ได้ในภาวะน้ำท่วม จึงไม่อพยพออกจากพื้นที่ พวกเขาสามารถเอาตัวรอดจากน้ำหลากในภาคกลางของประเทศซึ่งเป็นน้ำท่วมประจำปี เช่น ในเขตพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ชาวบ้านในชุมชนไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี มีอัตลักษณ์ร่วมกันในฐานะที่เป็นแรงงานย้ายถิ่นมาจากภาคเหนือเหมือนกัน ทำให้สามารถร่วมมือกันทำงานได้ บางชุมชนรับมือกับน้ำท่วมสูงถึงสามเมตรได้ด้วยเครื่องมือที่หาได้ง่ายในชุมชนเอง พวกเขาจัดตั้งกลุ่มเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์อุทกภัยและการฟื้นฟูหลังน้ำลด (Aldrich, 2017) แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านสามารถพึ่งพาทุนทางสังคมที่สามารถให้ความช่วยเหลือขั้นพื้นฐานแก่สมาชิกและญาติพี่น้องที่อยู่ใกล้ และอยู่ห่างไกลได้ เช่น ความช่วยเหลือในด้านการเงิน และสิ่งของต่าง ๆ ที่หาได้ง่ายในชุมชนของตนเอง  

กลุ่มที่สองคือ คนชนชั้นกลางมีฐานะมากพอที่จะรับมือกับอุทกภัยได้เอง คนกลุ่มนี้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิดและตลอดเวลา เช่น ชาวบ้านในชุมชนหมู่บ้านเมืองเอก จังหวัดปทุมธานีที่ต่างช่วยกันจัดหาทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าท่วมหมู่บ้าน พวกเขาได้สร้างกำแพงกั้นน้ำในเวลาอันจำกัด ซื้อและติดตั้งปั๊มน้ำขนาดเล็กรอบ ๆ หมู่บ้าน และช่วยกันระดมทุนซื้อและทำกระสอบทรายใช้เอง เมื่อน้ำเข้าท่วมหมู่บ้าน ระดับน้ำสูงถึง 2.5 เมตรและน้ำท่วมขังนานถึง 2 เดือน พวกเขาช่วยกันจัดส่งอาหาร น้ำสะอาด ยารักษาพยาบาลและแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้านที่ตัดสินใจไม่อพยพ นี่คือหนึ่งในตัวอย่างของชุมชนชนชั้นกลางที่สามารถปกป้องตัวเองและให้ความช่วยเหลือเพื่อนบ้านได้

กลุ่มที่สาม กลุ่มสุดท้ายคือชาวบ้านที่ไม่ยอมอพยพมาอยู่ในศูนย์อพยพ ด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ  เช่น เหตุผลทางสังคมหรือทางเศรษฐกิจ และพวกเขาก็ไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะย้ายไปอยู่ในพื้นที่ที่ดีกว่า ชาวบ้านกลุ่มนี้ต้องพึ่งพาอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่นอย่างมากในช่วงคับขัน (Sophonpanich, 2012) ตัวอย่างเช่น ในชุมชนคนจนเมือง (Urban poor) ชาวบ้านจะต้องทำกระสอบทรายเอง ต้องหยิบยืมปั๊มน้ำมาจากหมู่บ้านข้างเคียง และต้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้าน หรือผู้อื่นเพื่อขนย้ายข้าวของขึ้นสู่ที่สูง ในบางกรณี ผู้ประสบภัยจำนวนหนึ่งร่วมมือกันเป็นชุมชนเล็ก ๆ เพื่อจัดตั้งหน่วยลาดตระเวนเพื่อปกป้องและรักษาทรัพย์สินของตนเองและเพื่อนบ้านที่อพยพออกไปแล้ว และยังแจกจ่ายความช่วยเหลือไปให้ชาวบ้านที่เปราะบางและไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในสถานการณ์น้ำท่วมได้

