งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Urban Sustainability ระบุว่าเมืองที่มีที่อยู่อาศัยแนวราบ (low-rise) และที่มีความหนาแน่นสูง (high-density) เป็นรูปแบบเมืองที่มีความยั่งยืนมากที่สุด เมื่อพิจารณาระดับปริมาณก๊าซเรือนกระจกปล่อยออกมาจากเมืองประเภทอื่น ๆ
นักวิทยาศาสตร์ทำการเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวงจรชีวิต (Life-cycle GHG) ของอาคารในรูปแบบที่อยู่อาศัยของเมือง 4 รูปแบบ ได้แก่
- เมืองที่มีที่อยู่อาศัยในแนวดิ่งและมีความหนาแน่นสูง (high-rise, high-density) เช่น แมนฮัตตัน สหรัฐอเมริกา
- เมืองที่มีที่อยู่อาศัยในแนวราบและมีความหนาแน่นสูง (low-rise, high-density) เช่น ปารีส ฝรั่งเศส
- เมืองที่มีที่อยู่อาศัยในแนวดิ่งและมีความหนาแน่นต่ำ (high-rise, low-density) เช่น บราซีเลีย โปรตุเกส และ
- เมืองที่มีที่อยู่อาศัยในแนวราบและมีความหนาแน่นต่ำ (low-rise, low-density) เช่น พื้นที่ชานเมือง
สรุปได้ว่า เมืองที่มีอาคารสูงและมีความหนาแน่นสูงเพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 154% เมื่อเทียบกับเมืองแนวราบที่มีความหนาแน่นสูง ในขณะที่เมืองที่มีที่อยู่อาศัยที่มีความหนาแน่นต่ำที่ต้องการใช้ที่ดินมากกว่าถึง 142% ดังนั้น การเพิ่มความหนาแน่นของเมืองโดยไม่เพิ่มความสูงของเมืองจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวงจรชีวิต และเพิ่มความจุของประชากรในอัตราสูงสุดได้ด้วย
การใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุดเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน จึงมีความเชื่อว่าการสร้างที่อยู่อาศัยขึ้นไปในแนวดิ่งและหนาแน่นมากเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า อย่างไรก็ตาม การออกแบบสิ่งแวดล้อมในเมืองมักมองข้ามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวงจรชีวิตและคำนึงถึงการใช้พลังงานในการดำเนินงานอาคารเป็นหลัก (เช่น ระบบทำความร้อน ระบบแสงสว่าง) ซึ่งมีประสิทธิภาพขึ้นเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา แต่ไม่ได้รวมถึงพลังงานที่ใช้และมลพิษที่เกิดขึ้นระหว่างการจัดหาวัตถุดิบ การผลิตส่วนประกอบอาคาร การก่อสร้างและการทำลายโครงสร้างอาคาร และการขนส่งข้ามพื้นที่ระหว่างแต่ละเฟสของการก่อสร้างอาคารเข้าไปด้วย
ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
- (11.3) ยกระดับการพัฒนาเมืองและขีดความสามารถให้ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อการวางแผนและการบริหารจัดการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างมีส่วนร่วม บูรณาการและยั่งยืนในทุกประเทศ ภายในปี 2573
- (11.B) ภายในปี 2563 เพิ่มจำนวนเมืองและกระบวนการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่เลือกใช้และดำเนินการตามนโยบายและแผนที่บูรณาการเพื่อนำไปสู่ความครอบคลุม ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร การลดผลกระทบ และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีภูมิต้านทานต่อภัยพิบัติและให้พัฒนาและดำเนินการตามการบริหารความเสี่ยงจากภัยพิบัติแบบองค์รวมในทุกระดับ โดยเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยง
จากภัยพิบัติพ.ศ. 2558 – 2573
ที่มา : Paris or Manhattan: Which type of city is best for reducing emissions? (WEForum)