1 ใน 4 ของผู้ใหญ่ และ 4 ใน 5 ของวัยรุ่นคนหนุ่มสาวไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างเพียงพอ แต่โลกจะสามารถป้องกันการตายของประชากรได้ถึง 5 ล้านชีวิตต่อปี หากสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างคล่องแคล่ว – ขยับตัวอยู่เสมอ โดยอันดับแรกจะต้องคำนึงว่าในสภาพความเป็นจริงนั้น ประชากรจำนวนมากยังอาศัยอยู่ในชุมชน/ประเทศที่ไม่มีพื้นที่หรือมีพื้นที่สำหรับการเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน และออกกำลังกายที่ยังน้อยอยู่ หรือประชากรไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ที่ว่านั้นได้
สัปดาห์ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงเรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม อาทิ ในด้านสุขภาพ กีฬา การศึกษา และการขนส่ง ร่วมกันออกแบบโครงการและการให้บริการอย่างบูรณาการ ที่จะส่งเสริมการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเคลื่อนไหวร่างกายได้บ่อยครั้งขึ้น ปลอดภัย ครอบคลุมคนทุกช่วงวัย รวมถึงผู้พิการ
เอกสาร Fair Play: Building a strong physical activity system for more active people แนะนำการดำเนินการเอาไว้ 3 ข้อสำคัญ ดังนี้
- หุ้นส่วนการพัฒนาระหว่างภาคส่วนที่จะออกแบบโครงการ การบริการ และสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วม หรือสามารถ “แอกทีฟ” ได้
- โครงสร้างธรรมาภิบาลที่เข้มแข็งและกฎระเบียบที่เอื้อให้เกิดข้อ 1.
- กลไกการระดมเงินทุนที่กว้างขึ้น ลึกขึ้น และสร้างสรรค์ เพื่อสร้างระบบเงินทุนที่ยั่งยืนสำหรับการสนับสนุนการเคลื่อนไหวร่างกาย (physical activity) และการกีฬาสำหรับเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้พิการ
และเพื่อให้เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการว่าด้วยการเคลื่อนไหวร่างกาย 2561 – 2573 ขององค์การอนามัยโลก (WHO’s Global Action Plan on Physical Activity for 2018 – 2030) และบรรลุเป้าหมายการเคลื่อนไหวร่างกายให้เพิ่มมากขึ้น 15% ภายในปี 2573 ประชาคมโลกจะต้องจัดการกับอุปสรรคสำคัญ ได้แก่
- การใช้ทรัพยากรอย่างไม่เพียงพอและไม่มีประสิทธิภาพ
- นโยบาย กฎหมาย และกรอบระเบียบที่ไม่เพียงพอ
- การถ่ายนโยบายสู่การปฏิบัติ การปฏิบัติการ และความเป็นหุ้นส่วน ที่แยกส่วนกันทำ
WHO แนะนำต่อไปว่า ผู้ใหญ่ควรจะออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 150 – 300 นาทีต่อสัปดาห์ ในลักษณะที่เป็นกิจกรรมแอโรบิคขั้นกลาง และโดยเฉลี่ย 60 นาทีต่อวันสำหรับเด็กและวัยรุ่น
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้องที่
– เพียงเพราะ ‘ไม่ได้ขยับร่างกาย’ ก็ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อแล้ว
– เทรนด์การออกกำลังกายชี้ 58% ของประชาชนใน 29 ประเทศต้องการออกกำลังกายมากขึ้น แต่อุปสรรคแรกคือไม่มีเวลา
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อ การป้องกัน การรักษาโรค และส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี
#SDG11 เมืองที่ยั่งยืน
-(11.7) จัดให้มีการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ (public spaces) และพื้นที่สีเขียว (green spaces) ที่ปลอดภัยครอบคลุมและเข้าถึงได้โดยถ้วนหน้า โดยเฉพาะผู้หญิง เด็ก คนชรา และผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย ภายในปี 2573
แหล่งที่มา:
WHO calls for better and fairer opportunities for physical activity to improve health (WHO)