จากสถานการณ์อุทกภัยร้ายแรงในสถานการณ์โรคระบาด ทำให้คนไทยฝากความหวังและความช่วยเหลือไว้กับรัฐบาลได้ไม่มากนัก กลางปี 2021 รัฐบาลไทยนำเข้าวัคซีน 3 ยี่ห้อ ได้แก่ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค และซิโนฟาร์ม แต่ไม่สามารถทำให้อัตราการเสียชีวิตและอัตราการเกิดอาการรุนแรงของผู้ติดเชื้อ COVID-19 ลดลงได้รวดเร็วพอ (BBC News ไทย, 2021) ส่งผลให้ความไว้วางใจในการทำงานรัฐบาลลดลง ประกอบกับคุณภาพของวัคซีนที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความยุ่งยากในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียง เด็ก และกลุ่มผู้เปราะบาง เนื่องจากการถูกจำกัดการเดินทาง การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) และเจ้าหน้าที่เกรงว่าจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสจากการแจกจ่ายถุงยังชีพ คนในชุมชนจึงต้องพึ่งพาตนเองหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะชาวบ้านและคนจนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและทันท่วงที

ขณะเดียวกัน สื่อโซเชียลกลับมีบทบาทสำคัญในภาวะวิกฤต คนไทยใช้สื่อสังคมออนไลน์มากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยเฉพาะการส่งข้อความสั้น (mobile-phone texting) การใช้ Facebook, YouTube และ Twitter ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการเปิดโปงการทำงานของรัฐบาลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 การบริหารจัดการการฉีดวัคซีน รวมถึงสถานการณ์น้ำในหลายพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที รูปแบบการใช้งานของ Twitter ทำให้คนธรรมดากลายเป็นนักข่าวประชาชนที่สามารถรายงานข้อมูลข่าวสารได้ในทันทีผ่านระบบอินเทอร์เน็ต การศึกษาของ Kongthon และคณะ (2012) แบ่งข้อความเกี่ยวกับน้ำท่วมใน Twitter ออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ การประกาศสถานการณ์ การเตือนภัย การประกาศซ้ำ การขอข้อมูล และการขอความช่วยเหลือ โดยข้อความ เช่น #น้ำท่วม และ #Thaiflood กลายเป็น Hashtag ที่ขึ้นอันดับต้น ๆ ของเทรนด์ประเทศในช่วงเวลาหนึ่ง (Jitkajornwanich et al., 2018; Kongthon, Haruechaiyasak, Pailai, & Kongyoung, 2012)  

เราจึงเห็นว่าชุมชนทั้งในชนบทและในเมืองต่างก็อาศัยทุนทางสังคมเพื่อต้องการให้ก้าวข้ามวิกฤตไปด้วยกันทั้งสิ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลกลับรวมอำนาจการบริหารจัดการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และการจัดการวัคซีนไว้เอง รัฐบาลท้องถิ่น ชุมชนและประชาชนจึงไม่มีส่วนร่วมในการรับมือกับโรคระบาดได้ มูลค่าความล้มเหลวในการจัดการวัคซีนที่ผิดพลาดจึงสูงมาก อีกด้านหนึ่งชาวบ้านในชุมชนที่ประสบอุทกภัยต่างต้องช่วยเหลือกันเอง พวกเขาต่างร่วมมือกันเพื่อที่จะผ่านวิกฤตน้ำท่วมไปด้วยกัน และมีการเตรียมตัวเพื่อรับมือเพื่อบรรเทาภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย เช่น หลังเหตุการณ์น้ำท่วมปี’ 54 ชาวบ้านต่างทำงานร่วมกันเพื่อสร้าง “ชุมชนที่ยืดหยุ่น (Resilience of communities) กับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” (World Bank, 2015) พวกเขาช่วยกันซ่อมแซม และสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ ทำความสะอาดถนน ปรับปรุงระบบระบายน้ำ และติดตั้งสถานีสูบน้ำตามจุดต่าง ๆ ชุมชนหลายแห่งให้ความสำคัญและเตรียมระบบการเตือนภัยล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคาดหวังว่าการพัฒนาเช่นนี้จะช่วยให้ชุมชนจัดการและรับมือกับความเสี่ยงต่อภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

แม้เราจะพบว่าชุมชนเมืองจะมีความเปราะบางมากกว่าชุมชนในชนบท เพราะความร่วมมือระหว่างชาวบ้านในชุมชนเมืองมีความจำกัดและไม่ค่อยต่อเนื่อง ในสถานการณ์วิกฤต กลับทำให้เราเห็นว่า ชุมชนเมืองที่มีรายได้น้อยกลับสามารถพึ่งพาตนเองได้มากกว่าการพึ่งพาภาครัฐ


ความยืดหยุ่นจากอุทกภัย (Flood Resilience) เพื่อรับมือภัยพิบัติในอนาคต

สถานการณ์น้ำท่วมที่ทับซ้อนกับโรคระบาด COVID-19 เผยให้เห็นความเปราะบางของสังคมและกระบวนการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม ทำให้รัฐต้องพิจารณา “ความยืดหยุ่นจากอุทกภัย” (Flood Resilience) ให้มากขึ้น ความยืดหยุ่นจากอุทกภัย หมายถึง การลดความความเสียหายในช่วงเวลาที่เกิดอุทกภัย มีพื้นที่เพียงพอสำหรับรองรับน้ำท่วม และการปรับตัวของแม่น้ำที่จะเกิดขึ้น ส่งผลให้ผู้คนและโครงสร้างพื้นฐานมีความเสี่ยงน้อยลง รวมทั้งลดความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วม ทำให้การฟื้นตัวมีราคาไม่สูง และช่วยให้ผู้คนกลับมายืนได้เร็วกว่าเหตุการณ์น้ำท่วมในอดีต ทรัพยากรน้ำไม่ได้รับผลกระทบในทางลบ สามารถฟื้นฟูได้ด้วยตัวเอง ความยืดหยุ่นจากอุทกภัยและแผนการรับมือน้ำท่วมเป็นแนวทางในการตั้งรับ และช่วยเหลือผู้คน และชุมชนให้อยู่ร่วมกับน้ำท่วมได้ (Lee & Kim, 2017)

การรับมือเพื่อให้อยู่กับภาวะน้ำท่วมได้นั้นจำเป็นจะต้องปรับตัวใน 4 ระดับ ได้แก่ ระดับปัจเจก ชุมชน สถาบัน และสิ่งแวดล้อม และการปรับตัวจะเป็นรากฐานที่สำคัญต่อความยืดหยุ่น (Resilience) ที่จะช่วยเตรียมชุมชนและเมืองให้พร้อมรับน้ำท่วม สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับมวลน้ำมหาศาล เพื่อลดความเปราะบาง ลดความเสียหาย และรับมือภัยพิบัติในครั้งถัดไปได้


สรุป: มองไปข้างหน้า (Forward Looking Action)

เมื่อน้ำลด รัฐบาลต้องคำนึงถึงมาตรการระยะสั้นในการฟื้นฟู ต้องสื่อสารข้อมูลกับผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็ว การรู้จักจัดสรรทรัพยากรในการฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพให้กลับคืนสู่ชุมชนและผู้ประสบภัย มีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ช่วยให้ผู้ประสบภัยเข้าใจมาตรการบรรเทาทุกข์ที่จำเป็น การซ่อมแซมหรือการสร้างใหม่ มีโปรแกรมประเภทต่าง ๆ ในการช่วยเหลือ เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถกลับมายืนได้ด้วยตนเองให้เร็วที่สุด

สำหรับโครงการระยะยาว รัฐบาลต้องทบทวนแผนการฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพของประเทศไทยและทบทวนระบบโครงสร้างพื้นฐาน สร้างความเข้มแข็ง และเพิ่มความยืดหยุ่นต่อการรับมือกับภัยพิบัติให้แก่ชุมชนและประเทศ คำนึงถึงศักยภาพของ “วัฒนธรรมริมน้ำ” ภูมิปัญญาท้องถิ่น มีการใช้นวัตกรรมเสริมโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เช่น “Delta Works” ในประเทศเนเธอแลนด์ เปลี่ยนแนวคิดและระบบเมืองให้เป็นเมืองฟองน้ำ (Sponge City) เช่นในประเทศจีนที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันน้ำได้ พร้อม ๆ กับการมองไปข้างหน้าเมื่อโลกกำลังเข้าสู่ยุคหลังโรคระบาด (Post-Covid World) ที่การระบาดใหญ่ของ COVID-19 ได้เปลี่ยนแปลงทุกมิติของชีวิตมนุษย์ ทั้งการงาน เศรษฐกิจ และการเมืองของทั้งโลกไปเรียบร้อยแล้ว โครงการระยะยาวต้องให้ความสำคัญกับองค์ประกอบทางสังคม สถาบัน และเศรษฐกิจในการบริหารความเสี่ยงจากอุทกภัย กฎระเบียบที่หลากหลาย สถาบัน การวางผังเมือง การออกแบบสถาปัตยกรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นต้น ดัชนีความยืดหยุ่นจากน้ำท่วม (A Flood Resilience Index: FRI) และกลยุทธ์การจัดการความเสี่ยงจากอุทกภัย (Flood risk management: FRM) เป็นเครื่องมือเริ่มต้นที่ดีสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ และการยอมรับแนวคิด “ความยืดหยุ่น” ที่คำนึงเสมอว่า ชุมชนและเมืองกำลังเคลื่อนไปสู่ความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา (Gourbesville & Batica, 2014) สิ่งเหล่านี้จะทำให้รัฐสามารถประเมินความเสี่ยงระดับมหภาคที่เอื้อต่อความยืดหยุ่นในระดับที่สูง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ออุทกภัย เช่น พื้นที่ลุ่มแม่น้ำทั่วประเทศได้

การปรับตัวและการเรียนรู้จากภาวะน้ำท่วมและโควิด-19 เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goal: SDGs ดังนี้
○ SDG 3.9 ที่พยายามลดจำนวนผู้เสียชีวิตและเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและมลพิษทางอากาศน้ำและดิน และการปนเปื้อนให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2030
○ SDG 6.4 ที่เน้นการสร้างหลักประกันว่าทุกคนจะสามารถมีการใช้น้ำและจัดหาน้ำที่ยั่งยืนในทุกช่วงเวลา และ SDG 6.6 ปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำ
○ SDG 9.1 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ ยั่งยืนและมีความแข็งแรง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ทุกคน
○ SDG 11.5 เรื่องเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน ที่พยายามลดจำนวนการตายและคนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางน้ำและการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากภัยพิบัติ
○ SDG 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ


เนตรธิดาร์ บุนนาค – พิสูจน์อักษร


บรรณานุกรม

Adger, W. N. (2003). Social Capital, Collective Action, and Adaptation to Climate Change. Economic Geography79(4), 387–404.

Aldrich, D. (2017). The Importance of Social Capital in Building Community Resilience. In Rethinking Resilience, Adaptation and Transformation in a Time of Change (pp. 357–364). https://doi.org/10.1007/978-3-319-50171-0_23

ASEAN Post. (2019). Bangkok Is Sinking Fast. Retrieved February 3, 2021, from The ASEAN Post website: https://theaseanpost.com/article/bangkok-sinking-fast

Bangkok Post. (2011, November 1). Bangkok’s drainage system. Bangkok Post. Retrieved from https://www.bangkokpost.com/learning/advanced/264228/bangkok-drainage-system

Bangkok Post. (2020, February 8). Thailand tackles worst drought in 40 years. Bangkok Post. Retrieved from https://www.bangkokpost.com/business/1853069/nation-tackles-worst-drought-in-40-years

BBC News ไทย. (2021). แอสตร้าเซนเนก้าส่งวัคซีนให้ไทยครบ 61 ล้านโดส พ.ค. 65 ไม่ใช่ปีนี้. BBC News ไทย. Retrieved from https://www.bbc.com/thai/thailand-57846643

Bowring, J. (1857). The Kingdom and People of Siam. London: Savill and Edwards.

Engkagul, S. (1993). Flooding features in Bangkok and vicinity: Geographical approach: International Symposium on flood disaster reduction in South-East AsiaGeoProdig, geographic information portal. GeoJournal30(4).

Gourbesville, P., & Batica, J. (2014, August 10). Flood Resilience Index—Methodology And Application. Presented at the 11th International Conference on Hydroinformatics HIC, New York City.

Greenpeace Thailand. (2021, August 6). สรุปสถานการณ์สภาพภูมิอากาศ “เรากำลังมาถึงจุดวิกฤต.” Retrieved October 4, 2021, from Greenpeace Thailand website: https://www.greenpeace.org/thailand/story/20480/climate-crisis-wrap-up-mid-year-2021

Jitkajornwanich, K., Kongthong, C., Khongsoontornjaroen, N., Kaiyasuan, J., Lawawirojwong, S., Srestasathiern, P., … Vateekul, P. (2018). Utilizing Twitter Data for Early Flood Warning in Thailand. 2018 IEEE International Conference on Big Data (Big Data), 5165–5169. https://doi.org/10.1109/BigData.2018.8621961

Kongthon, A., Haruechaiyasak, C., Pailai, J., & Kongyoung, S. (2012). The role of Twitter during a natural disaster: Case study of 2011 Thai Flood. 2012 Proceedings of PICMET ’12: Technology Management for Emerging Technologies, 2227–2232.

Kongthon, Alisa, Haruechaiyasak, C., Pailai, J., & Kongyoung, S. (2014). The Role of Social Media During a Natural Disaster: A Case Study of the 2011 Thai Flood. International Journal of Innovation and Technology Management11. https://doi.org/10.1142/S0219877014400124

Lee, E. H., & Kim, J. H. (2017). Development of Resilience Index Based on Flooding Damage in Urban Areas. Water9(6), 428. https://doi.org/10.3390/w9060428

Lu, D., & Flavelle, C. (2019, October 29). Rising Seas Will Erase More Cities by 2050, New Research Shows. The New York Times. Retrieved from https://www.nytimes.com/interactive/2019/10/29/climate/coastal-cities-underwater.html

Palen, L., & Hughes, A. L. (2018). Social Media in Disaster Communication. In H. Rodríguez, W. Donner, & J. E. Trainor (Eds.), Handbook of Disaster Research(pp. 497–518). Cham: Springer International Publishing. https://doi.org/10.1007/978-3-319-63254-4_24

Pelling, M. (2010). Adaptation to Climate Change: From Resilience to Transformation. Routledge.

Promchertchoo, P. (2017). ASIA’S FUTURE CITIES: Can Bangkok turn back the rising tide and stop sinking? Retrieved October 4, 2021, from CNA website: https://www.channelnewsasia.com/asia/asias-future-cities-can-bangkok-turn-back-rising-tide-and-stop-sinking-1021116

Sophonpanich, W. S. (2012). Flooding in Thailand: Flee, fight or float: Forced Migration Review. Oxford: University of Oxford. Retrieved from https://www.fmreview.org/preventing/sophonpanich

UN. (2018). Early Warning Systems. UN-SPIDER Knowledge Portal. Retrieved from https://www.un-spider.org/risks-and-disasters/early-warning-systems#no-back

World Bank. (2013). Bangkok post 2011 floods: How about the poor? Retrieved October 4, 2021, from https://blogs.worldbank.org/sustainablecities/bangkok-post-2011-floods-how-about-poor

World Bank. (2015). Thailand’s Flood Victims on Track to Recovery and Resilience [Text/HTML]. Retrieved October 4, 2021, from World Bank website: https://www.worldbank.org/en/news/feature/2015/09/21/thailand-flood-victims-on-track-to-recovery

ผู้จัดการออนไลน์. (2564). ชาวบ้านบางบาลรวมตัวร้องให้เปิดประตูระบายน้ำบางกุ้งเพิ่ม น้ำท่วมหนักจนล้นทะลักคันดินพัง. ผู้จัดการออนไลน์. Retrieved from https://mgronline.com/local/detail/9640000097927

Author

Exit mobile version